CNN แฉ บริษัทในไทยฉวยโอกาส รีไซเคิลถุงมือแพทย์ใช้แล้ว ส่งออกสู่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ หลายสิบล้านชิ้น

สื่อสหรัฐฯ แฉ บริษัทในไทยฉวยโอกาสช่วงโควิดระบาด รีไซเคิลถุงมือแพทย์ใช้แล้ว ส่งออกสู่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ หลายสิบล้านชิ้น

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น เปิดเผยผลการสืบสวนนานหลายเดือน ระบุว่า พวกเขาพบว่าถุงมือยางไนไตร (nitrile gloves) เกรดการแพทย์ปลอมและของมือสอง ถูกนำเข้าสูงสหรัฐฯ เป็นจำนวนหลายสิบล้านชิ้น ตามการเปิดเผยของผู้แทนจำหน่ายหลายเจ้า และนั่นเป็นเพียงส่วนน้อยที่พบ ซึ่งทางการสหรัฐฯ และไทยกำลังดำเนินการสืบสวนเป็นคดีอาชญากรรม

เมื่อเดือนธันวาคมปี 2563 เจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุขในไทย ออกปฏิบัติการบุกตรวจค้นโกดังแห่งหนึ่งชานเมืองกรุงเทพมหานคร และพบถุงขยะซึ่งเต็มไปด้วยถุงมือแพทย์ใช้แล้วเป็นจำนวนมาก หลายชิ้นมีคราบสกปรกอย่างชัดเจน บางชิ้นถึงกับมีรอยเลือด นอกจากนั้นยังพบถุงพลาสติกอีก 1 ถุง ในนั้นมีสีย้อมสีฟ้าและถุงมือจำนวนหนึ่ง

เจ้าหน้าที่ระบุว่า แรงงานต่างด้าวกำลังพยายามทำให้ถุงมือเหล่านี้กลับมาดูใหม่อีกครั้ง และบรรจุใส่กล่องของแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักมากในไทยอย่าง ‘ศรีตรัง’ พวกเขาสามารถจับกุมตัวเจ้าของโกดังได้ และไม่สามารถตั้งข้อหาผู้เช่า ซึ่งเป็นชาวฮ่องกงได้

ซีเอ็นเอ็นระบุว่า ยังมีโกดังลักษณะนี้ในประเทศไทยอีกหลายแห่งที่ยังคงดำเนินการมาจนถึงทุกวันนี้ ส่งออกถุงมือต่ำกว่ามาตรการหลายสิบล้านชิ้นไปยังสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลก เพื่อฉวยโอกาสทำกำไรท่ามกลางความต้องการถุงมือยางเกรดการแพทย์ที่พุ่งสูงเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนรวมถึงนาย ดั๊กลาส สตีน บอกกับซีเอ็นเอ็นว่า ถุงมือไนไตรเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่อันตรายที่สุดในโลก ณ ขณะนี้ แต่แม้จะมีความเสี่ยงสูงต่อเจ้าหน้าที่ด่านหน้าและคนไข้ ทางการสหรัฐฯ ก็ยังประสบปัญหาในการรับมือการค้าผิดกฎหมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการตรวจสอบการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ถูกระงับชั่วคราวตั้งแต่ช่วงที่การระบาดรุนแรงจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2563 ที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) พุ่งทะลุเพดาน รวมทั้งถุงมือไนไตรเกรดการแพทย์ ที่หมอและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใช้ในการตรวจคนไข้อย่างแพร่หลาย โดยถุงมือดังกล่าวเกือบทั้งหมดผลิตในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ซึ่งมีทั้งยางธรรมชาติเหลือเฟือ, ความเชี่ยวชาญในการผลิต และโรงงานเฉพาะ แต่เมื่อความต้องการมากขึ้น กลุ่มมิจฉาชีพก็ไม่พลาดโอกาสที่จะทำกำไรจากธุรกิจนี้

