“มาดามเดียร์” สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ป้ายแดง เปิดปากก่อนมาคนแย้งเยอะ เคยลังเลกับฝั่ง “สมคิด” รับก้าวไกลมีมาคุย

  • “ตอนเข้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งแรกรู้สึกตื้นเต้น เพราะไม่คุ้นเคย วันเปิดตัวจึงถือเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสเข้าไป เนื่องจากที่ผ่านมาแค่ขับรถผ่านเท่านั้น เมื่อตอนเดินทางไปทำงานที่อาคารรัฐสภา แต่พอได้เข้าไปพี่ๆ และทุกคนในพรรคก็ให้การต้อนรับที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นและน่ารัก” นี่คือคำบอกเล่าของ น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ “มาดามเดียร์” สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ป้ายแดง ที่เปิดเผยหลังจากเข้าเป็นสมาชิกพรรคสดๆ ร้อนๆ
  • หลังจากที่เข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เพียง 1 วัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้) หัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย ก็ควง “มาดามเดียร์” ลงพื้นที่ย่านบางกอกน้อยทันที โดย นายจุรินทร์ ยังให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากเปิดตัวไป กระแสตอบรับดีมาก จึงหวังว่าชาวกรุงเทพฯ และคนไทยทั้งประเทศจะชื่นชอบด้วย
  • ส่วนการทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ มีความชัดเจนแล้วว่า “มาดามเดียร์” จะเข้ามาเสริมทัพทีมกรุงเทพฯ ให้กับพรรค โดยเจ้าตัวสมัครใจขออยู่ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เรื่องงานในพรรคประชาธิปัตย์ คุยกันไว้อย่างไร

เรื่องงานต้องมาคุยกันอีกครั้ง ว่าจะทำอะไร และอยู่ตรงจุดไหน ซึ่งพี่องอาจ (นายองอาจ คล้ามไพบูลย์) ให้ตนเองกลับไปทำการบ้านก่อน คงได้มีโอกาสกลับไปพูดคุยกัน

ซึ่งส่วนตัวมีความถนัดในพื้นที่ กทม. เพราะเป็นคน กทม.เหมือนกัน จึงเข้าใจความรู้สึก ปัญหา ของคนในพื้นที่ที่เจอคล้ายๆกัน การมาช่วยดูพื้นที่ กทม. จึงไม่ใช่เรื่องที่หนักใจ แต่ต้องไปเรียนงานจากผู้ใหญ่อีกมาก ซึ่งปัญหาใน กทม. จะมีความเป็นอัตลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่องผังเมือง เพราะมีความเป็นชุมชน มีความหนาแน่น จึงจะแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้ คนใน กทม.น่าสงสารกว่า เมื่อเทียบกับต่างจังหวัด แม้จะไม่มีรายได้แต่ยังสามารถปลูกพืชประทังชีวิตได้ แต่หากเป็นคน กทม.หากรายได้ไม่เพียงพอ เขาเดือดร้อนจริงๆ

นำจุดแข็งจุดอ่อนของพรรคพลังประชารัฐ มาปรับใช้กับพรรคใหม่อย่างไร

ไม่ได้มองที่ตรงนั้น แต่หากพูดถึง กทม. ต้องกลับมาโฟกัสว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และประชาชนมีความต้องการอะไรบ้าง ซึ่งต้องให้น้ำหนักไปที่ประชาชนมากกว่า คงไม่ใช่เป็นประเด็นพรรคพลังประชารัฐ

การออกมาของตนเองยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นเพราะความขัดแย้งกับคนในพรรคพลังประชารัฐ แต่ถามว่าในทุกพรรค ทุกองค์กร ย่อมมีปัญหาการเมืองภายใน ที่เป็นเรื่องปกติ มันมีในทุกองค์กร ไม่ใช่แค่พรรคการเมือง

