“กรมสมเด็จพระเทพฯ” เสด็จฯไปทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ “ปราสาทสด๊กก๊อกธม” แหล่งอารยธรรมเขมรบนแผ่นดินไทย

“ปราสาทสด๊กก๊อกธม” เทวสถานในศาสนาฮินดูแบบไศวนิกาย ในรูปแบบศิลปะเขมรในประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองหญ้าแก้ว ต.โคกสูง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทแห่งนี้ ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง วางผังตามแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก มีคติการสร้างเป็นการจำลองมณฑลพระศิวะ ซึ่งมีเขาไกรลาส อันเป็นที่ประทับของพระศิวะ เป็นศูนย์กลาง มีปราสาทประธาน ยกสูงบนฐานเป็นชั้น เปรียบเสมือนเขาไกรลาส และทางดำเนินที่มุ่งเข้าหาปราสาทประธานเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ที่เป็นที่ประทับของเทพเจ้า

สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย ปราสาท ซุ้มประตู และกำแพง ก่อด้วยศิลาทราย สระน้ำขนาดใหญ่ หรือบาราย สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยอุทิศถวายพระศิวะมหาเทพในศาสนาฮินดู มีอายุกว่า 900 ปี เป็นประจักษ์พยานแห่งความสำคัญของพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมเขมร มาสู่สยามประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2478 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมครั้งแรก และกำหนดเขตพื้นที่โบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 15 กันยายน 2540 รวมพื้นที่ 641 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา ต่อมาปี 2538-2553 กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยดำเนินงานทางโบราณคดี และบูรณะปราสาทตามหลักอนุรักษ์ด้วยวิธีอนัสติโลซิส ซึ่งเป็นวิธีประกอบรูปโบราณ สถานขึ้นจากซากปรักหักพังให้กลับมามีสภาพที่รักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด จากนั้นได้จัดสร้างศูนย์บริการข้อมูล และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ร้านค้า ห้องน้ำ ระบบไฟฟ้า ประปา และภูมิทัศน์โดยรอบ

จนกระทั่ง พุทธศักราช 2560 กรมศิลปากรประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติ ศาสตร์ล่าสุด ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งทัศนศึกษา เรียนรู้โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และสถาปัตย กรรมอันวิจิตร ที่สรรสร้างจากภูมิปัญญาและศรัทธาในศาสนาของช่างและชนพื้นถิ่นแต่โบราณกาล

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤษภา คม 2565 ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการภายในศูนย์ บริการข้อมูลปราสาทสด๊กก๊อกธม ก่อนเสด็จฯไปทอดพระเนตรปราสาทสด๊กก๊อกธม และทรงชื่นชมความงดงามของแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของประเทศไทย

นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นเอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย ทรงสนพระทัยประวัติศาสตร์ โบราณคดี อย่างต่อเนื่องตลอดมา

โดยเมื่อปี 2534 ทรงนำคณะครูและนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามาทัศนศึกษาปราสาทสด๊กก๊อกธม และปี 2553 เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นน้ำเกลี้ยง หน้ากำแพงแก้วด้านตะวันออกเฉียงใต้และทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นดินด้านหน้าปราสาทด้านตะวันออก เฉียงเหนือ

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า ในการเสด็จฯครั้งนี้ สมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับฟังบรรยายสรุปเรื่องสหวิทยาการกับปราสาทสด๊กก๊อกธม อาทิ ระบบจัดการน้ำบริเวณพื้นที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม การสืบค้นหาข้อมูลทิศทางน้ำในสมัยโบราณ ธนาคารน้ำใต้ดิน และที่มาของหินทรายที่นำมาสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธม ด้วยความสนพระทัย ในการนี้ทรงรื้อฟื้นสิ่งที่เคยทอดพระเนตรในอดีต และมีความเกี่ยวโยงกับปัจจุบัน ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ที่ทรงศึกษาภาษาตะวันออก โดยทรงเคยอ่านจารึกสด๊กก๊อกธมด้วย นอกจากนี้ ที่ประจักษ์ชัด คือทรงเป็นนักจดหมายเหตุ ทรงเป็นตัวอย่างที่ให้ความสำคัญในการจดบันทึกข้อมูลใหม่ๆ ที่สนพระทัยจากการได้รับการถวายการบรรยายอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะเคยเสด็จฯมาแล้ว ทำให้กรมศิลปากรมีความภาคภูมิใจ มีกำลังใจ และซาบซึ้ง ในพระอัจฉริยะภาพและทรงพระปรีชาสามารถของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้

นายกิตติพันธ์ กล่าวด้วยว่า กรมศิลปากรกำหนดเป้าหมายของการดำเนินงานพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธมให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แหล่งโบราณคดี โบราณสถาน ใน จ.สระแก้ว มีการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรมของไทยและกัมพูชา รวมถึงเพื่อการนันทนาการและการท่องเที่ยวผ่านตัวปราสาทและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงการให้บริการองค์ความรู้ ภายในศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ทำให้ประชาชนได้รับทราบเรื่องราวของปราสาทสด๊กก๊อกธม ทั้งความสำคัญของปราสาทจากการพบศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม ตลอดจนการอนุรักษ์ปราสาทผ่านนิทรรศการสื่อผสม โดยมีป้ายคำบรรยาย หุ่นจำลองสามมิติ สื่อวีดิทัศน์ และการจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมวัฒนธรรมเขมร ที่เชื่อมโยงกับการบูรณะปราสาท

“สด๊กก๊อกธม ผ่านปัญหามามากมายทั้งปรักหักพัง และความเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ รวมถึงจากการสู้รบตามเขตชายแดนไทย-กัมพูชา และมีการกอบกู้ระเบิด ทำให้ปราสาทได้รับความเสียหาย แต่ประเทศไทยให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ และพัฒนาด้วยการขุดค้น ขุดแต่งทางโบราณคดี และได้บูรณะปราสาทจนคืนสภาพใช้เวลามากกว่า 20 ปี จนทำให้วันนี้เราได้สะสมองค์ความรู้เกี่ยวกับปราสาทแห่งนี้ไว้มากมายและพร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยหลังจากนี้กรมศิลปากรจะทำการศึกษา เกี่ยวกับระบบการจัดการน้ำจากบารายเพิ่มเติม เพื่อที่จะนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ พร้อมกันนี้จะร่วมกับ จ.สระแก้ว จัดทำแผนประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว เชิญชวน ประชาชนในพื้นที่ นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และต่างชาติ เข้ามาศึกษาเรียนรู้แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมศิลปะเขมร ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมศิลปากร ย้ำถึงแผนการดำเนินงาน

ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่า อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม นับเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรม ที่ยังคงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของโครงสร้าง มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์อันงดงาม ทรงคุณค่า โดยเฉพาะ “ปราสาทสด๊กก๊อกธม” สถาปัตยกรรมอันวิจิตร จากภูมิปัญญาและความศรัทธาในศาสนาฮินดู ของฝีมือช่างและชนพื้นเมืองโบราณ ที่สร้างสรรค์ขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์

เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆไปได้ศึกษาเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอันงดงามระหว่างเขมรและสยามประเทศ.

ทีมข่าววัฒนธรรม