5 จังหวัดใต้อ่วม บุคลากรทางการแพทย์ “ยะลา” เริ่มท้อ สถานการณ์ดิ่งเหว ป่วยติดเชื้อล้นรพ.

นายกฯตู่ปลื้ม สธ.จัดฉีดวัคซีนได้รวดเร็ว มั่นใจบรรลุตามเป้าหมาย ฉีดได้ 100 ล้านโดสในสิ้นปีนี้ รับแผนเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ แต่สวนดุสิตโพลชี้คนยังไม่ค่อยเห็นด้วย นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไม่ต้องกักตัว หวั่นนำเชื้อเข้าประเทศทำยอดป่วยทะลักกว่าเดิม ติดเชื้อรายวันยังทะลุเกินหมื่น-ตายต่อเนื่อง มีเด็ก 8 ขวบรวมด้วย ด้านปลัด สธ.ให้เวลา 2 สัปดาห์ 17 จังหวัดสีฟ้าที่จะนำร่องเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวจากนอกประเทศ ส่วน 5 จังหวัดใต้อ่วมต่อเนื่อง บุคลากรทางการแพทย์ยะลาถึงกับโพสต์ตัดพ้อเริ่มท้อสถานการณ์ดิ่งเหว ป่วยติดเชื้อล้น รพ.แต่ประชาชนกลับเมินป้องกันตัวเอง ขณะที่ญาติร้องสื่อคาใจหนุ่มแพร่ต้องดูแลเมียป่วยอัมพาตกลับมาดับหลังฉีดสูตรไขว้เข็มแรก

ไทยตะลุยฉีดวัคซีนอย่างหนักเพื่อให้ทันเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยวันที่ 16 ต.ค.วันเดียวฉีดได้กว่า 1 ล้านโดส ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันยังพุ่งเกินหมื่นรายต่อเนื่องเป็นวันที่ห้า แต่ผู้ป่วยเสียชีวิตลดลง

ติดเชื้อใหม่ยังไม่ลด

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,863 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 10,792 คน จากเรือนจำและที่ต้องขัง 64 คน และมาจากต่างประเทศ 7 คน มีผู้หายป่วยเพิ่ม 10,383 คน อยู่ระหว่างรักษา 107,790 คน อาการหนัก 2,820 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 658 คน สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 1,065 คน ยะลา 727 คน สงขลา 650 คน ปัตตานี 647 คน นครศรีธรรมราช 519 คน นราธิวาส 468 คน ชลบุรี 389 คน เชียงใหม่ 360 คน ระยอง 346 คน และสมุทรปราการ 343 คน ยอดผู้ติดเชื้อสะสม ตั้งแต่ปี 2563 รวม 1,783,701 คน หายป่วยสะสม 1,657,638 คน

เสียชีวิตเพิ่ม 68 ศพ

ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 68 ศพ เป็นชาย 39 คน หญิง 29 คน เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 53 คน มีโรคเรื้อรัง 13 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 1 คน อายุ 8 ขวบ ชาวกัมพูชา ที่ จ.สระแก้ว ผู้เสียชีวิต มากที่สุด ยังคงอยู่ใน กทม. 12 คน รวมเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 18,273 คน ขณะที่ยอดฉีดวัคซีน (รวมเข็ม 1-2-3) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. จำนวน 1,063,719 โดส รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 65,202,741 โดส

โอ่ทุกภาคส่วนขานรับเปิด ปท.

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากนายกฯประกาศเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ หลายภาคส่วนเริ่มมีการปลดล็อก ขยายช่วงเวลาการให้บริการ ตอบรับก้าวสำคัญของรัฐ ล่าสุดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ออกประกาศ (ฉบับที่ 7) แจ้งสายการบินปรับเวลางดบินภายในประเทศ 23.00-03.00 น. สอดรับมาตรการลดเวลาเคอร์ฟิว พร้อมปลดล็อกให้มีจำนวนผู้โดยสารได้ตามความจุของเครื่องบินในเที่ยวบินนั้นๆ ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ได้รับกระแสตอบรับดีจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีประชาชนเข้าร่วมเฟส 3 กว่า 6 แสนราย นายกฯยังประกาศผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ นายกฯ ยังพอใจภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ร้อยละ 51 เข็ม 2 ร้อยละ 35 และเข็มที่ 3 ฉีดสะสม 1.8 ล้านราย รัฐบาลมั่นใจว่าจะฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ครอบคลุมคนไทย 50 ล้านคนภายในปี 2564 นายกฯชื่นชมการฉีดวัคซีนที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว

