คณะผู้เชี่ยวชาญ WHO ออกรายงานยังไม่สามารถสรุปต้นกำเนิดเชื้อ “โควิด-19” ได้ เพราะข้อมูลจากจีนบางส่วนหายไป

คณะผู้เชี่ยวชาญ WHO ออกรายงานยังไม่สามารถสรุปต้นกำเนิดเชื้อโควิด-19 ได้เพราะข้อมูลบางส่วนจากจีนหายไป พร้อมเปิดกว้างรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด และไม่ตัดประเด็นอาจเกิดอุบัติเหตุในห้องแล็บ

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ตามเวลาท้องถิ่น คณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ในการหาต้นกำเนิดของเชื้อโรคชนิดใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในคน (SAGO) ขององค์การอนามัยโลกออกรายงานเบื้องต้น ผลการสืบหาต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ระบาดใหญ่ไปทั่วโลก นับตั้งแต่พบการระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน เมื่อช่วงปลายปี 2562 ว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปออกมาได้ว่าต้นกำเนิดของเชื้อโควิด-19 มาจากที่ไหน เนื่องจากมีข้อมูลบางส่วนจากจีนหายไป

ในขณะเดียวกัน คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกยังคงเปิดกว้างสำหรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่จะเสาะหามาได้ในอนาคต เพื่อนำมาทดสอบสมมติฐานที่สมเหตุสมผลทั้งหมดอย่างครอบคลุม รวมถึงความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดอุบัติเหตุที่ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์

‘เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นในห้องแล็บซึ่งก่อให้เกิดการระบาดของเชื้อโรคบางอย่างมาแล้ว ซึ่งทฤษฎีที่เป็นเรื่องการเมืองสูงเช่นนี้ไม่อาจที่จะไม่ถูกนับได้’ รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกระบุ

คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ยังได้ระบุในรายงานว่าจากข้อมูลเท่าที่สามารถเสาะหามาได้ แสดงให้เห็นว่าเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 บางทีอาจมาจากสัตว์ต่างๆ อย่างเช่น ค้างคาว ซึ่งถือว่าเป็นการสรุปที่คล้ายคลึงกับทีมเจ้าหน้าที่สืบหาต้นกำเนิดโควิด-19 ของสหประชาชาติชุดก่อน ซึ่งเดินทางไปสำรวจเก็บข้อมูลหาต้นกำเนิดโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่นของจีน

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่หายไป โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มแรก เมื่อเดือนธันวาคม 2562 นั้น นั่นย่อมหมายถึงไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลยที่จะระบุต้นกำเนิดที่แน่ชัดของเชื้อโควิด-19 ว่า แพร่ติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร หลังจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19ไปทั่วโลก ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก 534 ล้านราย และเสียชีวิต 6.31 ล้านศพ

การระบุหาต้นกำเนิดของเชื้อโรคในสัตว์ชนิดต่างๆ ต้องใช้เวลาหลายปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 15 ปีในการเสาะหาค้างคาวสายพันธุ์ต่างๆ ที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ SARs ที่เป็นญาติของเชื้อโควิด-19

ที่มา : Aljazeera,Channelnewsasia