น่าสะพรึง!!! “อ.เจษฎ์” เทียบชัด! หลอม “ซีเซี่ยม-137” หวิดซ้ำรอยอุบัติเหตุ “เมฆกัมมันตรังสี” ที่สเปน

‘อ.เจษฎ์ เด่นดวงบริพันธ์’ เทียบชัด ปราจีนบุรี หวิดซ้ำรอยอุบัติเหตุฝุ่นรังสี ที่สเปน ปมหลอม ‘ซีเซี่ยม-137’ แจงระเอียดยิบ เขม่าควันกลายเป็น โลหะผสมกัมมันตภาพรังสี- เมฆกัมมันตรังสี

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีกระแสข่าวพบ ท่อบรรจุสารกัมมันตรังสี ซีเซี่ยม -137 แล้วในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุ “ข่าวด่วน “หาท่อ ซีเซียม-137 เจอแล้วครับ !” เกือบซ้ำรอยอุบัติเหตุฝุ่นรังสี ที่สเปน !

เมื่อตอนค่ำนี้เอง นักข่าวช่อง 3 โทรมารายงานว่า ค้นหา “ท่อบรรจุสารกัมมันตรังสีซีเซียม -137” เจอแล้วครับ อยู่ที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง และกำลังจะถูกนำเข้าไปหลอมกับพวกโลหะอื่นๆ แล้ว ดีนะว่ายังไม่โดนหลอมไป … พร้อมกับคำถามว่า จะเกิดอะไรอันตรายขึ้นหรือไม่ ถ้ามันถูกหลอมไปแล้ว !?

คร่าวๆ คือ ตอบได้ยากครับ ว่าจะเกิดอันตรายอะไรบ้างเพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง (ทั้งปริมาณของสาร และลักษณะการหลอมโลหะ) … ที่น่าจะตอบได้คือ มันไม่น่าจะเกิดเหตุระเบิด แบบระเบิดนิวเคลียร์ พลูโตเนียม-ยูเรเนียม อะไรทำนองนั้นขึ้น ไม่น่าจะห่วงในเรื่องนี้ และเมื่อซีเซียม-137 ถูกเผาหลอมรวมตัวกับโลหะอื่นๆ เสร็จแล้ว จนกลายเป็น “โลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี” นั้น ก็บอกได้ยาก ว่าจะยังคงมีความสามารถในการสลายตัวให้รังสีเบต้าและรังสีแกมม่า มากเท่าเดิมหรือไม่ (ต้องให้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. เอาเครื่องวัดรังสีมาตรวจ)

แต่ที่น่าห่วงคือ การหลอมโลหะก็ย่อมจะเกิดการประทุของวัสดุที่เอามาเข้าเตาหลอม ซึ่งสามารถที่จะปลดปล่อยตัวสารซีเซียม-137 นั้นให้กระเด็นฟุ้งกระจายออกมาจากเตาหลอม สู่ผู้คนที่อยู่โดยรอบในโรงงานจนเกิดอันตรายจากการรับเข้าไปในร่างกาย (เช่น ผ่านทางการหายใจ หรือการสัมผัส หรือเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า)

สถานการณ์ที่หนักที่สุด ที่เป็นไปได้คือ เถ้าเขม่าควันที่ออกจากเตาเผาขึ้นปล่องไฟไป อาจจะนำพาเอาสารซีเซียม-137 ล่องลอยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ (หรือทำให้เกิด radioactive cloud เมฆกัมมันตรังสี ) และไปร่วงหล่นเป็น fallout หรือฝุ่งผงรังสี ไปทั่วบริเวณที่กระแสลมพาไป เป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสหรือสูดดม และถ้ามีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ก็จะยิ่งมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและการนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค …. ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดมาแล้วในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศสเปน (ดูด้านล่าง) และกลายเป็นวิกฤตินิวเคลียร์ครั้งใหญ่ ที่ควบคุมแทบไม่ได้ เลยทีเดียวครับ

