ดร.ต้นสน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง! แชร์ข้อคิด หลังป่วยโควิด ทั้งครอบครัว

ดร.ต้นสน “สันติธาร เสถียรไทย” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง แชร์ข้อคิดเบื้องต้น หลังป่วยโควิด-19 ทั้งครอบครัว บอกอาการแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นประมาทไม่ได้

ดร.สันติธาร เสถียรไทย หรือ ดร.ต้นสน สมญานาม “นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย” ลูกชายของ ของ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แชร์ข้อคิดเบื้องต้นจากการป่วยเป็นโควิด-19 ทั้งบ้าน (โอมิครอน) ผ่านเฟซบุ๊ก “สันติธาร เสถียรไทย – Dr Santitarn Sathirathai” โดยแยกเป็นข้อๆ ดังนี้

1. ติดง่ายมากแม้จะฉีดวัคซีนครบแล้ว

ผมและภรรยาติดโควิดจากลูกสองคน (4 และ 6 ขวบ) ซึ่งติดโควิดจากแม่บ้านอีกที ซึ่งไม่ชัดว่าติดจากในเครื่องบินตอนเดินทาง หรือติดตอนออกไปตรวจโควิดที่ศูนย์อนามัยตอนกลับมาสิงคโปร์แล้ว (สิงคโปร์ให้ตรวจ ATK ทุกวัน ที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน และสองครั้งในนั้นต้องเข้าไปตรวจที่ศูนย์หลังจากกลับจากต่างประเทศ)

แม้เด็กจะยังไม่ได้รับวัคซีนแต่ผู้ใหญ่ทุกคน (รวมทั้งพี่เลี้ยงที่ติดคนแรก) ฉีดวัคซีน mRNA ครบ 2 เข็ม ไม่ Pfizer ก็ Moderna และยังไม่ถึง 6 เดือนดีจากครั้งสุดท้ายที่ฉีด

ตัวผมและภรรยาที่ติด เพราะต้องดูแลลูกทั้งสองคน ไม่มีทางเลือก จึงเข้าใจได้ว่าวัคซีนอะไรก็คงเอาไม่อยู่หากอยู่ใกล้ชิดกับคนป่วยตลอดเวลา โดนลูกไอจามใส่ตลอด แต่ในกรณีแม่บ้าน เท่าที่คิดย้อนไปแทบไม่ค่อยได้มี exposure หรือการเสี่ยงต่อการติดเชื้อเท่าไรเลย จึงยังค่อนข้างแปลกใจว่ารับเชื้อมาได้ไงเร็วมาก

การฉีดวัคซีน booster น่าจะสำคัญมากๆ รีบฉีดนะ อย่ารอโดยเฉพาะคนมีโรคประจำตัว

2. อย่าพึ่งการตรวจ ATK มากไป

จากประสบการณ์ครั้งนี้พบว่าในช่วงแรกๆ ที่ติดเชื้อและแม้แต่มีอาการบ้างแล้ว การตรวจ ATK อาจจะยังไม่ออกมาเป็นบวก เกือบทุกคนในบ้านผมทั้งเด็กและผู้ใหญ่เจอประสบการณ์นี้ แม้จะใช้ยี่ห้อหลายแบบ ATK ในกรณีลูกแม้แต่มีไข้สูงแล้วก็ยังไม่เป็นบวกจนวันต่อมา

ดังนั้น การจะบอกได้ว่าคนคนหนึ่งติดโควิดแล้วหรือยัง ด้วยการตรวจ ATK อาจต้องทำหลายวันต่อเนื่อง และเราไม่ควรเชื่อผลลบของ ATK มากไป ต้องมีมาตรการป้องกันการติดเชื้ออื่นๆ ด้วย

3. หากมีเด็กเล็ก (หรือคนที่ต้องการการดูแล) ควรวางแผนเผื่อไว้หากบางคนติด บางคนไม่ติด

ในสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะให้รักษาตัวที่บ้านตามอาการ ไม่ได้ไปนอนโรงพยาบาลนอกจากจะอาการหนักจริงๆ เราทุกคนจึงอยู่บ้านตลอด ดังนั้น ข้อนี้อาจไม่ค่อยเกี่ยวกับคนที่รักษาตัวที่ รพ.

