ทำความรู้จัก! “นรกอเวจี” นรกขุมที่ลึกที่สุด ความเชื่อของชาวพุทธ ตามคติไตรภูมิพระร่วง

  • ทำความรู้จัก “นรกอเวจี” นรกขุมที่ลึกที่สุด ที่อยู่ของคนทำกรรมหนัก ตามคติความเชื่อชาวพุทธ จากวรรณคดีศาสนาไตรภูมิพระร่วง
  • ภาพความน่ากลัวของนรก คือ หลักจิตวิทยา ที่ผู้ปกครองใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบสังคม
  • ความเชื่อของนรกกับสังคมไทยในปัจจุบัน และการส่งอิทธิพลไตรภูมิพระร่วงกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ

“ขอให้ตกนรกอเวจีปอยเปต แสนล้านภพแสนล้านชาติ” ประโยคยอดฮิตที่เราได้ยินบ่อยในช่วงนี้ แน่นอนว่าหากพูดถึงนรก หลายคนก็พอจะนึกภาพออกกันบ้าง เพราะเป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะมีมุมมอง หรือให้นิยามนรกที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคลและศาสนาที่ตนนับถือ

แต่สำหรับ “อเวจี” นั้น เป็นชื่อนรกขุมที่ลึกที่สุด ตามคติความเชื่อของชาวพุทธที่ปรากฏในวรรณคดีไตรภูมิพระร่วง ดินแดนหนึ่งที่เชื่อกันว่าผู้ที่ทำบาปตอนยังเป็นมนุษย์ เมื่อเสียชีวิตแล้วจะต้องไปเกิดในนรก และถูกลงโทษตามกรรมที่ทำไว้

รู้จัก "นรก" ความเชื่อของชาวพุทธ ตามคติไตรภูมิพระร่วง

ไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีศาสนาเรื่องแรกของไทย

ไตรภูมิพระร่วง หรือไตรภูมิกถา เป็นวรรณคดีทางศาสนา ที่แต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย ผู้แต่งคือพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) มีจุดประสงค์ในการแต่งเพื่อเทศน์ถวายพระมารดา และรวบรวมพระอภิธรรมแบ่งปันประชาชน โดยรวบรวมเนื้อหาจากคัมภีร์ต่างๆ ในพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาปลูกฝังเรื่องบาป บุญ กรรม และผลของกรรม ซึ่งเนื้อเรื่องจะกล่าวถึง ภพภูมิทั้ง 3 ภพ ได้แก่

  • กามภูมิ ดินแดนที่เกี่ยวกับความรัก โลภ โกรธ หลง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อบายภูมิ (นรกภูมิ เปรตภูมิ อสุรกายภูมิ ติรัจฉานภูมิ) และสุคติภูมิ (สวรรค์)
  • รูปภูมิ ดินแดนของพรหม
  • อรูปภูมิ ดินแดนของพรหมไร้รูป
รู้จัก "นรก" ความเชื่อของชาวพุทธ ตามคติไตรภูมิพระร่วง

นรกคืออะไร

ตามคติไตรภูมิพระร่วง นรกจะอยู่ “กามภูมิ” ในส่วนของอบายภูมิ ที่อยู่บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในอดีตเคยทำบาปด้วย กาย วาจา ใจ เมื่อเสียชีวิต จะลงไปเกิดเป็นสัตว์นรก เพื่อใช้กรรม อยู่ภายใต้แผ่นดินโลกมนุษย์ มีทั้งหมด 8 ขุมใหญ่ ไล่ระดับความลึกลงไปเรื่อยๆ ดังนี้

