“สาธารณสุข”จัดสรรไฟเซอร์ บุคลากรด่านหน้าให้ทุก รพ.

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าวัคซีนโควิด 19 กล่าวว่า ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่มาถึงประเทศไทย จำนวนที่ชัดเจนและถูกต้องส่งมอบเมื่อเช้า คือ 1,503,450 โดส วัคซีนส่งมาในภาวะแช่แข็งอยู่ในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเวียส เวลาส่งมาต้องลงในถาดขนส่งวัคซีน ซึ่งปกติจะขนส่งลงล็อกประมาณ 1,170 โดสต่อถาด รวมแล้วคือจำนวน 1,503,450 โดส สอดคล้องกับตัวเลขบนเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐฯ หากท่านใดได้ตัวเลขแตกต่างจากนี้เป็นตัวเลขไม่ถูกต้อง

สำหรับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ โดยหลักคือ บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจำนวนมากที่สุดคือ 7 แสนโดส จาก 1.5 ล้านโดส เพื่อเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่เคยฉีดมาแล้ว 2 โดส ส่วนใหญ่บุคลากรทางการแพทย์ฉีดไปแล้วช่วง มี.ค.-เม.ย. เป็นวัคซีนซิโนแวค และบางท่านอาจยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นส่วนน้อยอาจจบใหม่ก็อยู่ในกลุ่มที่ฉีดได้โดยฉีด 2 โดส

ส่วนกลุ่มที่ฉีดวัคซีนตัวอื่นเข็มแรกเข็มเดียวก็ขอรับไฟเซอร์ได้ และสุดท้ายคือบุคลากรที่ติดเชื้อแต่หายแล้ว 1 เดือนก็ขอรับได้ แต่ทั้งหมดอยู่ที่ความสมัครใจ เพราะเรายังมีแอสตร้าฯ ซึ่งจากข้อมูลมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าประมาณ 20% ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ ไปแล้ว เพราะอยู่ในภาระงานที่มีความเสี่ยง คนที่เหลือที่ต้องการฉีดไฟเซอร์ก็มีให้เพียงพอทุกคน

“กลุ่มที่ยังรับวัคซีนไฟเซอร์อีกคือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มโรคเรื้อรัง จะให้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป มีเด็กน้ำหนักเกิน เด็กอ้วน หรือโรคเบาหวานตั้งแต่กำเนิด ภาวะโรคหัวใจ โรคไต ซึ่งกุมารแพทย์จะพิจารณาความเหมาะสม เพราะหากมีความเสี่ยงและติดเชื้อจะมีความรุนแรงได้ ส่วนหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป มีวัคซีนเตรียมไว้สำหรับ 645,000 โดสในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยและเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ สูงอายุ ป่วยโรคเรื้อรัง ตุ้งครรภ์ 12 สัปดาห์ รวมทั้งคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ รวม 150,000 โดส ซึ่งกระทรวงต่างประเทศ โดยกรมการกงสุลทำระบบลงทะเบียนไว้” นพ.โสภณ กล่าวและว่า ยังมีการกันไว้สำหรับทำวิจัยอีก 5,000 โดส เพื่อศึกษาการฉีดสลับ ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงระดับใด หรือป้องกันลดติดเชื้อในทางเดินหายใจ ลดป่วยหนักและเสียชีวิตระดับใด ซึ่งต้องเป็นโครงการวิจัยที่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน และสำรองไว้ 3 พันกว่าโดสสำหรับพื้นที่ระบาดใหม่ เช่น อาจมีพื้นที่พบสายพันธุ์เบตา ซึ่งไฟเซอร์ใช้ได้ค่อนข้างดี