ความยากในช่วงต้นของการรักษาตัวที่บ้าน คือ ลูกคนโตและแม่บ้านติดเชื้อแต่ลูกคนเล็กยังไม่ติด แต่เราทุกคนอยู่ในคอนโดเดียวกัน และพี่น้องปกติตัวติดกันมากอยู่ด้วยกันตลอด จึงยากมากที่จะแยกเขาออกจากกัน

ช่วงแรกเราพยายามแบ่งเป็นคู่ ภรรยาอยู่กับคนเล็กที่ไม่ป่วย และผมอยู่กับคนโตที่ติด (เพราะคนเล็กค่อนข้างติดแม่) และให้ลูกเจอกันใน Metaverse ผ่านเกมออนไลน์

ซึ่งยากมาก เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตไม่ได้ดีไซน์มาแบบนั้น และพี่น้องคิดถึงกันมาก แม้จะเข้าใจเหตุผลแต่ใจเขาก็ยังเผลอตลอด นอกจากนี้ แม่เค้าก็เครียดเพราะอยากดูแลลูกที่ป่วยด้วยตัวเอง แต่ต้องห่างเพื่อให้ลูกคนเล็กไม่ติด

สุดท้ายไม่เวิร์ก เพราะพอลูกป่วยไข้สูง พ่อไร้ความสามารถในการดูแล ต้องแม่เท่านั้น ไปๆ มาๆ เลยแยกไม่ค่อยสำเร็จ และทั้งคู่ก็ติดเชื้ออยู่ดี

บทเรียนคืออาจต้องวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำ scenario ว่า ถ้าคนนี้ป่วยคนนั้นไม่ป่วยจะทำไง และจะทำได้จริงมั้ย

4. เตรียมพร้อมว่า “ไม่มีคำตอบสุดท้าย” สถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา

วิธีรับมือวันแรกๆ จะไม่เหมือนแผนวันหลังๆ ของการติดเชื้อในบ้าน เพราะคนติดเชื้อจะมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่เคยแข็งแรงจะกลายเป็นคนป่วย และคนที่เคยป่วยอาจเริ่มหาย ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมสลับฟังก์ชั่นระหว่างแต่ละคนในครอบครัวกันดีๆ

นอกจากนี้ โรคนี้ยังเปลี่ยนเร็วมาก จากดูเหมือนไม่มีอาการๆ ภายในไม่กี่ชั่วโมงอาจกลายเป็นหนักมากขึ้นมา จึงต้องมีการเตรียมรับมือดีๆ

เช่น ผมทำงานเบาๆ ไปด้วยในช่วงรักษาตัวไปด้วย วันนึงอาการอาจเป็นเพลียมากจนประชุมออนไลน์ไม่ไหว อีกวันอาจเจ็บคอจนพูดไม่ได้ แต่พอทำงานอื่นได้

5. เด็กกับผู้ใหญ่เหมือนเป็นคนละโรคกัน

แม้จะเป็นเชื้อเดียวกันแต่อาการของเด็กกับผู้ใหญ่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ของลูกผมทั้งสองคนแทบไม่มีอาการอะไรเลย นอกจากไข้สูงทะลุ 40 เป็นช่วงๆ ต้องให้ยา เช็ดตัวแล้วก็ลง นอกนั้นแทบดูไม่รู้ว่าป่วย และพลังของลูกชายสองคนนี้ไม่มีตกเลย ทั้งสองคนไม่ได้รับยาอะไรนอกจากรักษาตามอาการ

ของผู้ใหญ่จะมีอะไรคล้ายๆ กัน มีไข้ ปวดหัว เจ็บคอ เพลียมากๆๆ เหนื่อยง่ายแม้ในช่วงฟื้นตัว (และอาการไม่ได้เบาขนาดที่หลายคนคิดนะครับ)

ใครมีลูกให้นึกภาพเราหมดแรงในวันที่ลูกพลังเหลือมากๆ

ป.ล. ทั้งนี้อาการแต่ละคนคงไม่เหมือนกันนะ อย่าเอาที่เขียนนี้ไปทำให้ประมาทว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่เป็นไรมากเพราะคงเป็นแล้วแต่เคสจริงๆ แค่จะบอกว่าผู้ใหญ่-เด็กอาการต่างกันมากจากประสบการณ์ตนเอง

ทั้งหมดนี้เป็นข้อคิดเบื้องต้นนะครับ เพราะผมก็ยังไม่หายแต่ลูกๆ ดีขึ้นแล้ว อยากแชร์เรื่องเหล่านี้เผื่อจะมีประโยชน์กับบางครอบครัวครับ เพราะเชื่อว่า wave นี้คงมีคนติดเยอะทีเดียว.

ที่มาจาก เฟซบุ๊ก สันติธาร เสถียรไทย – Dr Santitarn Sathirathai