กองทัพจีน ทดสอบยิงขีปนาวุธแบบความเร็วเหนือเสียง บินโคจรรอบโลก

สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ส ในอังกฤษ รายงานอ้างแหล่งข่าวในวงการข่าวกรองความมั่นคง ว่ากองทัพจีนได้ประสบความสำเร็จอีกขั้น ในการพัฒนาศักยภาพอาวุธความเร็วเหนือเสียง ด้วยการทดสอบยิงขีปนาวุธแบบความเร็วเหนือเสียงขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยที่ตัวมิสไซล์บินโคจรรอบโลก 1 ครั้ง ก่อนตกลงสู่เป้าหมาย แต่พลาดเป้าหมาย เป็นระยะห่างไปประมาณ 32 กิโลเมตร ซึ่งแหล่งข่าวยังระบุด้วยว่าการทดสอบสร้างความประหลาดใจแก่รัฐบาลสหรัฐฯที่ไม่คิดว่าอาวุธรุ่นใหม่ของจีนจะมีขีดความสามารถถึงเพียงนี้แล้ว

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงกลาโหมจีนยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องการทดสอบดังกล่าว แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลรัสเซียและจีนต่างเร่งพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี 2562 จีนได้นำขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ ชื่อรหัสว่าดีเอฟ-17 ออกมาเปิดตัวในงานสวนสนามกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

นอกจากนี้ สื่อรอยเตอร์ยังระบุด้วยว่า อาวุธความเร็วเหนือที่ปรากฏชัดขณะนี้ มีสองรูปแบบคือขีปนาวุธที่จะยิงขึ้นสู่วงโคจรก่อนตกลงสู่เป้ามุมในแนวตั้งกับอาวุธความเร็วเหนือเสียงแบบร่อนที่จะบินในระดับเพดานบินต่ำ และยากต่อการป้องกัน-ยิงสกัดกั้น เนื่องด้วยมีความเร็วกว่ามัค 5 หรือเร็วกว่า 6,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งยังสามารถเปลี่ยนทิศทางการบิน ระหว่างมุ่งสู่เป้าหมาย

ก่อนหน้านี้ ด้านสำนักข่าวเอเอฟพียังรายงานอ้างข้อมูลหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯด้วยว่า กองทัพเกาหลีเหนือก็กำลังเร่งพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงอยู่ด้วยเช่นกัน เป็นขีปนาวุธรุ่น ฮวาซอง-8 ที่ยังมีข้อมูลจำกัด และทราบเพียงว่ามีคุณลักษณะพิเศษเรื่องเชื้อเพลิง ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำมันที่ฐานปล่อย ซึ่งต่างจากขีปนาวุธส่วนใหญ่ ที่ต้องมีการเติมเชื้อเพลิง ณ จุดยิง เพื่อลดความเสี่ยงในการขนย้าย-ขนส่ง

เช่นเดียวกับรัฐบาลรัสเซียที่ถือเป็นชาติชั้นนำ เรื่องการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียง ซึ่งนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เคยประกาศว่าเป็นอาวุธคงกระพัน โดยเมื่อช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบ จรวดความเร็วเหนือเสียงสำหรับติดตั้งบนเรือรบรุ่น ซีร์คอนที่มีความเร็วสูงกว่าความเร็วเสียงถึง 7 เท่า ทั้งยังเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการพัฒนา จรวดเร็วเหนือเสียงคินซาลและอาวุธปล่อยแบบร่อน อวันการ์ด ที่มีความเร็วสูงถึง 33,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง.