สหรัฐฯ พัฒนาสร้างหุ่นยนต์กึ่งมีชีวิต  “ซีโนบอท” สามารถผลิตตัวเองซ้ำๆ ได้

การจะยืนหยัดอยู่ได้ของสิ่งมีชีวิต คือต้องสืบพันธุ์ ถอดแบบ กำเนิดขึ้น ผลิตซ้ำ ซึ่งกว่าพันล้านปีที่ผ่านมา สิ่งมีชีวิตได้พัฒนาวิธีการผลิตซ้ำในหลายรูปแบบ เช่น พืชที่แตกหน่อ สัตว์นานาชนิดออกลูกหลานสืบต่อกันมา รวมถึงมนุษย์ก็เช่นกัน นอกจากนี้สิ่งมีชีวิตเล็กๆ หรือประดาเชื้อต่างๆ ก็มีวิธีผลิตตัวเองซ้ำๆ ออกมา เช่น ไวรัส

เมื่อปีที่แล้วมีผลงานที่น่าทึ่งอย่างมาก เมื่อทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทัฟส์ ในสหรัฐอเมริกา พัฒนาสร้างหุ่นยนต์กึ่งมีชีวิตตัวแรกชื่อ “ซีโนบอท” (Xenobots) ประกอบขึ้นจากสเต็มเซลล์ของกบสายพันธุ์ Xenopus laevis ซึ่งล่าสุดทีมวิจัยรายงานการค้นพบรูปแบบใหม่ของการถอดแบบทางชีววิทยา ที่น่าตื่นตะลึงมากกว่าเดิม เมื่อหุ่นยนต์ชีวะซีโนบอทขนาดเล็กๆ สามารถจำลองหรือผลิตซ้ำตัวเองในจานเลี้ยงของมันได้ ทีมวิจัยสังเกตเห็นว่าเซลล์แต่ละก้อนดูเหมือนจะทำงานร่วมกันเป็นฝูง โดยการผลักเซลล์ที่หลวมอื่นๆในจานเข้าด้วยกัน กองเซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่จะค่อยๆก่อตัวเป็นซีโนบอทตัวใหม่

การทดลองเพิ่มเติมพบว่ากลุ่มของซีโนบอท 12 ตัวที่วางอยู่ในจานที่มีเซลล์เดี่ยวประมาณ 60,000 เซลล์ ดูเหมือนจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างซีโนบอทรุ่นใหม่ 1-2 ตัว นับเป็นครั้งแรกที่สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์สามารถจำลองตัวเองได้ในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต บ่งชี้ให้เห็นว่ามีวิธีการจำลองตัวเอง หรือผลิตซ้ำตัวเองที่คนเราไม่เคยรู้มาก่อน.

Credit : Wyss Institute