ดีเดย์! กฎหมายจราจรฉบับใหม่วันแรก ตรึง 3 เดือน ปรับตามอัตราเดิมก่อน เน้นประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ

รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร ย้ำ 5 ก.ย. ดีเดย์กฎหมายจราจรใหม่วันแรก ตรึง 3 เดือน ปรับตามอัตราเดิม เน้นประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ

วันที่ 5 ก.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันแรกของการเริ่มบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง มีดังนี้

1. เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ กระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก จะเพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 – 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ

2. เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยงในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง เช่น

  • ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
  • ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
  • ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
  • ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
  • ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
  • ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)

3. เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต หรือร่างกายของผู้อื่น อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท เพิ่มเป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางเพิ่มเติม คือ

4.1 ความผิดฐานพยายามแข่งรถ กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

  • มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือ
  • รถที่รวมกลุ่มมีการดัดแปลง/ปรับแต่งรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ
  • มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง

ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทาง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

4.2 เพิ่มโทษสำหรับผู้จัด และกำหนดโทษใหม่สำหรับผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ อัตราโทษเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพิ่มเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.3 กำหนดโทษใหม่สำหรับร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน คือ ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทางระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) 

5. การกำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ดังนี้

  • รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้
  • สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย

ส่วนประเด็นการนั่งคาร์ซีต สำหรับผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี และความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใดของรถ เพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 นี้

โดยจะต้องรอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565 จากนั้นจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศจร.ตร.) เปิดเผยว่า ตำรวจได้สั่งการให้ทุกหน่วยบังคับใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโทษปรับที่กฎหมายใหม่เพิ่มอัตราโทษสูงขึ้น เพื่อบังคับใช้ให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน บางความผิดมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 4,000 บาท

แต่ในห้วง 3 เดือนแรก ตำรวจจะยังใช้เกณฑ์ค่าปรับใบสั่งจราจรตามกฎหมายเดิมไปพลางก่อน (ตามประกาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องเกณฑ์ค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ พ.ศ. 2563) เช่น ข้อหาขับรถเร็วเกินกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง แม้โทษสูงสุดตามกฎหมายใหม่จะปรับได้ถึง 4,000 บาท แต่ค่าปรับตามใบสั่งจะกำหนดไว้ที่ 500 บาท เพื่อให้เวลาประชาชนได้ปรับตัวและปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะปรับปรุงเกณฑ์ค่าปรับตามใบสั่งให้สอดคล้องกับกฎหมายจราจรฉบับใหม่ และบางข้อหาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ หรือปัจจัยเกิดความสูญเสียต่อผู้ขับขี่ เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายทางม้าลาย ขับรถเร็วเกินกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ตำรวจจะพิจารณากำหนดอัตราโทษปรับเป็นขั้นบันได ตามจำนวนครั้งและประวัติการกระทำผิดด้วย เช่น ทำผิดครั้งที่ 1 โทษปรับตามใบสั่ง 500 บาท หากทำผิดข้อหาเดิมเป็นครั้งที่ 2 โทษปรับตามใบสั่งเป็น 1,000 บาท เป็นต้น

พล.ต.อ.ปรีชา กล่าวอีกว่า ใบสั่งทุกใบจะถูกกำกับโดยระบบฐานข้อมูลใบสั่งที่เรียกว่า PTM (Police Ticket Management) ซึ่งจะระบุจำนวนค่าปรับตามเกณฑ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้ในใบสั่งทุกใบ ดังนั้น ค่าปรับจึงเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

สำหรับเรื่องการเพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ตำรวจได้พิจารณาตามหลักกฎหมายแล้ว จะไม่นำประวัติการกระทำผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 ก.ย. 65 มาประกอบการพิจารณาเพิ่มโทษ แต่จะเริ่มบันทึกประวัติการทำผิดครั้งแรกตั้งแต่ 5 ก.ย. 65 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เรื่องการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้สั่งการให้ทุกหน่วยถือปฏิบัติตามมาตรฐาน SOP การตั้งจุดตรวจงานจราจร ตามที่ตำรวจได้กำหนดไว้แล้วอย่างเคร่งครัด

พร้อมขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง ทำความเข้าใจกฎหมายจราจรฉบับใหม่ และร่วมกันปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ใช้ทางคนอื่นๆ ด้วย โดยสามารถดูเกณฑ์ค่าปรับใบสั่งจราจรได้ที่นี่.