ครม.อนุมัติจัดซื้อวัคซีนแอสตราฯเพิ่มจากฮังการี 4 แสนโดส รวมถึงรับการสนับสนุนจากเยอรมนี-ไอซ์แลนด์ พร้อมจัดงบอีก 1.32 พันล้าน

ไทยเตรียมได้วัคซีนมาอีกเรื่อยๆ หลัง ครม.อนุมัติจัดซื้อวัคซีนแอสตราฯเพิ่มจากฮังการี 4 แสนโดส รวมถึงรับการสนับสนุนจากเยอรมนี-ไอซ์แลนด์ พร้อมจัดงบอีก 1.32 พันล้านเยียวยาเด็กเล็ก ด้าน “วิษณุ” แย้มยังไม่ทูลเกล้าฯ พ.ร.ก.โรคติดต่อ อ้างไม่เร่งรีบ เพราะยังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยาวถึง พ.ย. ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตรายวันลดลงต่ำหมื่น-ต่ำร้อยพร้อมกันเป็นวันที่สอง แต่อีสานยังพบคลัสเตอร์ใหม่ทั้งงานบุญแจกข้าว-งานเกษียณ-โรงพัก

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยดีขึ้นอีกวัน เมื่อยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลงต่ำหมื่น ต่ำร้อยต่อเนื่อง พร้อมกับเดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนทุกวัน รวมถึงจัดหาทั้งจัดซื้อและรับบริจาควัคซีนจากแหล่งต่างๆเพิ่มเติม

ยอดติดเชื้อ-ตายลดต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำหมื่นเป็นวันที่สอง อยู่ที่ 9,869 คน แยกเป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,579 คน จากเรือนจำ 273 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 17 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 11,152 คน อยู่ระหว่างรักษา 108,373 คน อาการหนัก 3,013 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 701 คน เสียชีวิตเพิ่ม 92 คน ซึ่งต่ำร้อยคนต่อเนื่องเป็นวันที่สี่ โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 80 เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคือ 74 คน มีโรคเรื้อรัง 17 คน พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 23 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,657,231 คน ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,531,655 คน ยอดผู้เสียชีวิต สะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 17,203 คน

4 จังหวัดชายแดนใต้ยังหนัก

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 5 ต.ค. ได้แก่ กทม. 1,224 คน สมุทรปราการ 577 คน ชลบุรี 555 คน ปัตตานี 530 คน สงขลา 468 คน นราธิวาส 461 คน นครศรีธรรมราช 457 คน ยะลา 431 คน สมุทรสาคร 357 คน ระยอง 318 คน ส่วนจังหวัดน่านยังเหนียวเป็นจังหวัดเดียวที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มและเป็นการไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องเป็นวันที่สี่ ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 ต.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 770,947 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 55,921,443 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 236,165,564 คน เสียชีวิตสะสม 4,822,761 คน

ซื้อวัคซีนฮังการีอีก 4 แสนโดส

ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมโรคจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาเพิ่มเติมจากฮังการี 400,000 โดส ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ลงนามในร่างข้อตกลงจัดซื้อ ตามแผนจัดหาวัคซีนให้ครบ 126.2 ล้านโดส นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากไอซ์แลนด์และเยอรมนี โดยไอซ์แลนด์บริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้ไทย 100,000 โดส เยอรมนีบริจาควัคซีนแอสตราเซเนกา 346,100 โดส คาดว่า วัคซีนจาก 2 ประเทศที่บริจาคจะส่งมอบวัคซีนได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ การได้รับบริจาควัคซีนสะท้อนถึงความก้าวหน้าในการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของไทย และความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรไมตรีระหว่างสหภาพยุโรป มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของกลุ่มเป้าหมายภายในเดือน ธ.ค.

ทุ่ม 1.32 พันล้านเยียวยาเด็กเล็ก

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติกรอบวงเงิน 1,320 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติมแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในโครงการให้ความช่วยเหลือ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 660,318 คน ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 18,540 แห่ง ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยจ่ายผู้ปกครอง 2,000 บาทต่อคน ทำให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็น 1,389,722 คน จากเดิมที่ไม่ครอบคลุมเด็กเล็ก รวมกรอบวงเงินในโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 2,779 ล้านบาท ครม.ยังเห็นชอบหลักการโครงการจ้างแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และสายงานบริการทางการแพทย์อื่นรองรับสถานการณ์โควิด-19 กรอบวงเงิน 4,335 ล้านบาท มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณากำหนดกรอบอัตราที่จะจ้างงานให้เป็นไปตามความเหมาะสมจำเป็น และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่

