NASA ตรวจสัญญาณค้นพบ ดาวเคราะห์ดวงแรกนอกกาแล็กซี ห่างทางช้างเผือกประมาณ 28 ล้านปีแสง

กล้องโทรทรรศน์อวกาศของนาซา ตรวจเจอสัญญาณความเป็นไปได้ว่าจะค้นพบ ดาวเคราะห์ดวงแรกนอกกาแล็กซีของเรา เชื่อว่าอยู่ในกาแล็กซีน้ำวน ห่างจากกาแล็กซีทางช้างเผือกประมาณ 28 ล้านปีแสง

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวบีบีซี รายงานว่า นักดาราศาสตร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Aeronautics and Space Administration-NASA) เปิดเผยความคืบหน้าของการศึกษาสำรวจหาดาวเคราะห์นอกกาแล็กซีทางช้างเผือก ล่าสุดกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอ็กซ์จันทรา (Chandra X-Ray Telescope) ของนาซา ตรวจพบสัญญาณการมีอยู่ของดาวเคราะห์ดวงแรกที่อยู่ไกลโพ้นออกไปนอกทางช้างเผือก 

นักดาราศาสตร์ระบุว่า ที่ผ่านมามีการค้นพบดาวฤกษ์ และหลุมดำ ตลอดจนดาวเคราะห์มากกว่า 5,000 ดวงที่อยู่นอกระบบสุริยะของเรา และโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงอื่น แต่ทั้งหมดนี้เป็นดาวเคราะห์ที่จัดอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก หรือกาแล็กซีเดียวกับระบบสุริยะของเรา แต่เรายังไม่เคยค้นพบหลักฐานการมีอยู่ของดาวเคราะห์นอกทางช้างเผือกมาก่อน 

รายงานข่าวระบุว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจจะอยู่ในกาแล็กซีน้ำวน (Messier 51) ดาราจักรชนิดก้นหอย ที่อยู่ห่างจากทางช้างเผือกประมาณ 28 ล้านปีแสง โดยเป็นการใช้วิธีวัด “การเคลื่อนผ่านหน้า” (Transit Method) เมื่อดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ดวงแม่ แสงสว่างจากดาวฤกษ์จะมืดมัวลงชั่วขณะอย่างเป็นรูปแบบ ซึ่งเป็นวิธีที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) มากที่สุด 

โดยนักดาราศาสตร์ระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ทำให้เชื่อว่า วัตถุที่มีขนาดใหญ่เท่าดาวเคราะห์นี้ น่าจะอยู่ในระบบดาวคู่ (binary system) หมายความว่ามีการโคจรวนรอบดาวฤกษ์สองดวงที่เป็นศูนย์กลาง 

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ระบุว่า จะต้องใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายสิบปีเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ เพราะหากวัตถุที่พบเป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์จริง จะต้องกลับมาปรากฏในจุดเดิมที่เคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์อีกครั้ง อาจเป็นอีก 30-70 ปีข้างหน้า.

ที่มา : BBC