กรมทรัพยากรธรณี ยืนยัน!! ไม่พบโปรตีนจากร่างกายมนุษย์ใน “พระธาตุ” ครูบาฉ่าย สวทช. ชี้!! เป็น “ซิลิกาเจล”

กรมทรัพยากรธรณี ยืนยัน ไม่พบโปรตีนจากร่างกายมนุษย์ ในพระธาตุ “ครูบาฉ่าย” ตามที่ลูกศิษย์อ้าง

จากกรณีที่ ครูบาฉ่าย วัดป่าแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี อ้างว่านั่งอยู่เฉยๆ เหงื่อก็ออกมาเป็นเม็ดสีเล็กๆ วิบวับ ลูกศิษย์ลองเอามือลูกตัวเนื้อตัว ก็มีเม็ดสีเหล่านั้นติดมือออกมา ไปล้างมือก็มีเม็ดสีหลุดออกมาจากร่างกาย เชื่อว่าเป็นเม็ดพระธาตุ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เจ้าอาวาสวัดดังกล่าว ก็อยากให้นำไปพิสูจน์เช่นกัน ว่าคืออะไร ในขณะนั้นครูบาฉ่าย ยืนยันว่า ไม่เชื่อว่าเป็นพระธาตุอะไร น่าจะเป็นรังแคมากกว่า

จากนั้นได้อนุญาตให้ อาจารย์อ๊อด รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำไปตรวจที่ห้องแล็บ โดยผลการตรวจยืนยันทางวิทยาศาสตร์พบว่า เป็นเม็ดพลาสติกซึ่งไม่ใช่พระธาตุนั้น

ล่าสุดวันที่ 15 ก.ค. 2566 คณะศิษย์ที่พักสงฆ์วัดป่า ได้แถลงชี้แจงผลตรวจสสารที่ออกมาจากร่างกายของพระครูบาฉ่าย หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “พระธาตุ” ซึ่งหมายถึงธาตุ 4 ในร่างกายมนุษย์ ที่สวนฉัตรรวีวัฒน์ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ โดยการนำผลการทดลอง และผลจากการส่งตรวจ ที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ,สำนักงานปรมาณูแห่งชาติ ,กรมทรัพยากรธรณี ,กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสถาบันอัญมณีแห่งชาติ(git) พบว่าเม็ดสสารนั้นมีองค์ประกอบจากสิ่งมีชีวิตอยู่

และเมื่อคณะศิษย์ตรวจพบสารสำคัญ คือในเม็ดสสารมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกับเส้นผมของมนุษย์ โดยสามารถตรวจพิสูจน์ได้ด้วยความรู้พื้นฐานในการตรวจโปรตีนทั่วไป ด้วยคอปเปอร์ซัลเฟต และโซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งหักล้างผลตรวจของอาจารย์ อ๊อด ที่ให้ข่าวว่า พระธาตุจากวัดนี้ เป็นเม็ดพลาสติกโดยสิ้นเชิง

โดยคณะศิษย์ได้ทดสอบเปรียบเทียบกับเม็ดพลาสติกสารกันชื้นเรซิ่น ที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาดแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะไม่มีโปรตีนจากการตรวจพิสูจน์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ทางคณะศิษย์ฯ ไม่ได้ต้องการเอาชนะใคร หรือนำเอาผลตรวจที่ได้ไปอวดอ้างอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่ผิดต่อหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่การพิสูจน์ครั้งนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของสสารที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เองตามธรรมชาติเท่านั้น

ล่าสุด กรมทรัพยากรธรณี ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ขอชี้แจงข้อเท็จจริงจากผลการตรวจวิเคราะห์เคมีทางวิชาการพบว่า ไม่พบมีสารประกอบของโปรตีนในตัวอย่างที่ทำการวิเคราะห์แต่อย่างใด

รายละเอียดเรื่องนี้พบว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ตัวแทนคณะศิษย์ที่พักสงฆ์วัดป่าบ่อน้ำพระอินทร์ ได้นำตัวอย่างเม็ดกลมสีแดงคละขนาด ตั้งแต่เล็กกว่า 2 มม. จนถึง ประมาณ 2 มม. เดินทางมาขอรับบริการตรวจสอบวัตถุดังกล่าวที่กรมทรัพยากรธรณี

กรมทรัพยากรธรณี ขอชี้แจงข้อเท็จจริงจากผลการตรวจวิเคราะห์เคมีทางวิชาการพบว่า ไม่พบมีสารประกอบของโปรตีนในตัวอย่างที่ทำการวิเคราะห์แต่อย่างใด

กรมทรัพยากรธรณีได้ตรวจสอบทางวิชาการ ตัวอย่างดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ ( XRD และ micro XRF) โดยผลการวิเคราะห์พบเป็นสารประกอบที่ไม่มีรูปผลึกมีธาตุซิลิกอนและออกซิเจน เป็นองค์ประกอบ และเมื่อเผาตัวอย่างที่อุณหภูมิ 700 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที ผลการวิเคราะห์พบโซเดียมซัลเฟตเป็นส่วนประกอบ

จึงสรุปได้ว่า ผลการตรวจสอบของกรมทรัพยากรธรณี ไม่ได้มีการรายงานว่า พบโปรตีนในตัวอย่างแต่อย่างใด

ขณะที่เฟซบุ๊ก NSTDA – สวทช. ระบุว่า ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ขอชี้แจงในกรณีที่มีลูกค้าได้นำตัวอย่าง เป็นเม็ดสีชมพูใสมาให้ทดสอบ ทางห้องปฏิบัติการได้นำไปทดสอบด้วยเทคนิคทางด้านเอ็กซเรย์ (EDXRF) และเทคนิค FTIR พบว่า ในตัวอย่างมีธาตุซัลเฟอร์ และธาตุซิลิคอนเป็นองค์ประกอบ และจากสเปคตรัม เมื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลแล้ว ผลที่ได้ตรงกับลักษณะของซิลิกาเจล

ดังนั้น การเผยแพร่ข่าวอ้างถึงผลพิสูจน์  “พระธาตุ” จาก สวทช. พบโปรตีนในสสาร จึงไม่เป็นความจริง