  1. สัญชีพนรก นรกไม่มีวันแตกดับ ที่อยู่สำหรับผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่น จะต้องถูกทรมานจากคมอาวุธจนตาย จากนั้นจะมี “ลมกรรม” พัดให้คืนชีพมารับโทษเรื่อยๆ วนเวียนอยู่เป็นเวลา 500 ปี นรก ซึ่ง 1 วันนรก เท่ากับ 9 ล้านปีมนุษย์
  2. กาฬสุตตนรก นรกเส้นด้ายดำ สำหรับคนที่ทำร้ายผู้มีพระคุณ หรือทำลายชีวิตสัตว์ จะถูกตีด้วยด้ายดำ จนเป็นตามร่างกาย จากนั้นจะถูกเฉือนอาวุธตามรอยแผล เป็นเวลา 1,000 ปีนรก โดย 1 วันนรก เท่ากับ 36 ล้านปีมนุษย์
  3. สังฆาฏนรก นรกบดขยี้ ที่อยู่สำหรับผู้ไร้ความเมตตา ชื่นชอบการทารุณกรรม จะถูกตีด้วยค้อนเหล็ก และบดทับด้วยลูกไฟกับภูเขาเหล็ก เป็นเวลา 2,000 ปีนรก โดย 1 วันนรก เท่ากับ 14 โกฏิกับอีก 5 ล้านปีมนุษย์
  4. โรรุวนรก นรกเสียงคร่ำครวญ ที่อยู่สำหรับคนโลภ ฉ้อโกง จะถูกลงโทษให้นอนคว่ำหน้า หัว มือ และเท้าจมอยู่ในดอกบัวเหล็ก ที่มีไฟลุกท่วม ร้องครวญครางด้วยความทุกข์ เป็นเวลา 4,000 ปี โดย 1 วันของนรกขุมนี้เท่ากับ 23 โกฏิกับอีก 4 ล้านปีโลกมนุษย์
  5. มหาโรรุวนรก นรกเสียงคร่ำครวญอย่างยิ่ง สำหรับคนจิตใจโหดเหี้ยม ทำความชั่วจิตอาฆาตพยาบาท ดอกบัวเหล็กของนรกขุมนี้ จะเพิ่มคมตามกลีบ และจะต้องจมอยู่ในดอกบัวเหล็กทั้งตัว อายุของสัตว์นรกคือ 8,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 921 โกฏิกับอีก 6 ล้านปีโลกมนุษย์
  6. ตาปนรก นรกแห่งความร้อนรุ่ม สำหรับคนบาปที่เต็มไปกิเลส จะถูกหลาวเหล็กไฟเสียบ จากนั้นสุนัขนรกฉุดกระชากลงมากิน เป็นเวลา 16,000 ปี โดย 1 วันนรกเท่ากับ 1,842 โกฏิกับอีก 12 ล้านปีโลกมนุษย์
  7. มหาตาปนรก นรกแห่งความร้อนรุ่มอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่เคยฆ่าคน และฆ่าสัตว์เป็นหมู่มาก ไม่คำนึงถึงชีวิตผู้อื่น ต้องอยู่ในกำแพงและภูเขาเหล็ก ที่เต็มไปด้วยหนามแหลม และมีลมกรดพัดพาร่างไปโดนหนามเสียบ อายุของสัตว์นรกขุมนี้คือ ครึ่งกัลป์ 
  8. อเวจีนรก นรกอันแสนสาหัสไร้ปรานี เป็นนรกที่ทั้งลึกและกว้างใหญ่ที่สุด สำหรับผู้ทำกรรมหนัก ได้แก่ ฆ่าบุพการี ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อเลือด และยุยงให้คณะสงฆ์แตกแยก
รู้จัก "นรก" ความเชื่อของชาวพุทธ ตามคติไตรภูมิพระร่วง

อายุของสัตว์นรกขุมนี้คือ 1 กัลป์ จะถูกล้อมด้วยกำแพงเหล็กที่เปลวไฟลุกท่วม สัตว์นรกจะถูกเพลิงเผาผลาญด้วยอิริยาบถต่าง ๆ ตามกรรมของตน ในห้องสี่เหลี่ยมและเหล็กเสียบทะลุร่างตรึงให้แน่นิ่งไม่สามารถขยับร่างกายได้

นรกใหญ่ทั้ง 8 ขุม จะถูกล้อมรอบด้วยนรกบ่าว (สุสันทนรก) อีก 16 ขุม นอกจากนี้ยังมีนรกเย็น หรือที่รู้จักกันในชื่อ “นรกโลกันต์” ตั้งอยู่นอกกำแพงขอบจักรวาล ไม่มีแสงสว่าง สัตว์นรกที่อยู่ในนั้น จะมีเล็บมือและเท้ายาวเหมือนค้างคาว เกาะกำแพงจักรวาลและกินกันเอง

1 กัลป์ นานแค่ไหน

ในไตรภูมิกถา บรรยายเอาไว้ว่า เปรียบเหมือนภูเขาเทือกหนึ่ง สูง 1 โยชน์ กว้างโดยรอบ 3 โยชน์ เมื่อถึง 100 ปี ถึงจะมีเทวดาองค์หนึ่งนำผ้าทิพย์ ที่บางอ่อนราวควันไฟ มากวาดภูเขา แต่ละครั้งที่เทพยดากวาดภูเขาให้ราบเรียบลงเป็นแผ่นดิน ก็เรียกว่าสิ้นกัลป์หนึ่ง