ยังไม่ทูลเกล้าฯ พ.ร.ก.โรคติดต่อ

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเอาเป็น พ.ร.บ.หรือไม่ ถ้าเสนอเป็น พ.ร.บ.ต้องรอให้สภาฯเปิด และเสนอเข้าเป็น พ.ร.บ.ปฏิรูปเข้า 2 สภาฯพิจารณาร่วมกัน เมื่อถามว่า ไม่ได้รีบร้อนอะไรใช่หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ก็รีบเหมือนกัน แต่ขณะนี้ไม่มีประชุมสภาฯ และถ้าออกเป็น พ.ร.ก.เร็วไปในรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการออก พ.ร.ก. หากอยู่ในระหว่างปิดสมัยประชุมสภาฯให้เรียกประชุมสมัยวิสามัญ ดังนั้นไม่ต้องรีบอะไร “เห็นมั้ย ไม่เห็นมีอะไรเดือดร้อน หรือเร่งรีบสักเรื่อง ประกาศฉุกเฉินก็ยาวไปจนถึงเดือน พ.ย.อยู่แล้ว”

อย.รอข้อมูลฉีดเด็ก 3 ขวบ

ส่วนความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปนั้น นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงการพิจารณาวัคซีนสำหรับเด็กเล็กว่า ขณะนี้ อย.ได้รับหนังสือรับรองการใช้วัคซีนจากผู้ผลิตวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่นำเข้าโดยบริษัทไบโอเจนเนเทค แต่ยังต้องรอข้อมูลผลการใช้กับเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปในเฟส 3 อยู่ ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนซิโนแวค ก็ยังไม่ได้ส่งเอกสารเข้ามาเช่นกัน แต่มีการพูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุขเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม อย.ได้ส่งหนังสือแจ้งทั้ง 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้นำเอกสารมาส่งแล้วถึง 2 ครั้ง

เน้นปลอดภัย-สร้างภูมิเพียงพอ

นพ.สุรโชคกล่าวอีกว่า การประเมินวัคซีนต้องดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ต้องดูข้อมูลว่าฉีดเด็กแล้วมีความปลอดภัย มีภูมิในการป้องกันโรคได้เพียงพอ โดยเฉพาะเชื้อเดลตาไม่เหมือนในผู้ใหญ่ เพราะเด็กตัวเล็กกว่า ประสิทธิภาพในเด็กจะกันได้หรือไม่ เทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ เพราะโอกาสเด็กเป็นโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ อย่างในผู้ใหญ่ฉีดแล้วลดอัตราเสียชีวิตได้ชัดเจน ต้องดูว่าในเด็กชัดเจนหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้ต้องนำมาแสดงการฉีดในเด็กอายุน้อย ต่างประเทศเองก็ยังอยู่ในการทดลอง มีการฉีดอยู่ไม่กี่ประเทศ ยังไม่ได้ฉีดทั่วไป กรณีที่วัคซีนยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้กับผู้อายุ 3 ขวบขึ้นไปในประเทศผู้ผลิต ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาขึ้นทะเบียนในไทย แต่ข้อมูลทั้งหมดเป็นชุดเดียวกันที่นำไปยื่นอนุญาตที่อื่นๆ เช่น องค์การอนามัยโลก อย.สหรัฐฯ

ซีพีผนึกเอกชนเปิดใช้ รพ.สนาม

วันเดียวกัน นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า ซีพีได้ร่วมกับบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ สร้างโรงพยาบาลสนาม “ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์” รองรับกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มระดับสีเหลือง-สีส้ม ที่คลังสินค้าโครงการดับบลิวเอชเอเมกกะโลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม. 4) จ.สมุทรปราการ โดยพัฒนาปรับปรุงคลังสินค้าขนาดพื้นที่ 15,294 ตร.ม.เป็นโรงพยาบาลสนามมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก ถือเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกในประเทศที่มีความพร้อมด้านระบบการแพทย์เต็มรูปแบบเพื่อทำการรักษาและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งนี้จะสามารถเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.นี้เป็นต้นไป กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์จะเป็นผู้คัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อมารับการรักษา ณ โรงพยาบาล “ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์”

ฉีดไฟเซอร์นักเรียนฉลุย

ขณะเดียวกัน ตลอดวันที่ 5 ต.ค.ทั่วประเทศยังคงเดินหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กนักเรียน อายุ 12-18 ปี เพื่อให้ทันรับเปิดเทอมสองใน พ.ย.นี้ บางจังหวัดเพิ่งเริ่มฉีดเป็นวันแรก ส่วนสถานที่จัดฉีดมีทั้งที่ศาลาประชาคม สำนักงานขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ศูนย์เยาวชน ศูนย์กีฬา โรงเรียนประจำจังหวัด หอประชุมสถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจากการสอบถามผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มั่นใจวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกหลานและสบายใจที่เด็กๆจะปลอดภัยเมื่อได้กลับไปเจอเพื่อนๆที่โรงเรียน ส่วนเด็กนักเรียนที่มาฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังฉีดวัคซีน แต่ที่จุดฉีดในหอประชุมวิทยาลัยเทคนิคแพร่ อ.เมืองแพร่ มีนักเรียนนักศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมการฉีดวัคซีนประมาณ 1,400 คน แต่ระหว่างฉีดมี นศ.อายุ 17 ปี รายหนึ่ง เกิดอาการหน้ามืดหลังจากฉีดวัคซีน ซึ่งคณะแพทย์คาดว่าน่าจะมาจากการกลัวเข็มมากกว่า