ช่วงปลายปี 2563 นาย ทาเรค เคียร์สเชน นักธุรกิจในเมืองไมอามี สั่งซื้อถุงมือไนไตรมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบริษัทในประเทศไทยที่ชื่อว่า ‘แพดดี้ เดอะ รูม’ (Paddy the Room) ก่อนที่เขาจะขายถุงมือดังกล่าวต่อให้ตัวแทนจำหน่ายในสหรัฐฯ แต่ไม่นานหลังจากนั้น พวกเขาก็เริ่มได้รับโทรศัพท์ต่อว่าจากลูกค้า ว่าถุงมือที่เขาขายไปนั้นเป็นของมีตำหนิและของใช้แล้ว

นายเคียร์สเชนจึงไปดูสินค้าด้วยตัวเองเมื่อสินค้าลอตที่ 2 ถูกส่งมาถึงไมอามี และพบว่า ถุงมือที่ถูกส่งมา เป็นของใช้แล้ว ถูกล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ บางชิ้นมีตราประทับวันที่ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน เขาจึงคืนเงินให้แก่ลูกค้าของเขาทุกคน นำถุงมือดังกล่าวไปกลบฝังและแจ้งต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยเขายืนยันกับซีเอ็นเอ็นว่า ถุงมือที่เขาขายไปไม่ได้ถูกนำไปใช้ในวงการแพทย์

ขณะที่การวิเคราะห์บันทึกการนำเข้าสินค้าโดยซีเอ็นเอ็นพบด้วยว่า ผู้แทนจำหน่ายอื่นๆ ในสหรัฐฯ ได้รับถุงมือยางจากบริษัท แพดดี้ เดอะ รูม เกือบ 200 ล้านชิ้น ในช่วงการระบาด แต่ไม่แน่ชัดว่า เกิดอะไรขึ้นกับถุงมือเหล่านั้นหลังจากมันเข้าสู่สหรัฐฯ แล้ว

ซีเอ็นเอ็น พยายามติดต่อผู้นำเข้าหลายเจ้า โดยมี 2 เจ้าที่ยอมรับว่า ได้รับสิ้นค้าคุณภาพต่ำกว่ามาตรการและหลายชิ้นไม่ใช่ถุงมือไนไตรด้วยซ้ำ หนึ่งในบริษัทที่ว่าคือ ยูวีพอร์ท (Uweport) ระบุว่า พวกเขาไม่สามารถขายสินค้าให้บริษัทการแพทย์ได้ตามแผนที่วางไว้ จึงต้องขายในราคาที่ถูกลงให้ผู้แทนจำหน่วยสำหรับโรงงานแปรรูปอาหาร, โรงแรม และร้านอาหารแทน

ส่วนอีกบริษัทคือ ยูเอส ลิเบอร์ตี จำกัด ก็มีประสบการณ์คล้ายกันกับสินค้าจาก แพดดี้ เดอะ รูม และเคยถูกบริษัทอีกแห่งในเวียดนามหลอกขายถุงมือที่ทั้งเป็นรู, เปรอะเปื้อน, ฉีดขาย และมีสีแตกต่างกัน มาแล้ว

ด้านนาย หลุยส์ ซิสคิน นักธุรกิจสหรัฐฯ เผยว่า บริษัท แอร์ควีน (AirQueen) ของเขาสั่งซื้อถุงมือยางจาก แพดดี้ เดอะ รูม ผ่านบุคคลที่ 3 ในราคา 2.7 ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดเป็นการจ่ายช่วงหน้า แต่การตรวจสอบในภายหลังยืนยันว่า ถุงมือที่เขาซื้อมาเกือบทั้งหมดไม่ใช่ไนไตร แต่เป็นถุงมือลาเท็กซ์หรือไวนิลคุณภาพต่ำ และมีหลายชิ้นที่มีตำหนิอย่างชัดเจนและเป็นของมือสอง ซึ่งนายซิสคินยืนยันว่า เขาไม่ได้ขายของพวกนี้ให้แก่โรงพยาบาลใดๆ และบอกด้วยว่า การที่บริษัทเหล่านี้ไม่ถูกขึ้นบัญชีดำถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก

