แบรนด์รถไฟฟ้าจีน Changan Automobile เตรียมทำตลาดในประเทศไทย

Changan Automobile แบรนด์รถยนต์จากจีนแผ่นดินใหญ่ เปิดตัวรถยนต์สองรุ่นอย่างเป็นทางการ ได้แก่ AVATAR E11 รถ SUV ขนาดกลางที่ใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อนทั้งหมด โดยเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างฉางอัน ออโตโมบิล หัวเว่ย และ CATL อีกรุ่นคือ Changan C385 ซึ่งเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเช่นเดียวกัน และถูกพัฒนาขึ้นจากแพลตฟอร์มเครื่องยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ที่ Changan Auto Tech Ecosystem Conference 2021

Changan Automobile เป็นหนึ่งในสี่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศจีน มีประสบการณ์ในการผลิตรถยนต์เกือบ 40 ปี และรั้งตำแหน่งบริษัทที่มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมนำหน้าแบรนด์ต่างๆ ในจีนทั้งหมด 5 ครั้ง ในระยะเวลา 10 ปี โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ปัจจุบัน Changan Automobile มีฐานการผลิต 14 แห่งทั่วโลก รวมถึงเครือข่ายการขายและการบริการ 8,700 สาขา ช่างเทคนิคด้านวิศวกรรมผู้ชำนาญการ 10,000 คน ใน 27 ประเทศ และบุคลากรมืออาชีพด้านบริการ 120,000 คนทั่วโลก Changan Automobile จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา ครอบคลุม 6 ประเทศ ใน 9 ภูมิภาค ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น และอิตาลี

หลังจากการพัฒนาครึ่งศตวรรษ อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนได้กลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองลงมาคืออเมริกาเหนือ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความสำเร็จ เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนกำลังมุ่งไปสู่การสร้างความทันสมัยผ่าน 4 เสาหลัก หรือ “New Four Modernizations” ซึ่งประกอบไปด้วย ความอัจฉริยะ (Intelligence) การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrification) การสร้างเครือข่าย (Networking) และการแบ่งปันใช้งาน (Sharing) อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนจึงกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความสามารถในการแข่งขันก็กำลังทิ้งระยะห่างจากการขับเคลื่อนรถยนต์แบบเดิม โดยกำลังมุ่งไปสู่โลกยุคใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ดังนั้นผู้ผลิตยานยนต์ของจีนจึงเร่งพัฒนาสินค้าใหม่ แนวโน้มที่เป็นปัจจัยเชิงบวกเหล่านี้ ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนอย่าง Changan Automobile ตั้งใจที่จะต่อยอดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยการส่งมอบผลิตภัณฑ์ยานยนต์พร้อมนวัตกรรมล้ำสมัย และมีราคาจับต้องได้ ให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทย ในเร็วๆนี้) 

AVATAR E11 รถ SUV ขนาดกลางรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่าง Changan Automobile / Huawei และ CATL โดยรถยนต์รุ่นนี้จะใช้ Huawei HI (Huawei Inside) หรือระบบปฏิบัติการยานยนต์อัจฉริยะเต็มรูปแบบ ระบบขับเคลื่อนพลังงานสะอาด เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดจาก CATL เป็นหลัก ในปัจจุบัน AVATAR E11 อยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ รอบคัน และจะเปิดตัวภายในสิ้นปีนี้

Changan C385 เป็นโมเดลเชิงกลยุทธ์รุ่นแรกของ Changan Automobile สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่ โดยรถไฟฟ้ารุ่นนี้ติดตั้งระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติไร้คนขับ (Automated Valet Parking System) APA7.0 ซึ่งรถยนต์จะสามารถเข้าแถว ขับเคลื่อน และหาที่จอดเองโดยที่ไม่ต้องมีเจ้าของรถยนต์คอยติดตาม รูปลักษณ์ภายนอกของรถยนต์รุ่นนี้ได้รับการดัดแปลงมาจากสไตล์รถแฮตช์แบ็ก ผสมผสานกับเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อทำให้เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่

