ดาวโจนส์ร่วง 876 จุด กังวลเฟดใช้ยาแรงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(13มิ.ย.)ปรับตัวร่วงลง 876 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะฉุดเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 876.05 จุด หรือ 2.79% ปิดที่ 30,516.74 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 151.23 จุด หรือ 3.88% ปิดที่ 3,749.63 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 530.80 จุด หรือ 4.68% ปิดที่ 10,809.23 จุด

หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลงในวันนี้ นำโดยกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันที่ร่วงลงในตลาดโลก

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 800 จุดเมื่อวันศุกร์(10มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งอาจทำให้เฟดต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 4.58% ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยปรับตัวลง 10 ใน 11 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 และดัชนีแนสแด็กดิ่งลงกว่า 5% และปรับตัวลง 9 ใน 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา

หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี 2565 ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 13.6% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 และดัชนีแนสแด็กดิ่งลง 18.2% และ 27.5% ตามลำดับ

ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีดีดตัวสูงกว่าอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีได้ดีดตัวสูงกว่าอายุ 10 ปีและ 30 ปี

ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีพุ่งขึ้นสูงกว่าพันธบัตรอายุ 30 ปีได้เกิดขึ้นในปี 2549 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในเวลาเพียงไม่กี่ปีถัดมา

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 5% ก่อนหน้านี้

นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

“การพุ่งขึ้นของดัชนี CPI พื้นฐานจะทำให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในสัปดาห์นี้ และยืดเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ยาวถึงฤดูใบไม้ร่วง” นักวิเคราะห์จากแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ระบุในรายงาน

นักวิเคราะห์จากบาร์เคลยส์และเจฟเฟอรีส์คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้เช่นกัน

“เราคิดว่าเฟดจะสร้างความประหลาดใจต่อตลาดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในการจัดการกับเงินเฟ้อ” รายงานจากบาร์เคลยส์ระบุ

ส่วนนักวิเคราะห์จากบีเอ็นวาย เมลลอนคาดว่าเฟดจะจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้ จากเดิมที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.50%

“ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.ได้สร้างความกังวลอย่างมากจนทำให้เฟดจะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย” รายงานจากบีเอ็นวาย เมลลอนระบุ

ส่วนนักวิเคราะห์จาก Swissquote Bank ระบุว่า “ขณะนี้เฟดมีโอกาสมากกว่า 50% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ค. และมีโอกาส 14% ที่จะปรับขึ้นถึง 1.00% นี่เป็นสิ่งที่เฟดจะดำเนินการหลังการประกาศตัวเลข CPI เมื่อวันศุกร์”