ประเทศหิวแสง! เมื่ออังกฤษอยากเป็นเจ้าโลก ญี่ปุ่น “อยากมีซีน” 

อังกฤษอยากเป็นเจ้าโลกอีกครั้ง และเมื่อญี่ปุ่น “อยากมีซีน” ในศึกชิงอำนาจโลก

ไม่มีใครไม่อยากเป็นใหญ่ และเพื่อให้เป็นใหญ่ บางคนทำได้ทุกอย่างแม้แต่เรื่องที่ไม่เข้าท่า

อังกฤษเคยเป็นมหาอำนาจในศตวรรษก่อน มาวันนี้เป็นแค่ลูกไล่ของสหรัฐ จนผู้นำบางคนเคยถูกปรามาสว่าเป็นแค่ “หมาพูดเดิล” ของประธานาธิบดีสหรัฐ

แต่อังกฤษก็มีมานะ ใครล่ะอยากจะถูกเย้ยว่าเป็นพูดเดิลของประเทศอื่น? ในระยะหลังอังกฤษจึงเผยท่าทีแบบไม่เหนียมอีกต่อไปว่าจะต้องทำให้ตนเองยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตให้จงได้

เราจะเห็นได้จากนโยบาย “Global Britain” ที่ผลักให้ตัวเองมาอยู่บนแถวหน้าเวทีโลกอีกครั้ง การทำเป็นรูปธรรมคือการส่งเรือรบ UK Carrier Strike Group มาทะเลจีนใต้บ้าง แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันบ้าง แวะที่ญี่ปุ่นบ้าง

ถามจริงๆ ว่าอังกฤษเกี่ยวกับความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกตรงไหน?

อังกฤษมีพฤติกรรมคล้ายๆ ญี่ปุ่น ทั้งสองประเทศนี้ “เคยใหญ่” มาก่อน ญี่ปุ่นนั้นเคยกร่างจนทำร้ายเอเชียจนป่นปี้มาแล้ว กระทั่งถูกปราบจนเชื่องโดยสหรัฐครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ระยะหลังคงเกิดมานะแบบเดียวกับอังกฤษ ญี่ปุ่นจะแสดงออกทางทหารบ่อยครั้งขึ้นและเริ่ม “นอกลู่นอกทาง” มากขึ้น จากที่ควรจะเป็นเพียง “กองกำลังป้องกันตัวเอง” ก็เริ่มอยากจะแก้รัฐธรรมนูญตั้งกองทัพขึ้นมาอีก

แม้จะส่งทหารไปต่างประเทศเพื่อช่วย “ภารกิจด้านมนุษยธรรม” หรือ “เพื่อธำรงสันติภาพ” แต่ก็กลับไปซ้อมรบกับพันธมิตรต้านจีน

ทางการเมืองระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นเสนอหน้าท้าชนจีนโดยอาศัยอดีตนายกรัฐมนตรีออกมาใช้คำ “เตือน” แบบแรงๆ ว่าการรุกรานไต้หวัน จะเป็นการฆ่าตัวตายของจีน 

หากติดตามสื่อญี่ปุ่น จะทราบว่าบรรยากาศการเสนอข่าวเป็นไปในทางลบต่อจีนมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือยุทธวิธีหนึ่งในการปั่นอารมณ์ให้เกิดความพร้อมต่อการ “รุก” และบรรยากาศแบบนี้กำลังสุกงอมในโลกตะวันตก

ญี่ปุ่นแสดงตนชัดเจนว่ารับจีนไม่ได้ และโผไปซบกับพันธมิตรต่อต้านจีนที่ฟอร์มทีมโดยสหรัฐ พร้อมกับอ้าแขนรับเรือรบจากอังกฤษที่ข้ามทวีปมายุ่งกับจีนเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ญี่ปุ่นเหมือนกับอังกฤษตรงที่เสนอตัวไปยุ่งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิศาสตร์ที่ตัวเองไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วย

ล่าสุดคือญี่ปุ่นพยายามไปเกี่ยวข้องกับกรณียูเครน

นายกฯ ญี่ปุ่นโทรไปหารือกับผู้นำยูเครนบ้าง ประกาศส่งก๊าซธรรมชาติไปช่วยยุโรปบ้าง ทั้งหมดนี้ถ้ามองด้วยเจตนาที่โลกสวยก็ดีไป

แต่ถ้ามองด้วยเจตนาที่ระแวงหน่อยก็คงต้องบอกว่า “ญี่ปุ่นมีความสามารถอะไรในการคลี่คลายปัญหานี้?”