“ถ้าถามเดียร์มองว่าจุดนั้นไม่ได้เป็นปัญหา แต่อย่างที่บอกคือว่า แนวคิดอะไรหลายๆ อย่างกับตัวเราต่างหาก ที่อาจจะไม่ค่อยเหมือนกัน แล้วถ้าเกิดเราจะอยู่ เราก็คงจะกลับมาถามตัวเองว่า ถ้าเราเห็นต่างจากพรรค เราจะพิจารณาตัวเองว่าอย่างไร ถ้าเกิดเดียร์จะเห็นต่างจากพรรคบ่อยๆ มันคงเป็นเรื่องที่ไม่ดีสำหรับพรรคแน่นอนแล้วก็รวมถึงตัวเดียร์เอง ก็คงต้องเป็นเรื่องที่พิจารณาตัวเองมากกว่า”

พลังประชารัฐในวันนั้นกับวันนี้ถือว่าเปลี่ยนไปอย่างไร

วันแรกที่เข้าไปสมัคร (พรรคพลังประชารัฐ) ก็ยอมรับว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นได้ว่า ทีมที่ตนเองเข้าไปทำงานด้วยตอนเลือกตั้ง ทั้งตอนที่มีหัวหน้าพรรค อย่าง นายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค และตอนนั้นตนเองเข้าไปช่วยภาค กทม. ที่จะมีความคุ้นเคยกับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่ดูแลเป็นหลัก

พรรคสร้างอนาคตไทยมาทาบทามบ้างหรือไม่ หลังลาออก

จริงๆ แล้วมีการพูดคุยกันอยู่เนืองๆ อยู่แล้ว เพราะส่วนตัวก็ชื่นชม ทั้ง นายอุตตม และ นายสนธิรัตน์ รวมถึง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย เพราะตนเองชื่นชอบวิสัยทัศน์ ส่วนกับ นายพุทธิพงษ์ หลังจากเฟดตัวออกจากการเมือง ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกัน แต่มีส่งสิ่งของไปให้บ้างตามเทศกาล เพราะด้วยวาระที่ต่างกันไป ทำให้ไม่ได้เจอใคร ส่วนการตัดสินใจมาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการตัดสินใจมาด้วยตนเอง แต่อาจมีปรึกษากับทางครอบครัวบ้าง

“ก็ต้องยอมรับว่าตนเองก็มีภาพและความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมอาจารย์สมคิด มันก็มีหลายจุดที่ทำให้ในการตัดสินใจเลือก ยอมรับว่าก็ลังเล และตัดสินใจยาก พอเวลามันถึงจุดนั้น เดียร์ว่าทุกคนมันจะมี มันจะมีอยู่โมเมนต์ที่เราต้องมานั่งคิดว่า แล้วเราจะยึดหลักเกณฑ์อะไรในการตัดสินใจดี เพราะพอกลับมาคิดแล้ว จุดเริ่มต้นของการทำงานการเมือง ระบอบภายในพรรค ความเป็นสถาบันการเมือง มันเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ถ้าหากว่าเดียร์อยากจะทำงานการเมืองจริงๆ แต่พรรคไม่มีอิสระ ในการเอาข้อมูลมาอภิปรายหรือถกกัน หรือพูดง่ายๆ เหมือนคุณถูกชี้นิ้วสั่ง เดียร์คิดว่ามัน…. สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าจะทำงานการเมืองไปทำไม มันก็เลยถือเป็นเหตุผลว่า ประชาธิปัตย์ น่าจะเป็นสถาบันการเมืองที่มีความมั่นคง และน่าจะเป็นที่พึ่งในจุดยืนตรงนี้ให้เราได้”

กับนายพุทธิพงษ์ มีปรึกษาหรือไม่ ในฐานะที่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์

ไม่ได้ถามนายพุทธิพงษ์ แต่มีโอกาสพูดคุยกับอดีตสมาชิก แน่นอนว่าเราต้องหาข้อมูลเพื่อนำมาศึกษา ก็มีไปปรึกษาบ้าง ซึ่งก็มีความเห็นที่หลากหลายมาก โดยมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พยายามจะแย้งก็เยอะ แต่นั้นก็ถือเป็นเหตุผล

อะไรที่คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ให้อิสระมากกว่า

ต้องบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เวลามีมติใดๆ จะให้ ส.ส. เข้าไปถกเถียงกันจริงๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ และก็หวังว่าหากบ้างเรื่องเหนต่างจากผู้ใหญ่ แต่ตนเองมีเหตุผลที่ดีพอ ก็หวังว่าผู้ใหญ่และสมาชิกคนอื่นๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ จะเปิดโอกาสในการรับฟัง

ภาพลักษณ์ดูเป็นคนรุ่นใหม่ พรรคก้าวไกล มีมาทาบทามไหม?

