ปฏิกิริยาโลก! หลัง “บอริส จอห์นสัน” ลาออก รัสเซียสับทำตัวเอง-ยูเครนแสดงความเสียใจ

รัสเซียออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ทันทีหลัง บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรลาออก ระบุทำตัวเอง ขณะที่ยูเครนแสดงความเสียใจและขอบคุณในความช่วยเหลือ

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า บอริส จอห์นสัน ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรแล้วในวันพฤหัสบดีที่ 7 ก.ค. 2565 หลังจากก่อเรื่องอื้อฉาวหลายคดีจนถูกต่อต้านอย่างหนักจากภายในพรรค กระทั้งรัฐมนตรีและผู้ช่วยพากันลาออกมากกว่า 50 คนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อร่วมกดดัน

หลังการลาออกของนายจอห์นสันซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้กับรัสเซีย นายดีมิทรี เปสคอฟ โฆษกประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ก็ออกแถลงการณ์ทันทีว่า “นายจอห์นสันไม่ชอบเรา เราก็ไม่ชอบเขาเช่นกัน” และเขาหวังว่าอังกฤษจะได้คนที่เป็นมืออาชีพมากกว่านี้ ซึ่งตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยการเจรจามาเป็นผู้นำ

ขณะเดียวกัน นางมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย บอกกับสื่อว่า นายจอห์นสันโดนบูมเมอแรงที่ตัวเองขว้างไปย้อนกลับมาเล่นงาน และว่าคติสอนใจของเรื่องนี้คือ “อย่าหาทางทำลายรัสเซีย”

ด้านรัฐบาลยูเครนมีท่าทีตรงข้ามกับรัสเซียอย่างสิ้นเชิง โดยประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ออกมาแสดงความเสียใจและกล่าวขอบคุณนายจอห์นสัน สำหรับการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่เขาทำเพื่อช่วยเหลือยูเครน ขณะที่นาย ดีมีโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ออกแถลงการณ์ชื่นชมนายจอห์นสัน และจดจำเรื่องที่เขามาเยือนยูเครนในตอนที่มืดมิดที่สุดตลอดไป

ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี. ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ก็ชื่นชมในความเข้มแข็งและยั่งยืนของความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร แต่หลีกเลี่ยงที่จะผู้ถึงนายจอห์นสันหรือผลงานต่างๆ ของเขาโดยตรง และว่าเขาตั้งตารอที่จะทำงานร่วมกับอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรท่ามกลางเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากมาย

อย่างไรก็ตาม รัสเซียไม่ใช่ประเทศเดียวที่วิพากษ์วิจารณ์นายจอห์นสัน เนื่องจากเขาทำให้สมาชิกสหภาพยุโรปมากมายไม่พอใจที่ผลักดันเรื่องการแยกตัวของสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิต โดยนาย กาย เวอร์โฮฟชตาดต์ อดีตผู้ประสานงานเรื่องการเบร็กซิตของรัฐสภายุโรป กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง EU และ UK เสียหายใหญ่หลวงเพราะการตัดสินใจของนายจอห์นสัน และการปกครองของเขาจบลงอย่างอัปยศเหมือนกับโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อนของเขา

นายมิเชล บาร์นีเยร์ อดีตหัวหน้าทีมเจรจาของสหภาพยุโรป กล่าวว่า การจากไปของนายจอห์นสันเป็นการเปิดหน้าหนังสือใหม่ของความสัมพันธืกับสหราชอาณาจักร ซึ่งเขาหวังว่าจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์, มีการเคารพกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องสันติสุขและความมั่นคงในไอร์แลนด์เหนือ และเป็นมิตรกันมากขึ้น

ส่วนนาย ไมเคิล มาร์ติน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ก็มองว่าการลาออกของนายจอห์นสันเป็นโอกาสสำหรับการรีเซ็ตความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรเช่นกัน โดยเขายอมรับว่า ไม่ได้เห็นด้วยกับนายจอห์นสันทุกเรื่อง และว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของพวกเขาตึงเครียดและเต็มไปด้วยความท้าทายมาสักพักแล้ว