เอาแค่เรื่องก๊าซธรรมชาติที่ญี่ปุ่นขันอาสาส่งให้ยุโรปนั้นก็อดสงสัยไม่ได้ เพราะมันเหมือน “เตี้ยอุ้มค่อม”

ยุโรปซื้อก๊าซจากรัสเซียก็จริง แต่ความขัดแย้งยังแรงไม่ถึงกับปิดท่อส่งก๊าซเลิกคบเลิกค้ากัน ขณะที่ญี่ปุ่นนั้นยังต้องซื้อก๊าซจากชาวบ้านด้วยซ้ำ เพราะตัวเองไม่มีทรัพยากรอะไร

แล้วจะเสนอตัวไปช่วยคนที่ยังไม่มีปัญหาทำไม ทั้งๆ ที่ปัญหาตัวเองก็มี?

โคอิจิ ฮางิอุดะ รัฐมนตรีพาณิชย์ญี่ปุ่นอ้างว่าที่เสนอช่วยด้วยก๊าซ (ที่ตัวเองก็ต้องซื้อเขามา) ก็เพราะระลึกถึงน้ำใจที่ยุโรปและสหรัฐเป็นกลุ่มแรกเคยช่วยส่งก๊าซมาให้ญี่ปุ่นตอนแผ่นดินไหวและสึนามิที่โทโฮกุปี 2011 เมื่อยูโรปลำบาก ก็ถึงคราวที่ญี่ปุ่นจะต้องยื่นไมตรีช่วย

แต่อย่างที่บอกคือยุโรปไปลำบากเรื่องก๊าซตอนไหน? มันเลยดูเป็นการหาเหตุผลแบบพิกลๆ มากลบเจตนาที่แท้จริงทางการเมืองของญี่ปุ่นมากกว่า

นายกคิชิดะของญี่ปุ่นโทรหาประธานธิบดีเซเลนสกีวันที่โอลัฟ ช็อลทซ์นายกเยอรมนีบินไปหารือ (หรือเจรจา?) กับปูตินพอดี วันนั้นเองที่รัสเซียเเริ่มถอนทัพบางส่วน เรื่องนี้รัสเซียบอกว่าเป็นการถอนทหารตามแผน หลังจาก “ซ้อมรบเสร็จแล้ว”

แต่น่าสงสัยว่าเป็นความพยายามส่วนหนึ่งของนายกเยอรมนีด้วย ส่วนคิชิดะนั้นเข้าไปอยู่ในสป็อตไลท์โดยบังเอิญแท้ๆ

ว่ากันตามตรง ญี่ปุ่นมายุ่งเรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นผลดีนัก นอกจากจะไม่เกี่ยวโดยตรงแล้ว ตัวเองยังจะถูกรัสเซียตอบโต้เอาด้วย ด้วยการไปร่วมทีมต้านจีน-รัสเซีย

จีนไม่อยากจะยุ่งกับกรณียูเครน แต่ญี่ปุ่นนั้นยุ่งจนเกินหน้าเกินตา

แต่ญี่ปุ่นจะลืมไม่ได้ว่าพวกที่ไปยุ่งกับยูเครนคือพวกชาติตะวันตกนั้น แซะจีนไม่หยุดว่าจีนทำเฉยเรื่องรัสเซียขู่ยูเครนเท่ากับจีนรู้เห็นเป็นใจใช่ไหม หรือว่าจีนไม่ทำอะไรเท่ากับจีนสมรู้ร่วมคิด และไปถึงขนาดว่าการใกล้ชิดกับรัสเซียเป็นเรื่องน่ากังวล

การที่ประเทศที่มีพรมแดนติดกันเป็นพันๆ ไมล์จะใกล้ชิดกันมันน่ากังวลตรงไหน? นอกจากจะกลัวกันว่ามหาอำนาจแห่งเอเชีย-ยูเรเซียจะผนึกกำลังกันจนพวกตนต้านไม่ไหว

ญี่ปุ่นไปท้าทายจีนมากๆ ระวังรัสเซียจะปรี่เข้าไปช่วยจีนแล้วซัดญี่ปุ่นก็แล้วกัน แม้ว่าโอกาสที่จีน-รัสเซียจะรุมประเทศอื่นนั้นมีน้อย ไม่เหมือนพวก “พระเอกชาติตะวันตก” ทำกับจีนและรัสเซียตอนนี้

อย่าลืมว่าญี่ปุ่นต้องการให้รัสเซียคืนเกาะคูริลที่รัสเซีย (โซเวียต) ยึดไว้ตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อญี่ปุ่นแสดงอาการว่ารัสเซียเป็น “ผู้ร้าย” ก็ระวังรัสเซียจะไม่คืนของให้

อย่าลืมว่าญี่ปุ่นอยู่ไม่ค่อยเป็นสุขเพราะเกาหลีเหนือชอบยิงขีปนาวุธเฉียดไปเฉียดมา รัสเซียนั้นสนิทสนมกับเกาหลีเหนือ วันดีคืนดีถ้ารัสเซีย “สนับสนุน” เกาหลีเหนือขึ้นมาบ้าง ญี่ปุ่นจะอยู่ลำบากกว่านี้