ห้ามใช้ Lepu ตรวจกลุ่มเสี่ยงสูง

ด้าน นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงกรณีสั่งห้ามทุกรพ.ใช้ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิต (ATK) ยี่ห้อ Lepu ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระจายมายังโรงพยาบาลแต่ละแห่งแจกฟรีให้ประชาชนว่า ตามมาตรฐานของชุดตรวจ ATK แบ่งเป็น 2 ชนิดคือสำหรับทางการแพทย์ (Professional Use) ที่ต้องให้แพทย์ใช้ตรวจเท่านั้น ด้วยวิธีแยงเข้าไปหลังโพรงจมูกซึ่งอยู่ต่อกับลำคอ และสำหรับประชาชนทั่วไป (Home Use) ด้วยการแยงเข้าไปในรูจมูกส่วนหน้า ตามหลักการหากเป็นประชาชนเสี่ยงสูง สัมผัสผู้ติดเชื้อมาไปถึงโรงพยาบาลก็ต้องใช้วิธีการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจน หรือหากจะตรวจด้วย ATK ต้องใช้แบบทางการแพทย์ โดยแพทย์เป็นผู้เก็บตัวอย่างให้ แต่เนื่องจากพบโรงพยาบาลบางแห่งต้องการลดต้นทุนนำชุดตรวจ ATK แบบที่แจกประชาชนไปตรวจให้กับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องออกประกาศว่าหากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องใช้การตรวจแบบทางการแพทย์เท่านั้น ยืนยันประกาศดังกล่าวไม่ได้เกิดจากปัญหาของชุดตรวจ ATK แต่ปัญหาคือการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ATK ยี่ห้อ Lepu มีมาตรฐานสำหรับการตรวจของประชาชนทั่วไป สามารถรับฟรีได้ที่ รพ.เช่นเดิม

ตั้งเป้าลดป่วย 4 จชต.ร้อยละ 10

ต่อมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังเดินทางมา จ.ยะลา และปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเขตสุขภาพที่ 12 ที่เพิ่มสูงขึ้น ว่า 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,900-2,000 คนต่อวัน สวนทางกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อของประเทศที่เริ่มลดลง สาเหตุหลักจากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในบ้านและชุมชน จึงเน้นย้ำให้พื้นที่เตรียมมาตรการควบคุมโรคที่ชัดเจน ทั้งมาตรการส่วนบุคคลและมาตรการสังคม กลุ่มเสี่ยงต้องเข้าถึงการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK รวมถึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น สธ.จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังเขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ 1 ล้านเม็ด, ชุดตรวจ ATK 2 หมื่นชุด, Oxygen concentrator 100 เครื่อง วัคซีนแอสตราฯ 25,000 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ 100,000 โดส เพื่อรองรับการป้องกันควบคุมโรค และเตรียมการรักษาในพื้นที่ พร้อมตั้งเป้าหมายควบคุมสถานการณ์ให้ได้ใน 1-2 เดือน ลดจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณร้อยละ 10 ต่อสัปดาห์ สำหรับภาพรวมทั้งเขตสุขภาพ ขณะนี้ใช้เตียงผู้ป่วยกลุ่มสีแดงไปแล้วร้อยละ 80 สีเหลืองและสีเขียวร้อยละ 70-80 คาดว่ายังสามารถรองรับผู้ป่วยได้ และหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจะสามารถส่งต่อและดูแลได้ภายในเขตสุขภาพ รวมถึงยกระดับโรงพยาบาลสนามให้สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและให้ออกซิเจนได้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลบุษราคัม

สกลนครผวาคลัสเตอร์งานบุญ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในขณะที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้และนครศรีธรรมราช สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยังน่าเป็นห่วง ล่าสุดภาค อีสานก็กลับมาพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ใหม่ โดยที่โรงเรียนบ้านอากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร จนท.สาธารณสุขนำชุดตรวจคัดกรองออกตรวจเชิงรุกให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงราว 400 คน มีทั้งพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดเทศบาลอากาศอำนวยและประชาชน หลังจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครรายงานว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านหนองตาไก้ หมู่ 11 ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จำนวน 47 คน และมีประกาศอำเภองดเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านดังกล่าวโดยไม่จำเป็นจนถึงวันที่ 16 ต.ค.2564 ส่วนบริเวณตลาดสด เทศบาลอากาศอำนวย ปิดให้บริการเพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อ 3 วัน ส่วนสาเหตุของการเกิดคลัสเตอร์นี้ เบื้องต้นมีรายงานจากไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มร่วมงานบุญแจกข้าว กับกลุ่มร่วมงานเกษียณ