นพ.โสภณ กล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์กรณีบุคลากรทางการแพทย์จะจัดสรรไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทุกจังหวัดได้สำรวจและรวบรวมรายชื่อส่งเข้ามา ซึ่งวัคซีนจะทยอยออกไปวันที่ 3 ส.ค. รับบริการที่ รพ.ที่กำหนดไว้ โดยวัคซีนไฟเซอร์อาจไม่ได้จัดส่งได้ทุก รพ.ทันที เพราะการจัดส่งจะไปเป็นถาด 1,170 โดสต่อถาดเดียวกัน และไปในภาวะที่รักษาอุณหภูมิแช่แข็ง เมื่อไปถึงต้องเอาเข้าตู้เย็นทันที

ดังนั้น รพ.ใหญ่จะมีวัคซีนนี้ไว้ และเวลาให้บริการ เนื่องจากเป็นวัคซีนขวดที่มีจำนวน 6 โดส เมื่อเปิดมาแล้วต้องใช้ให้ครบ 6 คน และต้องมีการกำหนดจุดให้บริการเหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดและสูญเสีย ส่วนของ กทม. กรมควบคุมโรคได้ประสานสำนักอนามัยในการจัดส่งวัคซีนไปที่ รพ.รัฐและเอกชนที่กำหนด เพื่อฉีดให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าให้ครอบคลุมสูงสุด และที่ประชุมคณะทำงานด้านบริหารการจัดการวัคซีนไฟเซอร์ มีข้อเสนอให้ รพ.แต่ละแห่งแสดงหรือประกาศจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ต่อสาธารณชน เพื่อความโปร่งใสจะได้ทราบว่าฉีดไปแล้วเท่าไร ขาดอีกเท่าไร ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้บุคลากรด่านหน้าทุกคนว่าจะได้ฉีดครบ สร้างขวัญกำลังใจการทำงาน

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) การจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ล้วนได้รับคำแนะนำจากคณะทำงานด้านวิชาการก่อนมาพิจารณาในคณะกรรมการของ สธ.อีกครั้ง ซึ่งคณะทำงานวิชาการประกอบด้วยอาจารย์ต่างๆ จากโรงเรียนแพทย์ คนทำงานด้านวัคซีนโดยตรง และนักวิชาการ แต่ละคณะมีจำนวนมาก 30 กว่าคน

“ต้องขอบคุณคณาจารย์ต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ สธ. ที่มองและค้นหาข้อแนะนำที่ดีในการใช้วัคซีนที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ได้รับอะไรตอบแทน ต้องขอบคุณอย่างยิ่ง เพราะอาจารย์ทั้งหลายมีความเป็นครู อยากทำสิ่งดีๆ ให้ประเทศและประชาชน ขอให้คนที่เข้าใจผิดอยากให้เข้าใจใหม่ คนเป็นครูอายุขนาดนี้ มีความเป็นครูและผู้ให้เสมอมา” นพ.เกียรติภูมิกล่าวและว่า

สำหรับวัคซีนในปี 2565 เรามีคณะกรรมการดูแลการจัดหาวัคซีน พยายามพิจารณาช่องทางให้ได้วัคซีนมากที่สุด โดยรัฐบาลอนุมัติกรอบจัดหาปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านโดส โดยจะหาวัคซีนทุกแพลตฟอร์ม ทั้งเชื้อตาย ไวรัลเวคเตอร์ mRNA และโปรตีนซับยูนิต ซึ่งหากพัฒนารุ่นใหม่ก็คงไม่มีใครขายรุ่นเก่า คงต้องขายรุ่นใหม่ซึ่งจะสามารถป้องกันเชื้อในห้วงเวลานั้นได้ อย่างวัคซีนที่ออกมาก็ป้องกันสายพันธุ์อู่ฮั่นและอัลฟา แต่เมื่อกลายพันธุ์เป็นเดลตาก็อ่อนประสิทธิภาพลง ปัจจุบันก็กำลังพัฒนาอยู่ อาจเป็นวัคซีนหลักที่ต้องฉีด 2 เข็ม หรืออาจเป็นวัคซีนบูสเตอร์