ซีอีโอ TikTok ลั่น! “ไม่ได้อยู่ใต้จีน” ยืนยัน! ข้อมูลลูกค้าในสหรัฐ “ปลอดภัยขั้นสูงสุด”

ผู้บริหารสุงสุดของติ๊กต็อกยืนยันว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน “ไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างสิ้นเชิง” กับบริษัท และการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าในสหรัฐ “ปลอดภัยขั้นสูงสุด”

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ว่านายโซ่ว จื่อ โจว ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) ของติ๊กต็อก เข้าพบคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการพาณิชย์ ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เมื่อวันพฤหัสบดี เพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามในหัวข้อ “ติ๊กต็อก : สภาคองเกรสสามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวทางข้อมูลและพิทักษ์เยาวชน จากอันตรายบนโลกออกไลน์ได้อย่างไร”

การประชุมใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง นายโจวเน้นย้ำหลายครั้ง ว่าติ๊กต็อก ซึ่งเจ้าของคือบริษัทไบต์แดนซ์ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง “ไม่มีความเกี่ยวข้องในทางใดก็ตาม” กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ไม่เคยขอข้อมูลจากติ๊กต็อก และติ๊กต็อกไม่เคยส่งมอบข้อมูลให้แก่ทางการจีนด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัท “ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อรักษาความปลอดภัย” ให้กับผู้ใช้งานราว 150 ล้านคนในสหรัฐ โดยตลอดสองปีที่ผ่านมา ติ๊กต็อกจัดทำไฟร์วอลล์เพื่อคุ้มครองข้อมูลของลูกค้าในสหรัฐ “จากการเข้าถึงโดยบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับอนุญาต”

ทั้งนี้ ซีอีโอติ๊กต็อกยืนยันว่า ข้อมูลทั้งหมดของลูกค้าในสหรัฐ ได้รับการจัดเก็บในสหรัฐ ดูแลโดยบริษัทของสหรัฐ และบุคลากรที่เป็นชาวอเมริกัน ติ๊กต็อกลงทุนไปแล้วมากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 51,079.50 ล้านบาท ) จัดทำโครงการ “Project Texas” รวมกับบริษัทออราเคิลของสหรัฐ ตอนนี้โครงการดังกล่าวมีพนักงานประจำเกือบ 1,500 คน เพื่อดูแลข้อมูลของผู้ใช้งานติ๊กต็อกในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การที่นายโจวปฏิเสธตอบคำถามในประเด็นที่ว่า ติ๊กต็อกเผยแพร่เนื้อหา “ชี้นำไปในทางที่ผิด” ให้กับเด็ก อาทิ การจัดกิจกรรม “ท้าทายและบ้าบิ่น” ขณะเดียวกัน ยังมีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงเรื่องยาเสพติดและเพศ โดยกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ซับซ้อน” และ “ไม่ใช่แนวทาง” ของติ๊กต็อก สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับคณะกรรมาธิการ

ด้านเนื้อหาในแถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีน ไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการที่ซีอีโอของติ๊กต็อกเข้าพบคณะกรรมาธิการของสภาคองเกรสของสหรัฐ แต่ให้ความเห็นว่า “การบีบบังคับ” ให้ไบต์แดนซ์ขายหุ้นที่มีอยู่ในติ๊กต็อก จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะนักลงทุนจีน ที่จะลงทุนในสหรัฐ.

เครดิตภาพ : REUTERS