เปิดจองคิวเยียวยารถสาธารณะ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพ ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ อายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ของกรมการขนส่งทางบก จะเปิดให้ลงทะเบียนขอรับสิทธิช่วยเหลือด้วยตัวเอง วันที่ 25 ต.ค.-5 พ.ย. ที่กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่ง กทม. พื้นที่ 1-4 และสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ ผู้รับสิทธิต้องเตรียมเอกสาร ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับรถสาธารณะ บัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ ขอให้จองคิวออนไลน์ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th/ ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.-5 พ.ย.โดยจะจ่ายเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ 2 รอบ รอบที่ 1 วันที่ 8-12 พ.ย. สำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะและรถแท็กซี่ส่วนบุคคล และรอบที่ 2 วันที่ 22-26 พ.ย. สำหรับรถแท็กซี่ที่เช่าขับ

ยังไม่ถึงเวลาเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “เปิดประเทศ 1 พ.ย.64” กลุ่มตัวอย่าง 1,392 คน ระหว่างวันที่ 11-14 ต.ค.พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.10 มองว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว ร้อยละ 39.90 เห็นว่าถึงเวลาแล้ว ขณะที่ปัจจัยที่จะทำให้เปิดประเทศได้ร้อยละ 74.78 ต้องฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชน รองลงมาร้อยละ 69.04 คุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ร้อยละ 68.31 มีความพร้อมทางด้านสาธารณสุข โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ “ข้อจำกัด” ที่ทำให้การเปิดประเทศมีอุปสรรค ร้อยละ 71.60 เห็นว่าประชาชนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน ร้อยละ 70.45 อาจเกิดการระบาดภายใน ประเทศมากขึ้น และร้อยละ 66.11 อาจเกิดการแพร่เชื้อจากกลุ่มที่เดินทางเข้าประเทศ

ห่วงติดโควิดกลับมาพุ่ง

ส่วนผลดีของการเปิดประเทศ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 77.29 เห็นว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 74.74 ประชาชนมีงานทำ/สามารถทำมาหากินได้ และร้อยละ 68.07 สร้างรายได้ให้กับประเทศและในพื้นที่ท่องเที่ยว ส่วนผลเสีย ร้อยละ 83.43 เห็นว่าอาจเกิดการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 74.60 ต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง และร้อยละ 59.55 และภาพรวมประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 ร้อยละ 59.86 กระทบต่อความพร้อมด้านสาธารณสุข เช่น จำนวนเตียง บุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 59.86 ไม่เห็นด้วยกับการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ และร้อยละ 40.14 เห็นด้วย

ต้องป้องกันตัวเองสูงสุด

ต่อมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้แม้จะประกาศผ่อนคลายมาตรการพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 23 จังหวัด เช่น การลดเวลาเคอร์ฟิว มาเป็นเวลา 23.00-03.00 น. และห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารเปิดได้ถึงเวลา 22.00 น.ทำให้ประชาชนกลับเข้าสู่ชีวิตตามปกติมากขึ้น แต่ขอย้ำว่าต้องเป็นการใช้ชีวิตปกติแบบใหม่คือ ยึดมาตรการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาลหรือป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา ขณะที่สถานประกอบการต่างๆ ขอให้ใช้มาตรการความปลอดภัยขององค์กร หรือ Covid Free Setting โดยทำความสะอาด จัดระบบระบายอากาศ เว้นระยะห่าง พนักงานเข้ารับวัคซีนครบโดส และตรวจ ATK ทุก 7 วัน ส่วนผู้รับบริการมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนหรือผลตรวจ ATK จะเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 อย่างปลอดภัย การผ่อนคลายกิจกรรมมากขึ้น อาจทำให้ประชาชนเริ่มวางใจรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม อาจเกิดความเสี่ยงทำให้ติดเชื้อได้ การจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง ทุกคนต้องร่วมมือกันทำทุกมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะ การใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใช้ชุดตรวจ ATK คัดกรองความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมากและต้องปิดกิจการอีก

