แพทย์เผย! “อาการชักแบบหัวเราะ” เกิดตั้งแต่เด็ก ต้องผ่าตัดส่วนผิดปกติในสมอง พบได้ 1 ต่อ 2 แสน

แพทย์เผย “อาการชักแบบหัวเราะ” เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนไฮโปธาลามัส พบได้ 1 ต่อ 2 แสนประชากร เกิดตั้งแต่เด็ก รักษาด้วยยากันชัก หายขาดต้องผ่าตัด

เมื่อวันที่ 10 ก.ย.65 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีผู้ใช้บัญชี Tiktok โพสต์คลิปวิดีโอลูกชายหัวเราะบ่อย คิดว่าลูกเป็นเด็กอารมณ์ดี แต่ตรวจพบเนื้องอกในสมองทำให้เกิดอาการชักแบบหัวเราะว่า อาการชักแบบหัวเราะ (Gelastic seizure) เป็นอาการชักชนิดหนึ่ง ซึ่งพบไม่บ่อย เกิดได้ตั้งแต่เด็ก

มักจะเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของสมองส่วนไฮโปธาลามัส ลักษณะคล้ายเนื้องอก เรียกว่า hypothalamic harmatoma อุบัติการณ์ของอาการชักแบบหัวเราะที่เกิดจาก Hypothalamic harmatoma ในการศึกษาต่างประเทศ พบประมาณ 1 ต่อ 2 แสนในประชากรอายุน้อยกว่า 20 ปี อาการชัก มักจะเริ่มในขวบปีแรก แต่บางรายอาจจะเริ่มอาการในช่วงเด็กโตได้

“ลักษณะคือหัวเราะแบบไม่มีเหตุผล เป็นพักๆ เสียงหัวเราะไม่ได้เกิดจากความขบขัน หรือมีความสุข ในเด็กโตบางครั้งอาจจะสามารถบอกว่ามีสัญญาณเตือนก่อนมีอาการหัวเราะได้ เช่น ความรู้สึกแปลกๆ เป็นต้น อาการชักแบบหัวเราะ มักจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 30-45 วินาที และอาจจะตามด้วยอาการชักแบบอื่นๆได้ เช่น เหม่อไม่รู้ต้ว เกร็งกระตุกทั้งตัว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาการชักแบบหัวเราะ ยังอาจจะพบเกิดจากพยาธิสภาพส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากไฮโปธาลามัสได้เช่นกัน ได้แก่ สมองส่วนหน้า ส่วนขมับ เป็นต้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการหัวเราะดังกล่าวอาจจะสับสนกับอาการพฤติกรรมผิดปกติ ในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ สมาธิสั้น หรือ ออทิสติกร่วมด้วย ทำให้การวินิจฉัยล่าช้าได้

สิ่งที่สำคัญของการวินิจฉัย คือการสังเกตอาการของเด็กจากบุคคลใกล้ชิด หรือการถ่ายวีดีโออาการดังกล่าวเมื่อมาปรึกษาแพทย์ จะช่วยในการวินิจฉัยได้ การตรวจวินิจฉัยที่สำคัญ คือการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อวินิจฉัยแยกอาการชักหรือไม่ใช่อาการชัก และการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และเน้นบริเวณ hypothalamus เพื่อหาความผิดปกติของเนื้อสมองบริเวณไฮโปธาลามัส หรือตำแหน่งอื่นๆที่อธิบายอาการชักได้ชัดเจน

การรักษาอาการชัก เริ่มต้นด้วยการใช้ยากันชักที่รักษาอาการชักชนิดเฉพาะที่ อย่างไรก็ตาม โรคลมชักที่เกิดจาก hypothalamic harmatoma มักจะคุมชักได้ยากแม้จะใช้ยากันชักหลายชนิด ดังนั้น การรักษาที่เหมาะสมคือการผ่าตัดเอาเนื้อสมองส่วน harmatoma ออก ซึ่งเป็นการผ่าตัดสมองในส่วนลึกและผ่าตัดยาก ถือเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน แต่สามารถทำให้โรคลมชักหายขาดได้เมื่อผ่าตัดสำเร็จ

นอกจากนี้ อาจจะใช้รังสีรักษาเฉพาะที่ แต่ไม่ค่อยพิจารณาทำในเด็ก ในเด็กที่มี hypothalamic harmatoma อาจพบภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย หรือความผิดปกติของฮอร์โมนอื่นๆร่วมด้วย เนื่องจากความผิดปกติของสมองส่วน hypothalamus จะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ดังนั้นการรักษาโรคนี้ จึงต้องติดตามภาวะฮอร์โมนที่ผิดปกติร่วมด้วยเสมอ