คำถามคาใจ! ความช่วยเหลือทางทหารเข้าถึงยูเครนได้อย่างไร? เหตุใดกองทัพอากาศยูเครนไม่โจมตีขบวนรถทหารรัสเซีย

เหตุสู้รบจากการรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย ดำเนินต่อเนื่องมานานร่วมสิบวันแล้ว ทำให้มีคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องเชิงยุทธศาสตร์ รวมทั้งผลกระทบทางมนุษยธรรมและภัยนิวเคลียร์ ซึ่งได้หาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญและผู้สื่อข่าวมากประสบการณ์มานำเสนอดังต่อไปนี้

ความช่วยเหลือทางทหารเข้าถึงยูเครนได้อย่างไร เหตุใดกองทัพอากาศยูเครนไม่โจมตีขบวนรถทหารรัสเซีย

แฟรงก์ การ์ดเนอร์ บรรณาธิการข่าวความมั่นคงของบีบีซีตอบคำถามนี้ว่า ชายแดนทางตะวันตกของยูเครนที่ติดกับโปแลนด์และชาติพันธมิตรนาโตอื่น ๆ ยังคงไม่ตกไปอยู่ในมือของกองทัพรัสเซียเหมือนกับชายแดนทางเหนือ ใต้ และตะวันออก ทำให้ยังพอมีช่องทางในการส่งความช่วยเหลือเพื่อการป้องกันประเทศยูเครนได้

อย่างไรก็ตาม ชายฝั่งทางตอนใต้ที่ติดกับทะเลดำในตอนนี้ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย จึงไม่ปลอดภัยต่อการขนส่งสินค้าตามเมืองท่าเหล่านี้มากนัก ความคืบหน้าล่าสุดชี้ว่า หากเมืองโอเดซาถูกรัสเซียยึดครองได้อีกแห่งหนึ่ง ยูเครนก็จะไม่มีทางออกสู่ทะเลดำเหลืออีกเลย

ส่วนที่หลายคนสงสัยว่า เหตุใดกองทัพอากาศของยูเครนจึงไม่ทำอะไรเลยกับขบวนรถถังและรถหุ้มเกราะของรัสเซียยาว 64 กิโลเมตร ซึ่งกำลังมุ่งหน้ามายังกรุงเคียฟ ทั้งที่ขบวนรถนี้น่าจะเป็นเป้านิ่งให้โจมตีทางอากาศได้อย่างง่ายดาย

ผู้สื่อข่าวบีบีซีมองว่า ทัพฟ้ายูเครนอาจกำลังขาดแคลนโดรนและเครื่องบินรบ หรืออาจมีความกังวลว่ากองทัพอากาศขนาดเล็กของตนจะถูกเครื่องบินรบและขีปนาวุธป้องกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซียยิงตก

เบ็น บาร์รี นักวิเคราะห์จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ (IISS) ของสหราชอาณาจักรแนะนำว่า จะเป็นการดีกว่าหากยูเครนสงวนรักษาทรัพยากรที่มีอยู่เอาไว้ก่อน เพื่อใช้ในการตั้งรับและตอบโต้ เมื่อขบวนทัพหลักของรัสเซียเข้าประชิดกรุงเคียฟจริง ๆ

Beach defences being prepared in the southern Ukrainian port of Odessa, ahead of a feared coastal attack by Russia

สิ่งที่จะทำให้ชาติตะวันตกตัดสินใจเข้าร่วมสงครามคืออะไร

การ์ดเนอร์ตอบคำถามนี้ว่า เหตุผลเดียวที่เป็นไปได้ซึ่งชาติตะวันตกได้ชี้แจงเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ก็คือหลักการที่ว่าจะเข้าร่วมรบก็ต่อเมื่อรัสเซียลงมือโจมตีชาติสมาชิกนาโตก่อน ยูเครนนั้นยังไม่ใช่สมาชิกของนาโต แต่โปแลนด์และประเทศแถบชายฝั่งทะเลบอลติกอื่น ๆ เข้าเป็นสมาชิกแล้ว นาโตจึงเสริมกำลังทหารในประเทศเหล่านั้นเพื่อเตรียมรับผลกระทบจากการสู้รบในยูเครน

อย่างไรก็ตาม บรรดาชาติตะวันตกได้ช่วยส่งอาวุธยุทโธปกรณ์แบบที่ใช้ป้องกันตัวไปให้กับยูเครน เช่นขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานและขีปนาวุธทำลายรถถัง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นาโตก็ยังไม่ยอมประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครนตามที่มีการร้องขอ เพราะอาจจะต้องมีการยิงเครื่องบินของรัสเซีย ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดฉากทำสงครามกับรัสเซียได้

