ในหลวง ร.9 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

หนึ่งในภาพคุ้นตาที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศคือ ภาพของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพกแผนที่ไปด้วยทุกหนทุกแห่ง “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงต่อแผนที่ด้วยพระองค์เองในสำนักงานส่วนพระองค์ แผนที่ที่ทรงใช้มีขนาดใหญ่กว่า 53×55 ซม. ซึ่งเป็นขนาดโดยประมาณของแผนที่ 1 ต่อ 50,000 ที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร ปกติแผ่นหนึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 700 ตารางกิโลเมตร แต่พื้นที่เสด็จฯมักกว้างกว่านั้นมาก พระปรีชาสามารถในด้านแผนที่ล้วนสั่งสมมาจากประสบการณ์การใช้แผนที่ต่อเนื่องยาวนาน ทรงเริ่มใช้ตั้งแต่เสด็จเยี่ยมราษฎรทางภาคอีสาน ในปี 2498

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

คงไม่มีที่ไหนในโลกอีกแล้วที่พระมหากษัตริย์จะออกไปแล้วประชาชนมานั่งเล่าถึงความทุกข์ให้ฟัง แล้วพากันไปดูจนถึงหลังบ้าน ในแต่ละปี “ในหลวง รัชกาลที่ 9” เสด็จออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจราว 500-600 ครั้ง รวมระยะทาง 25,000-30,000 กิโลเมตร ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรนั้น “ในหลวง รัชกาลที่ 9” จะทรงเป็นกันเองอย่างมากกับประชาชน ทรงแทนพระองค์เองว่า “ฉัน” จะทรงพอพระทัยมากหากได้ฟังข้อมูลจากปากของราษฎรเอง ผู้ตามเสด็จฯต่างทราบดีว่าจะโปรดมากถ้าทรงพบราษฎรที่รู้ข้อมูลในหมู่บ้านดี บางคราวประทับกับพื้น จะทรงชวนคุยเรื่องทั่วๆไปก่อน จนเมื่อชาวบ้านเกิดความสบายใจแล้ว จึงค่อยๆขยับไปถามถึงการทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนปัญหาทุกข์ยากของพวกเขา

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

“ที่สบายๆนั้นไม่ค่อยเสด็จฯหรอกครับ เพราะที่สบายๆนั้นไม่มีปัญหา ส่วนมากจะเสด็จฯไปในที่ที่มีปัญหา คือที่ที่ทุรกันดารที่สุด”…“ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ตามเสด็จฯมาต่อเนื่องหลายทศวรรษ

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

มีอยู่ครั้งหนึ่งนอกจากหนทางเสด็จฯจะทุรกันดารเป็นหลุมเป็นบ่ออย่างที่ทรงเรียกว่าทางดิสโก้แล้ว ผู้นำเสด็จฯยังนำหลงทางอีกด้วย จน “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ต้องทรงนำทางผู้นำเสด็จฯแทน และแม้พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า หนทางข้างหน้าเริ่มมืดมิด แต่เมื่อทรงมุ่งมั่นแล้วก็ไม่ทรงคำนึงถึงความยากลำบากเลย

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

“…ไปถึงจุดก็มืดค่ำแล้ว รถไปถึงแล้วต้องทรงพระ ดำเนินอีกเป็นกิโลสองกิโลท่ามกลางความมืด ไปเจอบ้านชาวบ้านมีรั้วลวดหนามกั้น ผมจำได้ว่าเป็นรั้วลวดหนามที่ค่อนข้างสูง ก้าวข้ามไม่ได้ ต้องใช้มือดึงรั้วขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงลอดรั้วลวดหนาม คิดดูสิครับ มีพระเจ้าแผ่นดินที่ไหนที่ต้องมาลอดรั้วลวดหนามเพื่อมาช่วยเหลือราษฎร แล้วท่านยังหันมารับสั่งกับผมว่า อธิบดีอย่าลืมซ่อมรั้วให้เขาด้วยนะ…” หนึ่งในความประทับใจที่ถูกถ่ายทอดผ่านความทรงจำขององคมนตรี “สวัสดิ์ วัฒนายากร”

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

การเสด็จฯย่ำพระบาทไปทั่วทั้งแผ่นดิน เพื่อทรงรับฟังความทุกข์ของประชาชนจากปากคำของประชาชน ถึงบ้านของประชาชน คือภาพตราตรึงของ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนัก” ใช้ชีวิตสมถะ และใกล้ชิดราษฎร “พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถ บพิตร” มิเพียงแต่จะทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อ ความผาสุกของปวงประชา แต่ยังทรงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ประชาชนชาวไทยลุกขึ้นทำหน้าที่ต่อประเทศชาติและแผ่นดิน…“คนทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ แม้เป็นเด็กก็มีหน้าที่อย่างเด็ก…ทุกบุคคล จะเป็นพ่อค้าวาณิช เกษตรกร กษัตริย์ หรือสมณะ ต้องทำหน้าที่ทั้งนั้น”

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

ทรงได้รับการยกย่องในฐานะ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก” โดยทรงทำให้ดูด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์มาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ ไม่เคยมีวันใดที่ว่างเว้นจากการทำหน้าที่ และไม่เคยมีวันใดที่จะไม่คำนึงถึงประโยชน์สุขของคนไทย.