รู้จัก "นรก" ความเชื่อของชาวพุทธ ตามคติไตรภูมิพระร่วง

การใช้ศาสนาจัดระเบียบสังคม

จะพบว่า การบรรยายนรก ตามคติไตรภูมิพระร่วง เต็มไปด้วยภาพแห่งความโหดร้าย รุนแรงและน่ากลัว ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากการทำชั่ว ทำให้ผู้ที่ได้รับรู้ เกิดความเกรงกลัวต่อบาป และไม่กล้าทำความผิด ประพฤติตนให้อยู่ในศีลธรรม

การปลูกฝังความเชื่อเหล่านี้ ในยุคสมัยที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติชัดเจน ถือเป็นวิธีการที่ผู้ปกครองใช้ควบคุมคนในสังคม โดยใช้ความงามทางสุนทรียะมากล่อมเกลา และหล่อหลอมให้ประชาชน ดำเนินชีวิตไปตามจุดประสงค์ ควบคุมความประพฤติของคน โดยไม่ต้องใช้บทลงโทษ นับได้ว่าเป็นการใช้ศาสนามาจัดระเบียบสังคม

รู้จัก "นรก" ความเชื่อของชาวพุทธ ตามคติไตรภูมิพระร่วง

นรกกับความเชื่อในปัจจุบัน

แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ทำให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และความรู้อื่นๆ ก็ทันสมัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในแต่ละสังคมก็มีกฎหมายไว้ลงโทษผู้กระทำความผิดชัดเจน แม้บางคนอาจจะมองว่าเป็นความเชื่อเรื่องการตกนรก คือความเชื่อจากศาสนาที่ผ่านการปรุงแต่ง

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ การเกิดใหม่ บาปบุญ หรือแม้แต่เรื่องนรกสวรรค์ก็ยังคงอยู่ จนเรียกได้ว่าฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและความเชื่อของแต่ละบุคคล

รู้จัก "นรก" ความเชื่อของชาวพุทธ ตามคติไตรภูมิพระร่วง

อิทธิพลของไตรภูมิส่งผลต่อสังคม

สังคมไทยมีความเชื่อ และเคารพนับถือศาสนาที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่การกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ได้ส่งอิทธิพลต่อสังคมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะไตรภูมิกถา ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปิน นำเรื่องราวไปจินตนาการ และต่อยอดผลงาน ทั้งด้านทัศนศิลป์ ไม่ว่าจะเป็น วัด วัง ดังนี้

  • จิตรกรรม ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพุทธสถานและวัดวาอาราม เช่น ที่เสาในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร, วัดสระเกศ, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดดุสิตาราม ฯลฯ
  • ประติมากรรม งานประติมากรรมที่รับอิทธิพลมักเป็นประติมากรรมตกแต่งอาคารของพุทธสถาน และปราสาทราชวัง อาทิ รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประดับหน้าบันพระอุโบสถ รูปปั้นสัตว์หิมพานต์ เช่น ครุฑ นาค อสูรแบก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปั้นรูปสัตว์นรก ที่วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี
  • สถาปัตยกรรม แนวคิดเรื่องไตรภูมิเป็นแนวคิดสาคัญต่อการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยที่ เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทั้งคติการวางผังของวัด การสร้างพระเจดีย์ พระปรางค์ พระเมรุมาศ เป็นต้น
  • เป็นแรงบันดาลใจให้กวีนำไปสร้างสรรค์ผลงานในแนวเดียวกัน เช่น ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าโลกมหาราช
  • มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ตัวละคร และฉากในวรรณคดีเรื่องต่างๆ เช่น ป่าหิมพานต์ ในขุนช้างขุนแผน แม่น้ำสีทันดร ในกากีคำกลอน เขาพระสุเมรุ และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ
รู้จัก "นรก" ความเชื่อของชาวพุทธ ตามคติไตรภูมิพระร่วง

ผู้เขียน : PpsFoam
กราฟิก : Anon Chantanant

ที่มา กรมศิลปากร.(2565) วรรณคดีแห่งชาติ เล่ม 1