นี่ไม่ใช่เดาไปเองว่าญี่ปุ่น “หิวแสง” ด้วยการยั่วยุรัสเซีย ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม มีการประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น-สหรัฐ ญี่ปุ่นทำให้รัสเซียโมโหและ “ฉงนใจ” ที่บอกว่าจะใช้ “การกระทำที่แข็งกร้าว” ในกรณียูเครน

เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียบอกว่า “เราตรวจสอบรายงานด้วยความฉงนใจว่าในการประชุมสุดยอดญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เมื่อวานนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นพยายามคุกคามรัสเซียด้วย ‘การกระทำที่แข็งกร้าว’ ‘ในการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ’ ในบริบทของยูเครน นี่ชัดเจนว่า (เรา) ไม่อาจยอมรับได้ถึงความไร้เหตุผลของข้อความดังกล่าวตลอดจนการเป็นปฏิปักษ์บรรยากาศของความสัมพันธ์และการเจรจาระหว่างรัสเซีย – ญี่ปุ่น”

ไม่ให้ฉงนใจได้ยังไง เพราะญี่ปุ่นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้เลย จู่ๆ ดันมาขู่รัสเซียว่า “จะทำรุนแรง” ด้วย

แต่อย่าลืมว่าญี่ปุ่นเป็นที่ตั้งของกองทัพสหรัฐ กระนั้นประชาชนญี่ปุ่นกลับไม่ต้องการฐานทัพพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รัฐบาลของพวกเขาที่กระหายอยากมีกองทัพของตนเองมากขึ้น

การที่มีสหรัฐมาตั้งฐานทัพจ่อรัสเซียและจีน รวมถึงอาการอยากจะมีกองทัพ ทำให้เมื่อญี่ปุ่นแสดงท่าทีเอนเอียงไปทางกลุ่มที่ต้องการเผชิญหน้าเมื่อไร ญี่ปุ่นจะตกอยู่ในอันตรายเมื่อนั้น และทำให้โลกอันตรายไปด้วย

อย่างอังกฤษนั้นแม้จะเกี่ยวกับกรณียูเครนอยู่ (บ้าง) แต่มีส่วนในแบบที่น่าเอือมระอา เพราะเอาแต่เตือนแบบรายวันว่า “รัสเซียจะบุกแล้วนะ” ซึ่งรัสเซียก็ไม่ได้บุกเสียที ขจนกระทั่งผู้นำบยูเครนต้องอกมาเย้ยให้พวกตะวันตกเลิกปั่นเสียที

อย่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เช้าขึ้นมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ คือ ลิซ ทรัสส์ บอกว่า “การรุกรานยูเครนของรัสเซียยังคงมีแนวโน้มสูงและอาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้า”

ในอีกไม่ถึงชั่วโมงต่อมา มีรายงานด่วนเข้ามาว่ารัสเซียถอนกำลังบางส่วนออกจากชายแดนยูเครน

ในอีกไม่กี่นาทีหลังจากข่าวนั้น ลิซ ทรัสส์บอกว่า “จำเป็นต้องรอดูการกำจัดกองกำลังรัสเซียทั้งหมดออกจากชายแดนเพื่อให้เชื่อว่าพวกเขาไม่มีแผนสำหรับการบุกรุก”

เราจะเห็นการบลั๊ฟของฝ่ายรัสเซียต่อการปั่นของอังกฤษแบบทันตาเห็นก็คราวนี้

ที่แปลกประหลาดพิสดารที่สุดคือวันเดียวกันนั้น นายกบอริส จอห์นสัน โพสต์ภาษาจีนในเวยปั๋ว (โซเชียลทมีเดียของจีน) วอนให้รัสเซียหยุดคุกคามยูเครน ชาวจีนถึงกับไปไม่เป็น แต่ก็ช่วยชี้ทางสว่างให้ว่า “ปูตินไม่ได้อยู่ที่นี่ มาโพสต์อะไรตรงนี้”

จะเห็นว่าแนวโน้มนโยบาย “โหนกระแส” และ “อยากมีซีน” ของบางประเทศ มันไม่ใช่แค่ทำให้สถานการณ์ของโลกนั้นตึงเครียดขึ้น แต่ยังทำให้ชาวโลกงงเป็นไก่ตาแตกกันเป็นครั้งคราว

รัสเซียก็ฉงนใจกับนายกญี่ปุ่น ส่วนจีนก็มึนกับนายกอังกฤษ

ประเทศพวกนี้อาจจะแก้ตัวว่าทำเพื่อแก้ไขวิกฤตหรือเพื่อสร้างสันติ (บลาๆ ๆ) แต่ขอให้พฤติกรรมแวดล้อมที่ผ่านมา มันไม่ใช่เพื่อคนอื่น

แต่มันเป็นการกระทำเพื่อดันตัวเองให้เด่นดัง โดยเดิมพันกับเสถียรภาพของโลกต่างหาก