อ่านข้อมูลข่าวต่างๆ เพิ่มเติมด้านล่างนี้

1.รายงานข่าวล่าสุด ยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง เป็นวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 สภาพถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม กองซ้อนกันเป็นชั้นสูง เตรียมหลอมตามรอบช่วงเย็น เคราะห์ดีเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือตรวจจับรังสีได้ทันเวลา หวิดเกิดโศกนาฏกรรม
วันนี้ 19 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ป.ส.) พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี , สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี , กรมการปกครอง ออกตรวจการปฏิบัติงานในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี ตรวจโรงหลอมเหล็ก ที่คาดว่าอาจจะเป็นจุดที่สารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ ถูกขายเป็นของเก่า ปนมากับเหล็กที่จะเข้ามาได้
ได้มีการใช้เครื่องมือของ ป.ส. เข้าตรวจวัดสแกนหารังสีตามกองเศษเหล็ก รวมทั้งเหล็กที่ถูกบีบอัดที่จะเข้าเตาหลอมบางจุด ขณะกำลังตรวจสอบพบว่า เครื่องตรวจวัดอาจจะเจอกับสารบางอย่าง แต่ไม่ระบุชนิด หรือเป็นสารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ ทำให้เจ้าหน้าที่ ป.ส. เข้าตรวจสอบ โดยขณะตรวจพบอย่างละเอียด ยังไม่ยืนยันว่าเป็นสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 หรือไม่ เพราะกองเศษเหล็กมีจำนวนมาก ยากแก่การนำเครื่องตรวจวัดเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังตรวจตะกอนจากเตาหลอมรวมทั้งเศษดินภายในโรงงาน พบว่ามีสารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’
ล่าสุด ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจเช็กอย่างละเอียด และยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็ก เป็นวัสดุกัมมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ ทางจังหวัดปราจีนบุรีได้ประกาศปิดโรงงาน และกันพื้นที่ไม่ให้พนักงานทั้งหมดออกจากโรงงานเพื่อความปลอดภัย
1.เหตุการณ์วิกฤติระทึก ที่ซีเซียม-137 ซึ่งถูกเก็บไว้ในภาชนะโลหะ แล้วอาจจะถูกนำไปปะปนกับโลหะเก่าและถูกนำไปหลอม จนอาจทำให้เกิด “โลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี” ได้เช่นนี้ เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศมาก่อนแล้ว (ข้อมูลจาก https://www.nst.or.th/article/article54/article54-004.html)
ดังเช่น ในปี ค.ศ. 1988 เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ทางตอนใต้ของประเทศสเปน เมื่อบริษัท Acerinox ซึ่งดำเนินกิจการรีไซเคิลแปรรูปของเก่า ได้พลาดทำการหลอมซีเซียม-137 ที่มาจากเครื่องกำเนิดรังสีแกมมา ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ในรูปของ “radioactive cloud เมฆกัมมันตรังสี” (ดูรายละเอียดในข้อ 3.)
และ ในปี ค.ศ. 2009 บริษัทปูนซีเมนต์ของประเทศจีน ในจังหวัด Shaanxi ได้รื้อโรงงานผลิตซีเมนต์เก่าที่เลิกใช้แล้ว โดยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงานกับสารรังสี ทำให้ซีเซียม-137 บางส่วนที่ใช้ในเครื่องมือตรวจวัดซีเมนต์ ถูกส่งไปหลอมรวมไปกับโลหะที่ไม่ใช้แล้ว 8 คันรถที่โรงงานหลอมเหล็ก

1.อุบัติเหตุ เอเซอริน็อกซ์ (Acerinox accident)
บริษัท Acerinox ของสเปน เป็นบริษัทที่ผลิตเหล็กชนิดสเตนเลสสตีล โดยในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1998 เกิดเหตุการที่สาร cesium-137 ได้หลุดปนเข้าไปอยู่ในโรงงานแปรรูปเศษเหล็ก ที่อยู่ในเมือง Los Barrios ทั้งที่โรงงานดังกล่าวมีเครื่องมือในการตรวจจับวัตถุที่อาจเป็นอันตราย แต่ก็ยังมีสารซีเซียม-137 ผ่านเข้าไปได้และถูกหลอมในเตาเผาหนึ่งของโรงงาน
จากนั้น ได้เกิด “เมฆกัมมันตรังสี radioactive cloud” ขึ้น และถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโดยทันที ซึ่งไม่โดนตรวจจับได้จากเครื่องตรวจวัดที่ปล่องไฟของโรงงานนั้น แต่ประเทศอื่นๆ อย่าง ฝรั่งเศส เยอรมันนี ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และอิตาลี กลับตรวจพบได้ โดยขี้เถ้าที่โรงงานนี้สร้างขึ้น ถูกพบว่ามีระดับของกัมมันตภาพรังสีสูงมาเพียงพอที่จะเป็นอันตรายได้ โดยมีระบบความเข้มข้นของรังสีสูงขึ้นจากปรกติถึง 1 พันเท่า
มีคนงาน 6 คนในโรงงานดังกล่าวที่ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนของซีเซียม-137 เพียงเล็กน้อย โรงงานได้ถูกปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดกำจัดการปนเปื้อน รวมไปถึงโรงงานอื่นๆ อีก 2 โรง ที่รับเอาของเสียจากโรงงานนี้ไป
อุบัตเหตุนี้ทำให้เกิดน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี มากถึง 40 ลูกบาศก์เมตร มีเถ้ากัมมันตรังสีเกิดขึ้นถึง 2 พันตัน และมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ปนเปื้อนอีก 150 ตัน โดยมูลค่าของกระบวนการในการทำความสะอาด รวมถึงความสูญเสียการผลิตของโรงงานไป นั้นสูงถึง 26 ล้านเหรียญสหรัฐ (ณ ขณะนั้น)

ขอบคุณข้อมูล-ภาพ เพจ “@อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”