ให้ 2 วีก 17 จว.สีฟ้าเตรียมตัว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขในการรองรับแผนการเปิดประเทศ ที่ ศบค.ชุดใหญ่ให้ความเห็นชอบ ระยะที่ 1 วันที่ 1-30 พ.ย.จำนวน 17 จังหวัดนำร่องหรือพื้นที่สีฟ้า เช่น กทม. สมุทรปราการ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กระบี่ พังงา ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบ คีรีขันธ์ เทศบาลเมืองชะอำ จ.เพชรบุรี พัทยา อ.บางละมุง ต.จอมเทียน ต.บางเสร่ เกาะสีชัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกาะพยาม จ.ระนอง อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ อ.เชียงคาน จ.เลย อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ฯลฯ โดยการเตรียมความพร้อมจะพิจารณาจากอัตราความครอบคลุมของวัคซีน ให้ได้ร้อยละ 50 ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ศักยภาพการรักษาได้แก่ เตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง อัตราการติดเชื้อรายวันต่อแสนประชากร ซึ่งยังมีเวลาอีกเกือบ 2 สัปดาห์ที่จะทำให้ทั้ง 17 จังหวัดเตรียมความพร้อมให้ได้ตามเกณฑ์

ยึดเกณฑ์ศักยภาพระบบ สธ.

ต่อข้อถามถึงกรณีเปิดประเทศแล้วเกิดการระบาดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขเตรียมแผนควบคุมโรคอย่างไรนั้น นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า เราประเมินว่า การระบาดอาจเกิดขึ้นได้ แต่การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม แม้จะป้องกันโรคไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากเกิดการติดเชื้อขึ้น อาการก็จะน้อย ส่วนคนที่มีอาการรุนแรงก็จะต้องมีเตียงรองรับในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ดังนั้น เกณฑ์การเปิดปิดพื้นที่จะพิจารณาจากศักยภาพของระบบสาธารณสุขเป็นหลัก เพราะถึงแม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่อาการไม่รุนแรงก็ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ก็ถือว่าระบบสาธารณสุขเรารองรับได้

แจงโมเดอร์นา 555 บาท

วันเดียวกัน องค์การเภสัชกรรมชี้แจงกรณีข่าวหน่วยงานเปิดจองวัคซีนโมเดอร์นา ราคา 555 บาท ในขนาดความแรง 50 ไมโครกรัมต่อโดสว่า องค์การฯจำหน่ายวัคซีนโมเดอร์นาให้กับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในขนาดความแรง 100 ไมโครกรัมต่อโดส ทั้งนี้ การรับวัคซีนจะเป็นไปตามหลักสากลและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญร่วมกับข้อมูลที่ได้จากบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 40.14 เห็นด้วย

กทม.เริ่มฉีดไฟเซอร์ ม.ต้น

ขณะที่นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียนที่มี อายุ 12-18 ปี ในโรงเรียนสังกัด กทม. และสังกัดอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า มีนักเรียนประสงค์รับวัคซีน 33,048 คน จากทั้งหมด 37,466 คน คิดเป็นร้อยละ 88 ที่ประสงค์รับวัคซีน จำแนกเป็นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3,796 คน ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เมื่อวันที่ 4 ต.ค. จำนวน 3,284 คน คิดเป็นร้อยละ 87 สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 29,252 คน มีแผนจะฉีดวัคซีนในวันที่ 18-20 ต.ค.นี้ เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนต่อไป

ยะลายังอ่วม-เร่งฉีดวัคซีน

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทั่วประเทศที่ต่างเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างเต็มกำลัง โดยที่ จ.ยะลา นายภิรมย์ นิลทยา ผวจ.ยะลา และนายก้องสกุล จันทราช ปลัดจังหวัดยะลา มาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 ให้กับประชาชนที่ลงทะเบียน และระบบวอล์กอินที่โรงเรียนบ้านบาโงยซิแน อ.ยะหา ด้านนายอาแซ กาเซ็ง สาธารณสุขอำเภอยะหา เปิดเผยว่า วันนี้เปิดจุดบริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 ให้กับประชาชน 2 จุด ที่โรงเรียนบ้านบาโงยซิแน และที่ สสอ.ยะหา มีเป้าหมาย 800 คน ขณะที่ภาพรวมการแพร่ระบาด สสจ.ยะลา ระบุพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 730 คน ยึดตำแหน่งผู้ป่วยสูงสุดในประเทศรองจาก กทม.ติดต่อกันอีกวัน โดย 3 อำเภอพบผู้ติดเชื้อมากสุดได้แก่ อ.เมืองยะลา 292 คน ตามด้วย อ.เบตง 141 คน และ อ.ยะหา 134 คน ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 3 ศพ เป็นชาย วัย 44 ปี ต.สะเตงนอก อ.เมือง ชาย อายุ 43 ปี และหญิง อายุ 75 ปี อ.ธารโต ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 231 ศพ

