“ประกันรายได้ข้าว” งวดที่ 23 มาแล้ว! นัดโอนเงินเข้าบัญชี 22 มี.ค. เช็กส่วนต่างชดเชยรายได้ที่นี่!!!

ประกันรายได้ข้าว งวดที่ 23 มาแล้ว นัดโอนเงินเข้าบัญชี 22 มี.ค. เช็กส่วนต่างชดเชยรายได้ที่นี่

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) โดยสัปดาห์นี้เป็นการประกาศราคางวดที่ 23 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 11 – 17 มีนาคม 2566 ปรากฏว่า

ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 13,612.20 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 387.80 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 6,204.80 บาท

ข้าวเปลือกปทุมธานี มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 10,914.64 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 85.36 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 2,134.00 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 9,918.67 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 81.33 บาท
ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 2,439.90 บาท

สำหรับข้าวเปลือกเหนียว มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 12,190.67 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาประกัน จึงไม่มีส่วนต่างชดเชยในงวดนี้

ข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว

โดยจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์งวดที่ 23 ในวันที่ 22 มีนาคม 2566

ผู้แทนสมาคมโรงสีข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ข้าวนาปรังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด และจะออกสู่ตลาดมากในช่วงต้นเดือนเมษายน 2566 ส่งผลให้ข้าวเจ้าราคาอ่อนตัวลงเล็กน้อย และสมาคมค้าข้าวไทย
ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้าวเจ้าเป็นข้าวที่มีการซื้อขายกันในตลาดมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคามีการ
ปรับขึ้นลงในกรอบแคบๆ ตามความต้องการของตลาด ซึ่งยังคงมีความต้องการจากผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์การส่งออก ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศให้ข้อมูลว่า ในปีนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยปริมาณการส่งออกถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566 สามารถส่งออกข้าวได้แล้วกว่า 1.69 ล้านตัน เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทดีขึ้น ทำให้สามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอินเดีย ที่เริ่มมีนโยบายให้เก็บข้าวไว้บริโภคภายในประเทศ ทำให้การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งออกได้มากกว่าปีที่ผ่านมา อาจจะได้ถึง 8 ล้านตัน โดยประมาณ

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยต่อไปว่า ในงวดที่ 1 – 22 ที่ผ่านมา
มีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้วกว่า 2.622 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,858.91 ล้านบาท และ
การช่วยเหลือไร่ละพันบาท เกษตรกรได้รับเงินแล้วกว่า 4.640 ล้านครัวเรือน วงเงิน 53,990.75 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์แต่ยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ ติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อให้ ธ.ก.ส. ตรวจสอบต่อไป

ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ได้เพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่า
ท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใดๆ ที่เป็นการ
เอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569