“หมอธีระ” เผยผลศึกษาจาก “ฮ่องกง” โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 เสี่ยงต่อการเสียชีวิตพอๆ กับสายพันธุ์ดั้งเดิม

หมอธีระ เผยผลศึกษาจากฮ่องกง เกี่ยวกับการระบาดของ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 พบทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตพอๆ กับสายพันธุ์ดั้งเดิมในระลอกแรกของโควิด-19 หากไม่ได้ฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 16 เม.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

โดยระบุว่า “15 เมษายน 2565 ทะลุ 503 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 665,043 คน ตายเพิ่ม 2,142 คน รวมแล้วติดไปรวม 501,832,252 คน เสียชีวิตรวม 6,219,761 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.13 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 71.8

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 33.96 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 29.64 

…สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 18.74% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

…BA.2.2 ในฮ่องกง

Mesfin Y และคณะจากฮ่องกง เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับการระบาดของ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า BA.2.2 ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตพอๆ กับสายพันธุ์ดั้งเดิมในระลอกแรกของโควิด-19 หากไม่ได้ฉีดวัคซีน

…เทียบประสิทธิภาพของ Pfizer/Biontech, Moderna, Sinopharm, และ Sinovac ในสิงคโปร์

Premikha M และคณะ จากสิงคโปร์ เปรียบเทียบอัตราส่วนของอัตราอุบัติการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 และการป่วยรุนแรง (incidence rate ratio) ในประชากรราว 2.7 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนทั้ง 4 ชนิด ครบ 2 เข็มไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และได้รับเข็มสองไปไม่เกิน 120 วัน แล้วประเมินดูว่ามีอัตราการเกิดการติดเชื้อ และป่วยรุนแรงมากน้อยเพียงใด ในช่วง 1 ตุลาคมถึง 21 พฤศจิกายน 2564 

ทั้งนี้ในกลุ่มประชากรสิงคโปร์ที่ศึกษานั้น ส่วนใหญ่ฉีด Pfizer/Biontech ราว 2,000,000 คน, Moderna ราว 600,000 คน, Sinovac/Coronavac ราว 60,000 คน, Sinopharm ราว 20,000 คน

ผลการศึกษาพบว่า mRNA vaccines (Pfizer/Biontech, Moderna) มีอุบัติการณ์ติดเชื้อน้อยกว่าวัคซีนเชื้อตาย (Sinopharm, Sinovac/Coronavac) อย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนอุบัติการณ์ของการป่วยรุนแรงนั้นพบว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีน Sinovac/Coronavac มีอัตราการป่วยรุนแรงสูงกว่าวัคซีน Pfizer/Biontech 4.59 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 3.25-6.48 เท่า) ในขณะที่ Sinopharm มีอัตราการป่วยรุนแรงไม่แตกต่างจาก Pfizer/Biontech อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้การศึกษาในสิงคโปร์นั้น ชี้ให้เห็นว่า mRNA vaccines ดูจะมีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนเชื้อตาย ทั้งในด้านการป้องกันการติดเชื้อและการป้องกันการป่วยรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่า แม้ฉีดวัคซีนไปแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ ป่วยได้ ตายได้ และหากติดเชื้อ ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาว หรือ Long COVID ที่จะบั่นทอนสมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมหัวใจสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดคือ การใส่หน้ากากเสมอ เพราะเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะป้องกันตนเอง และจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการเว้นระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงสถานที่เสี่ยง และเลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น

อ้างอิง

1. Epidemiology of infections with SARS-CoV-2 Omicron BA.2 variant in Hong Kong, January-March 2022. medRxiv. 14 April 2022.

2. Premikha M. Comparative Effectiveness of mRNA and Inactivated Whole Virus Vaccines against COVID-19 Infection and Severe Disease in Singapore. Clinical Infectious Diseases. 12 April 2022.”

คลิกชมที่นี่

ภาพจาก AFP/รอยเตอร์/Thira Woratanarat