“จีน” พัฒนาระบบ “AI” ช่วยเหลือ “อัยการรัฐ” แยกแยะคดีอาชญากรรม ถูกต้องแม่นยำสูงถึง 97%

หนังสือพิมพ์เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ แห่งฮ่องกงรายงานว่า ประเทศจีนได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) เพื่อช่วยเหลือการทำงานของอัยการรัฐ โดยสามารถแยกแยะว่าการกระทำแบบไหนคืออาชญากรรม รวมทั้งช่วยทำสำนวนยื่นฟ้องได้ โดยมีความถูกต้องแม่นยำสูงถึง 97%

ระบบ AI นี้ถูกพัฒนาขึ้นและใช้งานที่สำนักอัยการในเขตผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้ โดยสำนักงานได้นำระบบดังกล่าวนำมา “ฝึกฝน” การตัดสินใจและแยกประเภทอาชญากรรทั่วไปที่พบเห็นได้สูงสุด 8 ประเภท

ระบบนี้ได้รับการพัฒนาขึ้น นำทีมโดยศาสตราจารย์ฉื่อหยง ผู้อำนวยการห้องทดลองการบริหารจัดการความรู้และบิ๊กดาต้าของสมาคมวิทยาศาสตร์ชาติจีน โดยต่อยอดมาจากระบบ AI ที่มีอยู่แล้วซึ่งมีชื่อว่า System 206 ซึ่งยังไม่สามารถระบุหรือตัดข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากคดีได้ หรือทำงานด้วยภาษามนุษย์

สำหรับระบบใหม่นี้ก็ยังไม่สามารถตัดสินโทษหรือทำสำนวนยื่นฟ้องได้โดยไม่ต้องมีมนุษย์คอยช่วย รวมทั้งให้แนวทางการระบุข้อหาหรือความผิด แต่ก็ถูกนำมาใช้งานในลักษณะของการช่วยคัดแยกหลักฐานหรือระบุว่ามีอาชญากรรมที่เป็นอันตรายต่อสาธารณชนหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิจัยเชื่อว่าระบบสามารถทำงานแทนอัยการได้ในระดับหนึ่ง ขณะนี้ระบบ AI สามารถระบุความผิดและตั้งข้อหาได้ในคดีเกี่ยวกับการปลอมแปลงบัตรเครดิต, การเล่นพนัน, ขับขี่ยานพาหนะโดยประมาท, ขโมย, ปลอมแปลง, ทำร้ายร่างกาย, ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และการแสดงออกเพื่อคัดค้านทางการเมือง

มีการใช้ระบบ system 206 ทำงานในคดีต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2559 แต่มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ตัดสินใจดำเนินการใด ๆ กระบวนการเรียนรู้ถูกนำมาประยุกต์เข้าไปในระบบ AI ตัวใหม่ ซึ่งรวมถึงความสามารถในการแยกแยะข้อมูลและระบุว่าข้อมูลใดที่เกี่ยวข้องกับคดี ทำให้มันสามารถตัดสินใจในจุดที่ System 206 ทำไม่ได้

ถึงแม้ว่าการทำงานของระบบ AI นี้จะมีความถูกต้องถึง 97% แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ ซึ่งเป็นจุดที่นักกฎหมายบางคนเกิดความกังวล 

ทีมพัฒนากล่าวว่าระบบ AI นี้จะถูกนำมาใช้เพื่อลดภาระการทำงานของอัยการ แต่ยังไม่ได้มีการเปิดใช้ในวงกว้าง ระบบจะเรียนรู้จากการรับข้อมูลจากคดีต่าง ๆ จากทั่วโลก และสามารถใช้ข้อมูลจำนวนนับล้านที่มีอยู่ในระบบเพื่อทำการวิเคราะห์ กระนั้น ก็ยังมีความกังวลว่า ระบบ AI จะสามารถแทนที่การตัดสินใจของมนุษย์ได้ดีแค่ไหน 

ที่มาเลเซียก็มีการใช้ระบบ AI เพื่อกำหนดบทลงโทษในศาล แต่ก็มีผู้วิจารณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพของระบบ AI นั้นขึ้นอยู่กับการป้อนข้อมูลว่าทำได้ในระดับไหน นอกจากนี้ยังพบว่าระบบสามารถพัฒนาจนเกิดความลำเอียงได้ หากได้รับข้อมูลไม่รอบด้าน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการบังคับใช้กฎหมาย ดังที่เคยมีการพิสูจน์มาแล้วว่า ระบบ AI ที่ใช้พิจารณาความเสี่ยงด้านสินทรัพย์ในรัฐวิสคอนซิน นั้น พัฒนาการวิเคราะห์จากข้อมูลจนเกิดความลำเอียงตามสีผิวของลูกค้า

แหล่งข่าว 

เครดิตภาพ : Getty Images