มีมาพูดคุยแต่ไม่ถึงกับขั้นจีบ ก็เป็นการเจอกันในสภา และบ้างคนก็รู้จักกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ชวนไปอยู่เป็นการพูดคุยกันเรื่องงานตามปกติ เพราะมองว่าในพรรคก้าวไกลก็มีบุคลากรที่มีคุณภาพหลายคนอยู่แล้ว

เคยคิดบ้างไหม การย้ายเข้ามาพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้เป็นขาลง

หากมองในสายตาคนข้างนอกอาจจะมองแบบนั้น แต่ว่าตนเองไม่ได้มองกระแสของพรรคเป็นหลัก เพราะกระแสขึ้น-ลงเป็นปรากฏการณ์ปกติ เพราะการจะพลิกฟื้นองค์กรมาได้อยู่ที่บุคลากรมากกว่า ที่จะสร้างศรัทธากับคนรุ่นใหม่ ดึงคนใหม่ๆ เข้ามาทำงานถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน และต้องใช้เวลา แต่ตนเองก็เชื่อว่าทำได้ บนความตั้งใจนี้

กระแสลำดับบัญชีรายชื่อต้นๆ ในพรรคประชาธิปัตย์มาได้อย่างไร

ส่วนตัวไม่ทราบเลยเหมือนกัน เพราะเรื่องงานก็เพิ่งเจอนายองอาจ ที่ให้กลับไปคิดว่าอยากทำอะไร

ครั้งนี้จะถูกวางตัวเป็นนายทุนพรรคเลยหรือไม่

โอ้ คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะตนเองมองว่าพรรคมีประวัติอันยาวนาน ตนเองเพิ่งเป็นสมาชิกรายเล็กๆ เข้าไปใหม่ มองว่าเรื่องทุนพรรค ขอพูดตรงๆ ไม่ขอไปก้าวล่วงเรื่องของทางผู้ใหญ่

สามีเป็นเจ้าของสื่อใหญ่จะช่วยเอื้อในการเลือกตั้งครั้งหน้าไหม

จริงๆ ในสถานะความเป็นเจ้าของทางตนเองและครอบครัวไม่ได้ถือครองหุ้นใดๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า สามีเป็นผู้บริหารหลักอยู่ในทางฟากเนชั่น แต่ตนเองก็คิดว่าในความชัดเจนในการทำงานตนเองและสามี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตนเองตัดสินใจในเส้นทางการเมืองตั้งแต่ปี 2562 ส่วนตัวก็ไม่เคยกลับเข้าไปยุ่งในเรื่องสื่อมวลชนอีกเลย ในแวดวงสื่อมวลชนก็ทราบดีว่าไม่สามารถสั่งได้ทุกอย่างว่ากันตามเนื้อหาและถูกผิด อีกทั้งตนเองยังมารายการของไทยรัฐก่อนเป็นที่แรก ส่วนของเนชั่นยังไม่มีติดต่อให้เข้าสาย หรือทำอะไรเลยทั้งสิ้น

จะลบภาพนี้อย่างไรได้บ้าง

ส่วนตัวไม่คาดหวังว่าจะไปลบภาพอะไร เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะมีความคิดเห็น แต่ตัวเรารู้ตัวเองว่าปฏิบัติตัวอย่างไร ที่ผ่านมาจึงไม่ได้เข้าไปแทรกแซงมาแต่ไหนแต่ไร และไม่เคยไปยุ่งเรื่องคอนเทนต์เลย และตนเองก็ออกจากกลุ่มไลน์ของทุกกลุ่มของบริษัทแล้ว

