“ระบบการเงินยุคใหม่ภายใต้กระแสดิจิทัล” ใครปรับตัวอย่างไร?

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ไม่นานนี้ผู้เขียนได้ร่วมวงพูดคุยในงานเสวนา “ระบบการเงินยุคใหม่ภายใต้กระแสดิจิทัล : ภาครัฐจะปรับตัวอย่างไร” จัดโดยภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอใช้โอกาสนี้เริ่มบทความแรกของปี 2565 ชวนผู้อ่านมาเกาะติดเทรนด์ระบบการเงินในกระแสดิจิทัลของโลกและการปรับตัวสู่อนาคตกันค่ะ

หลายปีมานี้ผู้อ่านอาจพอรู้สึกได้ว่าระบบการเงินโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก พอมาช่วงโควิดยิ่งรู้สึกได้ชัดว่า สถานการณ์พาไป ทำให้ชีวิตประจำวันต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ภาคธุรกิจแทบทุกอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ภาคการเงินต้องเร่งทำ digital transformation ครั้งใหญ่ เพื่อปรับกระบวนการภายใน ปรับกระบวนการทางธุรกิจ ใช้ข้อมูลรูปแบบใหม่วางกลยุทธ์การตลาด ปรับเข้าหาวิถีชีวิตผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากมาตรการล็อกดาวน์และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด

เทรนด์ระบบการเงินในกระแสดิจิทัลของโลกที่พอยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัด เช่น

1.กระแสดิจิทัลแบงกิ้ง (digital banking) มาแรง จริงๆ ธนาคารปรับรูปแบบบริการลูกค้าให้สามารถทำธุรกรรมการเงินดิจิทัลได้โดยไม่ต้องไปสาขามานานแล้ว พอเข้าช่วงโควิดก็พร้อมรองรับผู้บริโภคที่หันมาใช้ digital banking ในอัตราเร่งขึ้นมาก จากผลสำรวจของบริษัท McKinsey ชี้ว่า ผู้บริโภคประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใช้ digital banking เพิ่มขึ้นจาก 55% เป็น 88% ภายใน 5 ปี สัดส่วนใกล้เคียงผู้บริโภคกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ตัวราว 90% ที่สำคัญเทรนด์นี้เหมือนจะอยู่ยาว เพราะราว 80% ของผู้บริโภคกลุ่มนี้มองว่าจะใช้ digital banking เยอะขึ้นต่อไปแม้โควิดจะหมดไป

2.ระบบการเงินมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแบ่งเค้ก ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารมีสัดส่วนสินทรัพย์รวมในระบบการเงินโลกเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว เติบโตเพิ่มขึ้นแซงกลุ่มธนาคาร ผลสำรวจของบริษัท Accenture ชี้ว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมภาคการเงินเปลี่ยนไปในช่วง 10 กว่าปีนี้ โดย 1 ใน 5 เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ เช่น ผู้ให้บริการชำระเงิน บริษัทฟินเทค ธนาคารผู้เล่นเจ้าเดิมในตลาดก็ต้องเร่งปรับตัวจับมือพันธมิตรใหม่เสริมจุดแข็งระหว่างกัน เพื่อจะได้เข้าใกล้เข้าใจความต้องการของลูกค้าในบริบทโลกดิจิทัลมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เสนอผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้โดนใจ และรวดเร็วขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น

3.ระบบนิเวศคริปโตเคอร์เรนซีและกระแสการลงทุนสินทรัพย์ ดิจิทัลเติบโต ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่จัดว่าเป็น game changer เปิดทางให้ภาคเอกชนสามารถสร้างคริปโตฯ ขึ้นเองได้ มีลักษณะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในตัว ใช้ลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ไม่ต้องพึ่งตัวกลางผ่านระบบธนาคารแบบเดิม การทำธุรกรรมจึงสะดวกรวดเร็วขึ้น ต้นทุนต่ำลง นักลงทุนรุ่นใหม่และระดับสถาบันเริ่มสนใจกระจายพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลบางส่วน มูลค่าตลาดคริปโตฯ จึงสูงขึ้นมาเกือบ 3 เท่าในช่วงโควิดอยู่ที่ราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลายปี 64 ภาคธุรกิจก็สนใจสร้างโทเคนดิจิทัลไว้ใช้ในระบบนิเวศทางธุรกิจของตัวเองภายใต้เงื่อนไขที่ผู้กำกับดูแลแต่ละประเทศวางไว้

4.ความสนใจออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (central bank digital currency : CBDC) ธนาคารกลาง 86% ในโลกสนใจจะออกใช้ CBDC สำหรับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินและสำหรับรายย่อย เพื่อปรับตัวให้เท่าทันกระแสโลกการเงินดิจิทัล สัดส่วนนี้เพิ่มถึง 1 ใน 3 ภายในช่วงไม่กี่ปี หลายประเทศออกใช้ CBDC ระดับรายย่อยแล้ว เช่น บาฮามาส จีน บางแห่งสนใจใช้ CBDC ทำธุรกรรมระหว่างประเทศระดับสถาบันการเงินด้วย

การปรับตัวรับกระแสดิจิทัลในภาคการเงินโลกเกิดขึ้นต่อเนื่อง โลกการเงินดิจิทัลจะยิ่งเปลี่ยนไวขึ้นอีกในอนาคต ถึงเวลาเตรียมความพร้อม ความเข้าใจ เปิดรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เกิดขึ้นกันค่ะ.