ตร.น้ำเกลี้ยงติดโควิดเพียบ

เช่นเดียวกับที่อาคารตลาดประชารัฐ ต.น้ำเกลี้ยง อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่ รพ.น้ำเกลี้ยง เข้ามาตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยง หลังพบตำรวจ สภ.น้ำเกลี้ยง พร้อมครอบครัวและผู้สัมผัสใกล้ชิดติดเชื้อโควิด-19 รวม 57 คน แยกเป็นตำรวจ 32 นาย คนในครอบครัวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 7 คน ที่เหลือเป็นบุคคลภายนอกที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ด้าน พล.ต.ต.สันติ เหล่าประทาย ผบก.ภ.จ.ศรีสะเกษ มาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจตำรวจ สภ.น้ำเกลี้ยง พร้อมมอบเวชภัณฑ์ สิ่งของจำเป็นและจัดให้ตำรวจนำรถตู้ไปรับผู้ติดเชื้อที่กักตัวอยู่ที่บ้าน ส่งเข้ารักษาที่ รพ.สนาม โรงเรียนน้ำเกลี้ยงวิทยา นอกจากนี้ ยังได้จัดพนักงานสอบสวนและตำรวจชุดปราบปรามมาช่วยราชการที่สถานีตำรวจภูธรน้ำเกลี้ยงด้วย

สั่งปิด 2 หมู่บ้าน อ.เซกา

ส่วนที่ห้องประชุมภูทอก ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสนิท ขาวสอาด ผวจ.บึงกาฬ เรียกประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ เป็นการด่วนหลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นคลัสเตอร์ที่บ้านสายปัญญา หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 19 ต.เซกา อ.เซกา และหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง มีผู้ติดเชื้อแล้ว 23 คน โดย 1 ในผู้ติดเชื้อเป็นผู้ใหญ่บ้านและมีไทม์ไลน์คือไปประชุมและติดต่อราชการหลายแห่ง ทำให้ จนท.สธ. อ.เซกา ต้องเร่งสอบสวนโรค ขณะที่ นพ.ภมร ดรุณ นพ.สสจ.บึงกาฬ เปิดเผยว่า ต้นตอคลัสเตอร์นี้มาจากมีผู้ติดเชื้อทำงานรับเหมาก่อสร้าง เดินทางมาจาก จ.ปราจีนบุรี กลับมาถึงหมู่บ้าน ไม่มีการกักตัว และยังเดินทางไปๆมาๆ ปราจีนบุรี-บึงกาฬ ตั้งแต่ 9-22 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ภรรยาติดเชื้อด้วยโดยผลตรวจออกเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา และสามีภรรยาใช้ชีวิตตามปกติในหมู่บ้าน ไม่มีการกักตัวใดๆ ทำให้มีผู้เสี่ยงสูงถึง 168 คน ทีมสอบสวนโรคลุยตรวจหาเชื้อพบผู้ติดเชื้อ 12 คนและเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ทีมสอบสวนตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำที่เหลืออีก 414 คน ตรวจพบเชื้ออีก 9 คน รวมแล้วคลัสเตอร์นี้ตรวจพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 23 คน และยังตรวจหาเชื้อเพิ่มเติมเชิงรุกในหมู่บ้านข้างเคียงอีกประมาณ 350 กว่าคน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะกักตัวที่ Community Quarantine ของ อ.เซกา ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ แนะนำให้กักตัวที่บ้านอย่างเคร่งครัด

ไฟเซอร์ประสิทธิภาพลด

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในต่างแดน มีการเผยแพร่ผลการศึกษาผู้ป่วยกว่า 3 ล้านคนระหว่างเดือน ธ.ค. 2563-ส.ค.2564 ในวารสารการแพทย์ แลนเซต เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ว่าวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบออนเทค 2 โดส มีประสิทธิภาพสูงโดยรวมที่ร้อยละ 90 ในการป้องกันอาการป่วยจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลได้อย่างน้อย 6 เดือน แต่ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อลดลงจากร้อยละ 88 เหลือที่ร้อยละ 47 หลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ครบ 6 เดือน สอดคล้องกับรายงานเบื้องต้นจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯและกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลที่แนะให้ฉีดเข็มกระตุ้นเนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนเริ่มเสื่อมภายใน 6 เดือน