นายซิสคินเผยด้วยว่า แพดดี้ เดอะ รูม เคยส่งรายงานการตรวจสอบอิสระมาให้พวกเขาเพื่อยืนยันว่า สินค้าที่ถูกส่งมาเป็นของคุณภาพสูง แต่เอกสารเหล่านั้นเป็นของปลอม โดยบริษัทตรวจสอบที่ถูกแอบอ้างชื่อยืนยันกับซีเอ็นเอ็งเองว่า รายงานที่ว่าเป็นของปลอม

หลังจากได้รับสินค้าด้อยคุณภาพเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นายซิสคินก็แจ้งเรื่องนี้ต่อ FDA กับสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (CBP) เมื่อ 28 ก.พ. แต่ถึงจะแจ้งไปแล้ว รายงานการนำเข้ายังชี้ว่า หลังจากนั้นมีคอนเทนเนอร์สินค้าอีก 28 ตู้บรรจุถุงมือยางจากบริษัท แพดดี้ เดอะ รูม มากกว่า 80 ล้านชิ้น ถูกส่งเข้าสูงสหรัฐฯ และ FDA เพิ่งส่งคำเตือนถึงเจ้าหน้าที่ท่าเรือทุกแห่งให้กักกันสินค้าจาก แพดดี้ เดอะ รูม โดยไม่ต้องตรวจเช็คสภาพเมื่อเดือนส่งหาคมที่ผ่านมา หรือ 5 เดือนหลังนายเคียร์สเชนและนายซิสคิน แจ้งเตือน

ด้านกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ (DHS) ยืนยันกับซีเอ็นเอ็นว่า กำลังมีการสืบสวนคดีอาชญากรรมกับบริษัท แพดดี้ เดอะ รูม ขณะที่ CBP เผยว่า ยึดหน้ากากอนามัยปลอมและอุปกรณ์ PPE อื่นๆ ได้หลายแสนชิ้น รวมทั้งยึดถุงมือแพทย์ที่ถูกส่งมาได้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ระบุจำนวนที่แน่ชัด

ขณะที่ในประเทศไทย การบุกทลายโกดังเมื่อเดือนธันวาคมไม่ได้ทำให้บริษัท แพดดี้ เดอะ รูม ปิดตัวลง โดยเภสัชกรหญิง สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาของไทย บอกกับซีเอ็นเอ็นว่า ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ของอย. ก็บุกทลายโรงงานลักษณะคล้ายกันได้อีกแห่ง และเธอเชื่อว่ายังมีโรงงานแห่งอื่นๆ อีก เพราะความต้องการถุงมือแพทย์ยังสูง และมีลูกค้ารออยู่

นางสภัทราบอกอีกว่า หน่วยงานของเธอเชื่อว่า มีเครือข่ายคอร์รัปชันที่รวมทั้งบุคคลและบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย กำลังร่วมมือกันหาผลกำไรจากถุงมือไนไตร หนึ่งในนั้นคือบริษัท สกายเมด (SkyMed) ซึ่งบริหารโดยอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพไทย และเจ้าหน้าที่พบกล่องที่มีตราของสกายเมดในการบุกทลายโกดังของ แพดดี้ เดอะ รูม เมื่อเดือนธันวาคมด้วย

สกายเมดเป็นของปลอม นางสุภัทรากล่าว บริษัทนี้มีใยอนุญาตนำเข้าถุงมือแพทย์ที่ผลิตในเวียดนาม แต่สกายเมดไม่เคยนำเข้าถูกมือแพทย์สู่ประเทศไทย และไม่เคยผลิตถุงมือเอง