วางอนาคตทางการเมืองต่อจากนี้อย่างไร เพราะเคยพูดว่าอีก 12 ปี อยากรีไทร์

(หัวเราะ ก่อนถามกลับ) เคยพูดไว้อย่างนั้นเหรอคะ ตั้งแต่ทำงานเด็กๆ เคยจินตาการภาพตนเองรีไทร์มาเรื่อยๆ แต่ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าจะทำงานการเมืองไปจนแก่ อยากจะทำเมื่อยังมีไฟ มีแรง กำลังมันสมองทุกอย่างที่เราอยู่ในความพร้อม เพราะยุคนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่มีใครรู้ในยุคที่ตนเองอายุ 50 อาจจะแก่เกินไปแล้วสำหรับคนยุคนั้น เพราะเราไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต
“สำหรับตัวเดียร์เอง ตั้งใจไว้ว่า อยาก active ไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้คิดยึดติดตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรืออยู่ยาวๆ แต่อยากจะเปลี่ยนพื้นที่ไปเรื่อยๆ เพราะถือว่าเป็นความท้าทายใหม่ๆ”

เลือกตั้งหน้าคาดหวังเก้าอี้ ส.ส. ไว้อย่างไร

ถ้ามาแล้วก็ต้องคาดหวัง หากเข้าไปเป็น ส.ส.ไม่ได้ ความตั้งใจที่อยากจะไปแก้กฎหมายก็คงทำไม่ได้ ส่วนการลงพื้นที่กับ ส.ส.โอ๋ ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ พรรคพลังประชารัฐ ไม่มีการทาบทาม เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเขา แต่ตนเองอาจจะเคยพูดมุมมองของแต่ละพรรค แต่ไม่ได้ไป convince (โน้มน้าว) เพราะเป็นเรื่องที่อิสระของแต่ละคนจริงๆ

ตัดสินใจลาจากพรรคพลังประชารัฐนานไหม เข้าไปลา “บิ๊กป้อม” อย่างไร

ไปหาท่านแบบไม่ให้รู้ตัว ไม่ใช่เพราะอะไร แต่เป็นเพราะว่าตัดสินใจพึ่บพั่บ พอท่านเห็นธูปเทียนแพของตนเอง ท่านก็น่าจะรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น พูดตรงๆ ท่านก็อาจจะรู้ว่าในความดื้อของเรา ในความที่เป็นคนหัวแข็งเป็นอย่างไร พอท่านเห็นท่านก็เข้าใจ

“ท่านก็ยังถามว่า อ้าว แล้วฉาย (สามี) เห็นด้วยไหม แล้วท่านก็พูดเองว่า มันอยู่ที่ตัวเราใช่ไหม เดียร์ก็บอกว่า ใช่ สุดท้ายมันอยู่ที่ตัวเดียร์ ไม่ได้เกี่ยวกับแฟน (มียื้อไหม) ไม่ค่ะ ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ ท่านรู้แหละในการตัดสินใจ จริงๆ ไม่ใช่แค่เรา ไม่ว่าใครก็ตามมาตรงนี้แล้ว ท่านมีความเป็นผู้ใหญ่พอ (ดูเป็นผู้ใหญ่ใจดี) ก็ใจดีค่ะ (มีไหม ที่บอกอย่าเพิ่งออกเลย ช่วยกันก่อน) อันนั้นน่าจะเป็นคำพูดก่อนหน้านั้น”

ส่วนที่ลาออกจาก ส.ส. ในช่วงนี้ เพราะตั้งใจในแบบนั้น และอย่างที่บอกว่าเป็นเรื่องที่เจอในสภาฯ ส่วน เรื่องสัญญาณเลือกตั้งไม่ใช่เหตุผล เพราะตนเองออกมาตั้งแต่ ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตัดสินวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องการเมืองหรืออะไร

ถ้าในอนาคต ปชป. ไปจับมือกับ พปชร. จะยังสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่ 

“เดียร์ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับพรรคค่ะ ก็ยังโทรไปหาลุง (พล.อ.ประวิตร) อยู่ค่ะ” น.ส.วทันยา กล่าวทิ้งท้าย

ผู้เขียน : Supattra.l

กราฟิก : Varanya Phae-araya

ภาพ : ชุติมน เมืองสุวรรณ,เอกลักษณ์ ไม่น้อย