บุคลากรการแพทย์เริ่มท้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ยะลา ส่งข้อความเปิดใจในเฟซบุ๊กส่วนตัวกำลังท้อถอยว่า “รพ.ยะลากำลังถูกจู่โจมทุกทาง 1.คิวรอ swab ยาวเหยียด เต็นท์นั่งรอแน่นทุกวันจนตรวจไม่หมด 2.เปิดหน่วยรับ ATK+ จากบ้านเพิ่ม คนแห่กันมาแน่นทั้งวัน เลิก 2 ทุ่ม 3.ลดห้องผ่าตัดลง เพื่อหมุนคนไป รพ.สนาม ทำเฉพาะ case เร่งด่วนและจำเป็น แต่ละวันมี case ที่ไม่ได้ผ่าตัดเกือบ 20 cases 4.ควบรวมหอผู้ป่วยปกติ เพื่อดึงคนไปดูแลโควิด จนเตียงปกติล้น หาที่ admit กันจ้าละหวั่น 5.คนไข้อาการหนักห้องฉุกเฉิน หา ICU ไม่ได้ เพราะเต็มทุกที่ เคลียร์เตียง 4-5 ชม.ในขณะที่ case ส่งต่อจากชุมชนก็ส่งเข้ามาเรื่อยๆ

ป่วยล้น รพ.-คนเมินป้องกัน

6.จนท. lab covid ขึ้นเวรจนทรุดโทรม รถ x-ray mobile film คนไข้ รพ.สนาม 6 แห่ง (เปิดเพิ่มเมื่อวาน 1 แห่ง กำลังเร่งเปิดอีก 2 แห่ง) Hospitel 1 แห่ง, CI อีก 4 แห่ง และยัง film ให้ รพช.ใกล้ๆด้วย 7.รถรับคนไข้โควิดจากบ้านไป รพ.สนาม วิ่ง 10+เที่ยว เที่ยวสุดท้าย รพ.สนามคือ 3 ทุ่มครึ่ง ตัวเองเคยรับ case สุดท้าย 23.15 น. ก็เคยมาแล้ว 8.หน่วยซักฟอก มีผ้า ชุดคนไข้ รพ. รพ.สนาม กองเท่าภูเขา จนชุดคนไข้ไม่พอใช้ 9.case หนักใส่ท่อช่วยหายใจ มีเสียชีวิตเกือบทุกวัน จนโลงศพ เริ่มขาดแคลน 10.จนท.ขึ้นเวร ควงเวร ออกหน่วยวัคซีน ออกหน่วย swab สอบสวนโรค ไป รพ.สนาม และ hospitel แทบไม่ได้พัก ในขณะที่มี จนท.ติดเชื้อ หรือโดนกักตัว “ร้านน้ำชา ชาบู ตลาดคนยังแน่นใส่ mask ใต้คาง เปิด mask คุยกัน ไม่เว้นระยะห่าง ชวนฉีดวัคซีนก็ปฏิเสธ พวกเราอาจรับมือภาวะแบบนี้ ไม่ได้นาน โชคดีทุกคน”

