ครม.ไฟเขียว เว้นภาษีแวตสำหรับการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล หวังดูดเงินลงทุนกลับไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65 ถึง 31 ธ.ค.66

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และร่างกฎกระทรวง โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สำหรับการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) หรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือซีบีดีซี ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.66 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายคริปโต และให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีด้วยรวมทั้ง ยังยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโต หรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะ ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนเป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโต หรือโทเคนดิจิทัลในปีภาษีเดียวกัน มีผลย้อนตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2561 เป็นต้นไป โดยคำนวณจากกำไรแล้วลบด้วยขาดทุนเหลือจำนวนเงินเท่าใดจึงนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะทำให้เงินภาษีที่จะต้องจ่ายลดลง

ทั้งนี้ ปัจจุบันการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีปริมาณและความถี่มาก ซึ่งได้มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉ.19) พ.ศ.2561 กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์จากการถือโทเคนดิจิทัลและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโต หรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนให้เป็นเงินได้พึงประเมินต้องเสียภาษีเงินได้และให้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายของเงินได้พึงประเมินในอัตรา 15% และการโอนคริปโต หรือโทเคนดิจิทัลจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ ด้วยการยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ สำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นการลงทุนผ่านเวนเจอร์แคปิตอล โดยผู้ลงทุนจะต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือนก่อนการขายหุ้น เป็นเวลา 10 ปี นับจากวันประกาศในราชกิจจา นุเบกษาจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2575 โดยสตาร์ตอัพที่จะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีดังกล่าว จะต้องลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และผ่านการรับรองการเป็นสตาร์ตอัพจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เป็นต้น

“การยกเว้นภาษีดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงสตาร์ตอัพไทยที่ไปลงทุนในต่างชาติให้กลับมาลงทุนในประเทศไทย และดึงสตาร์ตอัพต่างชาติมาลงทุนในไทย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งสภาดิจิทัลได้คาดการณ์ว่า มาตรการยกเว้นภาษีนั้น จะทำให้ภายในปี 2569 จะมีเงินทุนในสตาร์ตอัพไทยเพิ่มขึ้น 320,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดจ้างงานทั้งทางตรงทางอ้อม 400,000 ตำแหน่ง ก่อให้เกิดสตาร์ตอัพรายใหม่ 10,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท”.