สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบทั่วโลก ราคาอาหารพุ่งไม่หยุด หลายล้านชีวิตเผชิญความหิวโหย

  • กลุ่ม จี 7 ชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบทั่วโลก ปฏิบัติการทางทหารที่ยืดเยื้อ รวมถึงการสกัดกั้นเส้นทางขนส่งข้าวสาลีจากยูเครน เปรียบเสมือนรัสเซียเปิดฉาก ‘สงครามธัญพืช’
  • ด้านอินเดียได้ระงับส่งออกข้าวสาลีชั่วคราว ส่วนอินโดนีเซียแบนส่งออกน้ำมันปาล์ม ซ้ำเติมผลกระทบสงคราม ขณะที่ราคาอาหารโลกยังพุ่งไม่หยุด
  • ขณะที่กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ชี้ว่า สงครามที่ยืดเยื้อได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และจะทำให้ทั่วโลกเผชิญภัยพิบัติ โดยเฉพาะกับครอบครัวที่ที่ทุกวันนี้หาเลี้ยงชีพอย่างยากลำบาก

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อกินเวลากว่าหลายเดือน ได้สร้างผลกระทบไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในแง่ของพลังงานเท่านั้น แต่การรุกรานยูเครนของรัสเซียอาจส่งผลกระทบให้ประชากรโลกหลายล้านคนต้องตกอยู่ภายใต้ความหิวโหย ด้านกลุ่มจี 7 หรือ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ระบุว่า สงครามในยูเครนนั้นซ้ำเติมปัญหาอาหารและพลังงานโลก กระทบประเทศที่มีรายได้น้อย และต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อเปิดเส้นทางของคลังธัญพืช ที่รัสเซียห้ามขนย้ายออกจากยูเครน 

ด้านอันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้กลายเป็นวิกฤติของโลก และผู้คน 50 ล้านราย โดยเฉพาะในแอฟริกาและตะวันออกกลาง จะต้องเผชิญกับความหิวโหยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากไม่สามารถหาหนทางขนส่งธัญพืชออกจากยูเครนได้ ซึ่งปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนที่ยืดเยื้ออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘สงครามธัญพืช’ ก็ว่าได้

การรุกรานของรัสเซียก่อให้เกิดวิกฤติอาหารและพลังงานครั้งใหญ่ในประวัติศาตร์ ซึ่งกระทบกลุ่มเปราะบางทั่วโลก และหากรัสเซียยังปิดกั้นการขนส่งธัญพืชจากยูเครนต่อไป จะทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงขาดสารอาหาร

ด้าน ดมิโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนระบุว่า ยูเครนต้องการเจรจากับรัสเซียเกี่ยวกับการปิดเส้นทางขนส่งธัญพืช รวมถึงความตกลงทางการเมืองเพื่อยุติสงคราม และยังคงไม่ได้เสียงตอบรับใดๆ จากรัสเซีย

สามปัจจัยหลักกระทบอาหารโลก

ด้านสหประชาชาติ ชี้ว่า 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติความมั่นคงทางอาหารและความหิวโหยคือ ความขัดแย้ง, ผลกระทบจากสภาพอากาศ และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมทางสังคมก็เป็นตัวการที่ทำให้วิกฤติส่งผลกระทบร้ายแรง

ส่วนปัญหาความขัดแย้ง ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อองค์ประกอบของระบบอาหาร ตั้งแต่การผลิต การเก็บเกี่ยว ขั้นตอนการจัดส่ง การเงิน การตลาด รวมถึงการบริโภค นำไปสู่การระงับการส่งออกอาหาร ปริมาณอาหาร รวมถึงดันให้ราคาพุ่งสูงขึ้น

อินเดียระงับส่งออกข้าวสาลี อินโดฯ แบนส่งออกน้ำมันปาล์ม ซ้ำเติมผลกระทบสงคราม

อินเดียได้ประกาศระงับการส่งออกข้าวสาลีชั่วคราว หลังจากราคาอาหารภายในอินเดียได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงคลื่นความร้อนที่ทำให้ผลผลิตข้าวสาลีในประเทศลดน้อยลง การประกาศระงับส่งออกข้าวสาลีในครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาอาหารโลก

อินเดียนับเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกนำไปบริโภคภายในประเทศ หลังจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน อินเดียได้พยายามหาตลาดใหม่ส่งออกข้าวสาลีไปยังยุโรป แอฟริกา และเอเชีย

ด้านรัฐมนตรีเกษตร จากกลุ่มชาติ จี 7 ได้ออกมาประณามการตัดสินใจดังกล่าว โดยระบุว่า ถ้าหากแต่ละประเทศประกาศแบนการส่งออก หรือปิดตลาด จะทำให้วิกฤติอาหารเลวร้ายยิ่งขึ้น
ส่วนก่อนหน้านี้ อินโดนีเซีย ประเทศที่ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้แบนการส่งออกน้ำมันปาล์ม อย่างไม่มีกำหนด เพื่อแก้ปัญหาอาหารและสินค้าราคาแพง

ทำให้เกิดความกังวลว่าการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย จะซ้ำเติมราคาอาหารโลกที่พุ่งสูง เนื่องจากน้ำมันปาล์มนับเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ขณะที่คลังน้ำมันสำหรับบริโภคชนิดอื่นๆ อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากสงครามรัสเซียยูเครนและปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าราคาน้ำมันสำหรับบริโภคต่างๆ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันเรพซีด จะมีราคาแพงขึ้น และทุกประเทศจะได้รับผลกระทบจากการที่อินโดนีเซียแบนการส่งออกน้ำมันปาล์ม

สงครามส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาหารโลก

ข้อมูลจาก กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ชี้ว่ายูเครน นั้นเป็นประเทศที่มีส่วนสำคัญต่อระบบอาหารโลก และเมื่อรวมรัสเซียเข้าไป สองประเทศนี้ผลิตอาหาร 12 เปอร์เซ็นต์ของการค้าขายอาหารโลก และเกือบครึ่งหนึ่งของข้าวสาลีที่ผลิตในยูเครนถูกส่งไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านอาหาร และหากสถานการณ์เลวร้ายลง หรือราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น อาจนำไปสู่การเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ

ส่วน อียิปต์ เป็นประเทศที่ซื้อข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุด และนำเข้าข้าวสาลีส่วนใหญ่จากยูเครนและรัสเซีย เพื่อใช้ทำขนมปังซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล

ราคาอาหารโลกนั้นปรับสูงขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนก.พ. 65 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าปรับสูงขึ้นมาเป็นประวัติการณ์

ด้านกิลเบิร์ต ฮองโบ ประธาน กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ระบุว่า สงครามที่ยืดเยื้อได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ และจะทำให้ทั่วโลกเผชิญภัยพิบัติ โดยเฉพาะกับครอบครัวที่ที่ทุกวันนี้หาเลี้ยงชีพอย่างยากลำบาก.

ผู้เขียน: นัฐชา กิจโมกข์ (Nattachar K.) 

ที่มา: WeforumEuroweeklynewsEuronews