สะเทือนใจลูกกราบส่งศพแม่

ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 618 คน ครบทั้ง 23 อำเภอ และมีผู้เสียชีวิต เพิ่มอีก 8 ศพ เป็นชาย 4 คน หญิง 4 คน อายุ 52-86 ปี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 ต.ค. เกิดภาพสะเทือนใจซ้ำอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ อ.ทุ่งใหญ่ เข้าจัดการบรรจุศพนางชิน โมฬี อายุ 80 ปี ที่ รพ.ทุ่งใหญ่ หลัง เข้ารักษาตัวเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ด้วยโรคมะเร็ง และติดเชื้อโควิด-19 ได้เพียงวันเดียวก็เสียชีวิต ทำให้ลูกๆ และเครือญาติโศกเศร้าเสียใจอย่างมาก โดยขณะที่ เจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ เตรียมเคลื่อนย้ายร่างนางชินไปทำพิธี ฌาปนกิจศพที่วัดท่ายาง ทางลูกๆและญาติสนิทได้บอกกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ ขอก้มกราบลาแม่เป็นครั้ง สุดท้าย ขณะที่ร่างบรรจุอยู่ในโลงศพวางอยู่บนรถเข็น แบบเตียงนอนท้ายรถกู้ภัยด้วยความอาลัย เป็นอีก ภาพที่สะเทือนใจทั้งญาติๆ และเจ้าหน้าที่กู้ภัย เมื่อถึง วัดท่ายาง และพระปลัดราชันย์ ปสนฺนจิตฺโต เจ้าอาวาส พร้อมพระลูกวัดสวดทำพิธีก่อนจะเผา โดยมีลูกๆและเครือญาติร่วมกรวดน้ำส่งดวงวิญญาณได้แต่มองดูอยู่ห่างๆ ด้วยความโศกเศร้าเสียใจ นางอุไรวรรณ จำนงจิต อายุ 46 ปี ลูกสาวผู้เสียชีวิต กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า รู้สึกเสียใจ พูดอะไรไม่ออก บอกได้อย่างเดียวว่า เสียใจมาก รับไม่ค่อยได้กับเรื่องนี้คือเรื่องที่มีคนตาย กับเชื้อโควิด-19 ตายแล้วแม้แต่คนในบ้านก็ไม่สามารถเห็นหน้าได้

ตลาดเมืองใหม่ติดเชื้อพุ่ง

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ที่ จ.เชียงใหม่ ที่ยังพบผู้ติดเชื้อโยงคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ อ.เมือง เชียงใหม่ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 172 คน ทำให้คลัสเตอร์นี้ มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 924 คน กระจายไป 10 คลัสเตอร์ย่อยในหลายอำเภอทั้งแม่แจ่ม สันทราย แม่แตง ฝาง หางดง ฮอด แม่ริม และสันป่าตอง ซึ่งนอกจากเทศบาล นครเชียงใหม่จะปูพรมตรวจหาเชื้อทั้งวิธี Swab และตรวจด้วย ATK วันละหลายพันคนแล้ว ศูนย์บริหาร วัคซีนโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดสรรวัคซีนสำหรับฉีดให้ทุกคนในตลาดเมืองใหม่อีก 4,000 โดส

หนุ่มแพร่ดับหลังฉีดเข็มแรก

นอกจากนี้ ที่บ้านโป่งศรี ต.บ้านถิ่น อ.เมือง แพร่ จ.แพร่ ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากนางอัมพร ขยันการ อายุ 64 ปี พี่สาวนายสมบูรณ์ โป่งเป้า อายุ 57 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไปว่า น้องชายเสียชีวิต หลังไปฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 ที่หอประชุมโรงเรียน ถิ่นโอภาสวิทยา ต.บ้านถิ่น อ.เมืองแพร่ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ก่อนฉีดน้องมีโรคถุงลมโป่งพอง แต่มีร่างกายแข็งแรง ทำงานรับจ้างหาเลี้ยงครอบครัว รวมถึงภรรยาป่วยเป็นอัมพาตที่อยู่คนละบ้าน เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว น้องชายมีอาการเซื่องซึม กระทั่งวันที่ 16 ต.ค. เวลา 21.30 น. ขณะที่น้องชายอยู่บ้านคนเดียว เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันได้ยินเสียงนายสมบูรณ์เคาะประตูบ้านอย่างเสียงดัง จึงแจ้งให้ญาติๆไปดู เมื่อเปิด ประตูบ้านเข้าไปพบน้องชายนอนหมดสติ ที่หน้าประตู จึงให้รถกู้ชีพเทศบาลตำบลบ้านถิ่นนำส่ง รพ.แพร่ แต่คาดว่าน้องน่าจะเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในบ้านแล้ว เชื่อว่าการเสียชีวิตของน้องชายในครั้งนี้ต้องเกิดจากการฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาเยียวยาด้วย

ตั้ง “ณัฐพล” ดูแลโควิด 4 จชต.

ต่อมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจา นุเบกษาเผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 21/2565 เรื่องจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเนื้อหาสรุปว่า เพื่อให้การบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการแพร่ระบาดโควิด ให้จัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โรควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หมายความถึงจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และอาจรวมพื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมดของจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ กำหนดแนวทางบูรณาการประสานงาน ขับเคลื่อนเร่งรัดติดตามการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.เป็นต้นไป