ปิดม่านสูตรหาร 500 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่สำเร็จ! สภาล่มตามความคาดหมาย กลับไปใช้สูตรหาร 100

สภาล่มตามความคาดหมาย ทำให้ลงมติแก้ไขกฎหมายลูกประกอบสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 500 ไม่สำเร็จ ต้องกลับไปใช้สูตรหาร 100 โดยปริยาย

วันนี้ (15 ส.ค.) ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ในวาระสอง ต่อเนื่องในมาตรา 24/1 ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบอีก ทำให้ไม่สามารถลงมติแก้ไขกฎหมายลูกประกอบสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  แบบ “หาร 500” ได้

การประชุมร่วมกันรัฐสภา ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานการประชุม โดยช่วงแรกมีการให้รอองค์ประชุมให้ครบ แต่เมื่อรอถึงเวลา 10.09 น. ปรากฏว่าเหมือนมีองค์ประชุมครบ คือ ส.ว. 165 คน และ ส.ส. 200 คน จึงเริ่มกระบวนการลงมติในมาตรา 24/1 ต่อจากวาระการประชุมครั้งก่อน

แต่เมื่อเปิดให้สมาชิกรัฐสภาฯ มาร่วมลงมติ เมื่อนับองค์ประชุมอีกครั้ง กลับนับได้เพียง 349 คน ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบ จึงสั่งปิดการประชุม แต่มีเสียงคัดค้าน ขอให้มีการขานชื่อนับองค์ประชุม

นายชวน ตอบว่า “รู้กันว่าไม่ใช่เรื่องของความเกียจคร้าน…วันนี้เป็นความเห็นของกฎหมาย ไม่อยากให้วิจารณ์ว่าใครมาหรือไม่มา ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ให้สมบูรณ์” และท้ายสุด เมื่อให้นับองค์ประชุมอีกครั้ง พบว่ามีจำนวน 353 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม จึงประกาศปิดการประชุม

องค์ประชุมไม่ครบ ปิดการประชุมก่อน 11.00 น.

เหตุสภาล่มในวันที่เป็นเส้นตายก่อนครบกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ประธานรัฐสภาให้บรรจุในระเบียบการประชุม ส่งผลให้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 2563 ข้อที่ 101 ซึ่งกำหนดว่า “ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่าง พ.ร.ป. ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระสอง” หรือก็คือร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ฉบับ กมธ. เสียงข้างมาก และได้กลับไปใช้สูตรหาร 100 โดยปริยาย

สภาล่ม ต้องกลับไปสูตรหาร 100

ฟันธงไว้อยู่แล้ว ?

ก่อนหน้านี้ หลายพรรคการเมืองออกมาส่งสัญญาณ และคาดการณ์อยู่แล้วว่าองค์ประชุมจะไม่ครบ จนไม่สามารถลงมติแก้ไขกฎหมายลูกประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ได้

นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกคว่ำกลางสภา เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เนื่องจากมีหลายพรรคไม่เห็นด้วย หรือแม้หากกฎหมายผ่าน ก็คิดว่าจะถูกตีตกในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ และจะไม่มีกฎหมายสำหรับเลือกตั้งที่ใช้สำหรับรับการเลือกตั้ง ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงหากมีเหตุการณ์ยุบสภาในช่วงนี้ จะไม่สามารถเลือกตั้งได้ และนายกรัฐมนตรีจะสามารถรักษาการยาวได้

จึงคาดการณ์ได้ว่าหากปล่อยให้เป็นไปตามนี้ จะทำให้รัฐบาลอยู่ยาว ผูกขาดอำนาจ และจะเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีชุดนี้ 8 ปีที่ผ่านมาประชาชนไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อวิกฤตการเมือง

ฟันธงว่าสูตรหาร 500 ถึงทางตัน

สำหรับแนวคิดการกลับไปใช้บัตรใบเดียวได้หรือไม่ มองว่า ความเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเร่งดำเนินการในสมัยประชุมที่เหลืออยู่ยังสามารถทำได้ โดยในส่วนของพรรคเพื่อไทย แสดงเจตนารมณ์มาตลอดว่า ระบบเลือกตั้งต้องสะท้อนอำนาจของประชาชน ในฐานะเสียงข้างน้อยก็พยายามสู้กับหลักการ เพราะประสบการณ์การมีบัตรใบเดียวก็เคยเห็นมาแล้วว่า เป็นวิธีการที่ทำลายระบบรัฐสภา ทำลายระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะคัดค้านและไม่เห็นด้วย แต่ถ้าจะกลับไปใช้บัตรใบเดียว ต้องมีวิธีการคำนวณที่สอดรับกันด้วย

ด้าน นพ. ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แถลงข่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (15 ส.ค.) ว่าการประชุมที่เกิดขึ้นในวันนี้กลุ่มพรรคเล็กได้ใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก หลังจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่มในการพิจารณากฎหมายลูกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ทราบว่านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าการนัดประชุมในวันนี้เป็นไปได้ยาก แต่ท้ายที่สุดสภาตัดสินใจในการนัดประชุมวันนี้ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่ายินดีที่จะไปให้สุดทาง ไม่ว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นให้ถือว่าสภาได้ทำหน้าที่อย่างสุดทางแล้ว

ส่วนการยื่นตีความการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นมองว่า พล.อ. ประยุทธ์จะไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ แม้จะดำรงตำแหน่งติดต่อกัน ซึ่งคำว่าติดต่อนั้นมีความหมายว่าจะต้องย้อนหลังไปด้วย แต่ยังไม่มีบทบัญญัติใดระบุไว้ว่าไม่ให้นับย้อนหลัง หรือยกเว้น ซึ่งพรรคฝ่ายค้านจะร่วมลงชื่อยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 ส.ค. นี้ เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความ และขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยขณะนี้รอประธานนัดหมายวันและเวลาอีกครั้ง.

อย่างไรก็ตาม หากเกิดพฤติกรรมที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยจับมือกันจริง มองว่ามวลชนของทั้งสองฝ่ายไม่ทราบว่าจะพอใจอยู่หรือไม่ ซึ่งประชาชนจะพิพากษาพรรคพลังประชารัฐหรือไม่จะต้องมาดูกันอยู่ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งไม่แน่ว่าประชาชนอาจเปลี่ยนใจมาเทคะแนนให้กับพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กหรือไม่