โอมิครอนกลายพันธุ์ตัวใหม่ BQ.1.1 เหลน BA.5 แพร่ไวมาก 1 ต.ค.ปิดศูนย์บางซื่อไปสถาบันโรคผิวหนัง

ปลัด สธ.ยันหลัง 1 ต.ค. ยังจัดฉีดวัคซีนต่อเนื่อง ที่โรงพยาบาลประจำท้องถิ่นหรือศูนย์ฉีดที่เคยมี เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม 608 ควรมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ฟรี ส่วนในกรุงเทพฯ สำนักอนามัย กทม.ยืนยันไม่ปิดศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ดินแดง แถมเพิ่มให้บริการวันเสาร์-อาทิตย์ ต่างจากศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ย้ำปิดให้บริการฉีดวัคซีน 30 ก.ย.นี้แน่นอน แล้วเปิดใหม่เป็นศูนย์ฉีดขนาดเล็กที่ตึกสถาบันโรคผิวหนัง ตึกใหม่ ถนนราชวิถี ลงทะเบียนฉีดทุกวันเสาร์ตลอด ต.ค. ด้านศูนย์จีโนมฯระบุโอมิครอนกลายพันธุ์มาใหม่เป็นระดับเหลนของ BA.5 ได้ชื่อ BQ.1.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่แพร่ระบาดรวดเร็วที่สุดในโลกในขณะนี้พบทั่วโลกแล้ว 78 คน ยังไม่พบในไทย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทยดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเข้า รพ.รายใหม่ 607 คน หายป่วยเพิ่ม 745 คน อยู่ระหว่างรักษา 8,083 คน อาการหนัก 516 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 255 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตต่ำสิบได้วันเดียวกลับมาเพิ่มอีก 14 คน ทำให้ตั้งแต่ปี 2563 มียอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 4,677,697 คน หายป่วยสะสม 4,636,908 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 32,706 คน ขณะที่เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เพิ่ม 20,284 โดส จำแนกเป็นเข็มที่ 1 2,914 คน เข็มที่ 2 4,451 คน และเข็มที่ 3 12,919 คน

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลัง 1 ต.ค.นี้ว่า คนต่างจังหวัดยังรับวัคซีนได้อย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ประจำอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือศูนย์ฉีดที่เคยมีอยู่ ทุกอย่างยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน แปลง แม้ว่าเราจะลดระดับโรคโควิด-19 ลงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ขอให้ประชาชนกลุ่ม 608 มารับวัคซีนเพื่อป้องกันและวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งยังให้บริการฟรี

ขณะที่ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง และ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์ฉีดฯจะปิดให้บริการฉีดวัคซีนในวันที่ 30 ก.ย.2565 เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตก็ลดลง เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์ไว้ และในวันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป โรคโควิด-19 จะปรับลดระดับจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ กทม.ยังสามารถไปรับวัคซีนได้ตามที่กรุงเทพมหานครกำหนด รวมถึงโรงเรียนแพทย์สังกัดมหาวิทยาลัย ซึ่งมีประกาศวันฉีดวัคซีนเป็นระยะๆ สำหรับสถาบันโรคผิวหนัง ซึ่งรับผิดชอบศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ และเมื่อศูนย์ปิดแล้วจะไปเปิดศูนย์ฉีดขนาดเล็ก ที่ตึกสถาบันโรคผิวหนัง ตึกใหม่ ถนนราชวิถี ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยจะเปิดรับลงทะเบียนฉีดทุกวันเสาร์ที่ 1, 8, 15, 29 ของเดือน ต.ค. เวลา 09.00-15.00 น. จองคิวฉีดได้ที่ https://covid19.iod.go.th/vaccine  และสามารถวอล์กอินได้หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง เช่น มีวัคซีนรุ่นใหม่เข้ามา และประชาชนมีความ ต้องการฉีดจำนวนมากศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ก็พร้อมกลับมาเปิดให้บริการได้ภายใน 1 วัน

ส่วนของ กทม. พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันที่ 30 ก.ย. กรุงเทพมหานครยังไม่มีนโยบายปิดให้บริการศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ยังคงเปิดให้บริการต่อไปเรื่อยๆ ปัจจุบันให้บริการ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. ล่าสุดได้เพิ่มวันให้บริการฉีดวัคซีนในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น. อีกด้วย เปิดให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับทุกคน ทุกเข็ม โดยเปิดจองผ่านแอป QueQ และรับวอล์กอิน (Walk In) สำหรับวัคซีนมียืนยันเพียงพอให้บริการ ทั้งนี้ ตามแผนงานที่วางไว้จะเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 31 ต.ค.นี้ และอาจจะขยายเวลาต่อไปเรื่อยๆขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน และหากประชาชนสามารถเข้าถึงศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ได้มากขึ้นและจำนวนที่รับบริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 อาคารกีฬาเวสน์ลดลงอาจจะมีการพิจารณายกเลิกศูนย์แห่งนี้ก็ได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยืนยันยังคงเปิดให้บริการต่อไป

พญ.ป่านฤดีกล่าวว่า สำหรับยอดสะสมการฉีดวัคซีน กรุงเทพมหานคร วันที่ 28 ก.พ.2564 ถึงวันที่ 21 ก.ย.2565 ฉีดสะสม 27,821,059 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 10,001,985 โดส ครอบคลุมร้อยละ 118.91 เข็มที่ 2 จำนวน 9,318,704 โดส ครอบคลุมร้อยละ 110.78 เข็มที่ 3 จำนวน 5,983,304 โดส ครอบคลุมร้อยละ 70.03 เข็มที่ 4 จำนวน 2,284,640 โดส ครอบคลุมร้อยละ 27.14 เข็มที่ 5 จำนวน 316,844 โดส ครอบคลุมร้อยละ 3.77 เข็มที่ 6 จำนวน 5,582 โดส ครอบคลุมร้อยละ 0.07

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อมูลว่า ในระหว่างที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังติดตามเฝ้าระวังการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 ที่พบระบาดในอินเดียประเทศแรก และแพร่ไปทั่วโลกโดยเข้ามาแทนที่ BA.5 และ BA.4.6 อย่างช้าๆ ก็สามารถตรวจพบโอมิครอนรุ่นเหลนของ BA.5 ตัวใหม่ในประเทศอังกฤษ มีชื่อว่า BA.5.3.1.1.1.1(.1) หรือ BQ.1.1 ที่มีการกลายพันธุ์เกินหน้าและมีแนวโน้มอาจมาแทนที่ BA.5 โดยผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกพุ่งความสนใจไปที่ BQ.1.1 มากที่สุด เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษตรวจพบตัวอย่างแรกวันที่ 26 ส.ค.2565 ล่าสุดวันที่ 22 ก.ย. พบในฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID แล้ว 28 คน ทั้งโลกพบแล้ว 78 คน เรียงตามจำนวนตัวอย่างที่พบคือประเทศ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อิตาลี เดนมาร์ก เบลเยียม ญี่ปุ่น ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ยังไม่พบในไทย

ศูนย์จีโนมฯ ระบุด้วยว่า โอมิครอน BQ.1.1 ซึ่งเป็นเหลนของ BA.5 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดมากกว่า BA.5 ประมาณ 5.3 เท่า (531%) และมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด มากกว่า BA.2.75.2 ประมาณ 3.2 เท่า (327%) ถือได้ว่าเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดรวดเร็วที่สุดในโลกในขณะนี้ ส่วนอาการความรุนแรงของการติดเชื้อยังไม่พบความแตกต่างจาก BA.5 อย่างมีนัยสำคัญ