Changan Automobile แถลงเพิ่มเติมถึงแผนการลงทุน โดยจะเพิ่มเงินทุนอีก 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 825 พันล้านบาท) ในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมภายในห้าปี โดยอยู่ภายใต้กลยุทธ์ “ยานยนต์ใหม่ + ระบบนิเวศใหม่ (New Auto + New Ecosystem)” การลงทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Technology Ecosystem) พัฒนาซอฟต์แวร์ตลอดจนเพิ่มขีดจำกัดระดับความสามารถของเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ภายในปี 2568 ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 50% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด และในขณะเดียวกันจะมีการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อพัฒนาและสร้างคอมมูนิตี้ที่เต็มไปด้วยทักษะและองค์ความรู้ทางด้านเทคนิค ทั้งนี้ Changan Automobile แจ้งว่า ภายในปี 2568 นี้ ตั้งเป้าจะสร้างยอดขายต่อปีทะยานสู่ 3 ล้านคัน โดยมีสัดส่วนของ xEV อยู่ที่ 35% และภายในปี 2573 จะขึ้นแท่นแบรนด์รถยนต์ด้วยยอดขายมากกว่า 4.5 ล้านคัน ด้วย xEV โดยจะรวมถึงสัดส่วนยอดขายจากตลาดต่างประเทศจะอยู่ที่ 60% และ 30% ตามลำดับ

Changan Automobile มีชื่อเสียงในด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและนวัตกรรมชั้นสูง นับตั้งแต่ปี 2560 มีการบรรลุและส่งมอบนวัตกรรมใหม่มากมาย ทั้งในแง่ของกลไลอัจฉริยะ ตลอดจนยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับต่ำ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้กลยุทธ์พื้นฐาน “ยานยนต์ใหม่ + ระบบนิเวศใหม่ (New Auto + New Ecosystem)” ในส่วนของผลงานทางด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฉางอันยึดมั่นหลัก Dubhe Intelligence Plan และ Shangri-La Plan โดยได้ลงทุนกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 49.5 พันล้านบาท) เพื่อให้ได้ครอบครองเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อัจฉริยะในระดับต่ำกว่า 500 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้มี 48 เทคโนโลยีที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกในประเทศจีน นอกจากนี้เทคโนโลยี APA 6.0 ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติไร้คนขับระบบแรกที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ใช้งานคอยกำกับในระยะประชิด และสามารถขับเคลื่อนผ่านสมาร์ทโฟนแทน ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบบบูรณาการ (Ultra-Integrated Electric Drive System) ที่สามารถลดการใช้น้ำหนักได้ 10% เพิ่มอัตราการจ่ายพลังงาน 37% เพิ่มประสิทธิภาพ 5% ปัจจุบัน Changan Automobile ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ที่มีระบบเชื่อมต่ออัจฉริยะมากกว่า 1.45 ล้านคัน จึงนับได้ว่าเป็นผู้ผลิตแถวหน้าในอุตสาหกรรมยานยนต์จีน โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ ยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ของ Changan มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดอยู่ที่ 495% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในแง่ของผลิตภัณฑ์ การเปิดตัวรถยนต์รุ่น PLUS และ UNI ซีรีส์ โดย 43% ของยอดขายรุ่น UNI เกิดจากการที่ผู้บริโภคเลือกซื้อรถยนต์จาก Changan Automobile มากกว่าแบรนด์สากลชั้นนำ โดยในสามปีที่ผ่านมา คุณค่าของแบรนด์ (Brand Value) เพิ่มขึ้น 34% ซึ่งมีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง ยกระดับความสามารถในการแข่งขันเพื่อขึ้นชั้นไปสู่สากล ปัจจุบัน Changan Automobile มีภาพลักษณ์ของผู้ผลิตและผู้ส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพ ล่าสุด ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ ได้ขายรถยนต์ไปมากกว่า 1 ล้านคัน คาดว่าแบรนด์รถยนต์ของจีนยี่ห้อนี้จะเข้ามาทำตลาดในไทยเร็วๆนี้ อาจมีการว่าจ้างงานสำหรับโรงงานประกอบรถ รวมถึงการนำรถไฟฟ้าเข้ามาขายในไทยเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้ใช้รถยนต์.