นาโตมีแผนยุทธศาสตร์อะไรที่ใช้รับมือรัสเซีย หากมีการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก

การ์ดเนอร์มองว่านอกจากการกล่าวประณามรัสเซียแล้ว แทบไม่มีสิ่งใดที่ชาติตะวันตกสามารถจะทำได้อีก เพราะวิธีใช้กำลังทหารแทรกแซงเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือขีดความสามารถของนาโตในขณะนี้

แม้แผนการของรัสเซียคือมุ่งยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ของยูเครน เพื่อตัดกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ แต่รัสเซียคงไม่มีเจตนาจะทำลายเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าดังกล่าว เพราะกัมมันตภาพรังสีจะรั่วไหลปนเปื้อนเข้าไปในเขตแดนของรัสเซียด้วย ดังนั้นในคราวต่อไปกองกำลังรัสเซียน่าจะระมัดระวังมากขึ้นและไม่มุ่งเป้าโจมตีสถานที่ทางนิวเคลียร์โดยตรง

เราควรต้องกังวลแค่ไหนกับหายนะภัยทางนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น

ศาสตราจารย์ แคลร์ คอร์กฮิลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุนิวเคลียร์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ของสหราชอาณาจักร ตอบคำถามนี้ว่า เหตุเพลิงไหม้เมื่อวาน (4 มี.ค.) ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชียซึ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปนั้น ไม่มีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา เนื่องจากเตาปฏิกรณ์นั้นถูกปิดการทำงานอยู่

Zaporizhzhia nuclear power plant was hit by repeated shelling in the early hours of Friday

ตามปกติแล้วหากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระบบควบคุมเพลิงอัตโนมัติจะสามารถดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะไม่ซ้ำรอยเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อหลายสิบปีก่อน เพราะเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้ายุคใหม่ในยูเครนไม่ใช่กราไฟต์ จึงไม่ติดไฟลุกไหม้เป็นเวลานานจนกัมมันตภาพรังสีแพร่กระจายไปทั่วยุโรป

แต่หากมีการสู้รบในบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนทำให้ระบบควบคุมต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดหายนะภัยที่ร้ายแรงขึ้นได้ อย่างเช่นการระเบิดที่เกิดจากแกนเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์หลอมละลาย สามารถเกิดขึ้นได้เพราะระบบจ่ายไฟฟ้าขัดข้องจนเตาปฏิกรณ์มีความร้อนสูง เหมือนกับอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่น

ชีวิตของผู้คนในกรุงเคียฟตอนนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง

เจมส์ วอเทอร์เฮาส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่อยู่ในกรุงเคียฟของยูเครนขณะนี้บอกว่า นอกจากต้องเคลื่อนย้ายตัวเองเข้าออกสถานที่หลบภัยวันละหลายรอบแล้ว สิ่งอื่น ๆ ดูจะยังคงเป็นปกติเสียส่วนใหญ่เหมือนกับช่วงก่อนการโจมตีของรัสเซีย

ในเมืองยังคงมีอาหารสดและยาจำหน่าย แต่ดูเหมือนว่าของที่ร้านค้าเก็บตุนไว้จะมีน้อยลงทุกที ทีมข่าวสามารถเดินทางไปได้ทุกแห่ง แต่ตามท้องถนนไม่ค่อยมีผู้คนพลุกพล่านเหมือนเมื่อก่อน และมีจุดตรวจของทหารตั้งขึ้นในหลายที่ อย่างไรก็ตาม คนที่หลบภัยในสถานีรถไฟใต้ดินจะไม่มีน้ำใช้และไม่มีอาหารปันส่วนให้ขณะที่อยู่ในนั้น

A woman reads a book as she sits in an underground metro station used as bomb shelter in Kyiv on March 2, 2022

บางคนอาจสงสัยว่า หากกรุงเคียฟถูกปิดล้อมจากทุกด้านเข้าจริง ๆ จะสามารถส่งเสบียงอาหารและเครื่องกระสุนต่าง ๆ ให้กับคนในเมืองทางอากาศ แบบเดียวกับที่สหรัฐฯและสหราชอาณาจักรทำเมื่อครั้งกองทัพรัสเซียปิดล้อมกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เมื่อปี 1948-1949 ได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวของบีบีซีมองว่า ทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุดในตอนนี้คือการเปิดระเบียงทางมนุษยธรรม (humanitarian corridor) เพื่อจัดเส้นทางปลอดภัยให้พลเรือนอพยพออกจากเมืองระหว่างการหยุดยิง หรือเปิดช่องทางนำสิ่งของจำเป็นอย่างอาหารและยาที่ขาดแคลนเข้าไปให้คนในเมืองได้