ป่วยโควิด! ติดต่อ สปสช. เช็กสิทธิพื้นฐาน ลงทะเบียน “เจอ แจก จบ” รับยาสาธารณสุขใกล้บ้าน รพ.สังกัด กทม.

  • ป่วยโควิด ณ ปัจจุบัน สามารถลงทะเบียนรับยาแบบ เจอ แจก จบ ที่สาธารณสุขใกล้บ้าน และ รพ.สังกัด กทม. ได้ทันที
  • โอกาสได้ยาต้านไวรัส ฟาวิฯ หรือ ยาโมลนูพิราเวียร์ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แม้จะเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข 

ท่องไว้เสมอ ว่าเราต้องอยู่กับ “โควิด” ให้ได้ เพราะไม่ว่าใคร อยู่ในสถานการณ์ไหน เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย ก็มีโอกาสติดได้ทั้งนั้น

ซึ่งตลอด 2 ปีกว่า ที่ผ่านมา หลายคนคงได้ทำความรู้จักกับโควิดมาแล้ว ผ่านประสบการณ์ทั้งดี ร้าย เพื่อเป็นเกราะในการรับมือ และเตรียมตัวว่า หากต้องติดโควิดซะเอง ไม่ว่าระลอกไหน เราจะต้องแจ้งหน่วยงานใด เพื่อขอรับยา รวมถึงหากคนในครอบครัว ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 608 หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว ติดโควิด เราจะต้องมีวิธีจัดการอย่างไร

ติดต่อ สปสช. เช็กสิทธิพื้นฐาน

ในสายด่วน สปสช. 1330 (ติดต่อได้ตลอด 24 ชม.) เป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะรู้ได้ว่า เรามีสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาตัวที่ใด ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแนะนำช่องทางการติดต่อ เพื่อไปรับยาพื้นฐาน รวมถึงยาต้านไวรัส ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่จะได้รับยาต้านไวรัส จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์สาธารณสุขเท่านั้น

หรือหากสะดวก จะเช็กสิทธิของตัวเอง ผ่านเว็บไซต์ของ สปสช. ได้ที่นี่ โดยกรอกข้อมูล เป็นเลขประจำตัวบัตรประชาชน, วัน เดือน ปีเกิด, ระบุตัวอักษรตามภาพที่เห็น จากนั้นกด ตกลง

รีวิวรับยาสาธารณสุขใกล้บ้าน

ในกรณีที่มีสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ส่วนใหญ่จะมีสิทธิปฐมภูมิอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ในเขตต่างๆ ซึ่งหากตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด สามารถเดินทางไปรับยาได้เอง หรือจะให้ญาติไปรับแทนก็ได้ ซึ่งเราเป็นหนึ่งในผู้ที่เดินทางไปรับยาให้แม่ ที่ตรวจพบโควิด ด้วยการตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด โดยสิ่งที่ต้องเตรียมไปด้วยคือ บัตรประชาชนตัวจริง ของผู้ป่วยโควิด รูปถ่าย ATK ที่ตรวจพบ 2 ขีด และข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น อายุ ส่วนสูง น้ำหนัก อาการจากโควิด โรคประจำตัว ยาที่แพ้ จำนวนและชนิดของวัคซีนที่เคยฉีดมาแล้ว

เมื่อเจ้าหน้าที่ซักประวัติเสร็จ หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ก็จะให้นั่งรอรับยา เพื่อนำกลับไปกินระหว่างการรักษาแบบ Home Isolation ทั้งนี้ หากใครตรวจพบว่า ติดโควิด หรือคนในครอบครัวติดโควิด แนะนำให้ไปแต่เช้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในบางเขต อาจจะมีไม่เพียงพอกับผู้มาเข้ารับบริการ ทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งหลังจากที่เรา แจ้งประวัติเสร็จเรียบร้อย ต้องนั่งรอรับยาอย่างเดียวกว่า 1 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำว่า หากผู้ป่วยตรวจพบ 2 ขีด สามารถแจ้งขอรับยาได้ที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตของตัวเองได้เลย ไม่ต้องมาขอรับยาตามสิทธิ ในสาธารณสุขที่ตัวเองมีชื่ออยู่ก็ได้ เพื่อความสะดวกในการติดตามอาการ และการส่งต่อผู้ป่วย หากเกิดอาการรุนแรงขึ้นภายหลัง

ทั้งนี้ ยาที่ได้รับมา นอกจากยาตามอาการ อย่าง ยาพาราเซตามอล ยาแก้ไอ แล้วยังได้รับยาฟาวิฯ มาด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยอาการของแพทย์ ร่วมกับโรคร่วมของผู้ป่วย

แต่หากพบว่า ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น สามารถเข้ารับบริการยังหน่วยบริการใกล้บ้านได้เช่นเดิม หรือแจ้งข้อมูล ขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน ศูนย์เอราวัณ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

การรับยา แบบเจอ-แจก-จบ ในโรงพยาบาลสังกัด กทม.

แต่หากใครไม่สะดวก สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้เปิดช่องทางการลงทะเบียนรับยาผู้ป่วยโควิด เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และลดความแออัด ทุกสิทธิการรักษา ผ่าน QR Code เพียงกรอกข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ประวัติการรักษา ประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด อาการของผู้ป่วย พร้อมทั้งเลือกโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครใกล้บ้านที่สะดวกไปรับยา

ทั้งนี้ ลงทะเบียนก่อนเวลา 12.00 น. สามารถมารับยาได้ภายใน 16.00 น. วันเดียวกัน กรณีลงทะเบียนหลังเวลา 12.00 น. ให้มารับยาในวันรุ่งขึ้น หากผู้ป่วยลงทะเบียนรับยาที่โรงพยาบาลอื่นแล้ว ไม่สามารถลงทะเบียนได้ซ้ำอีก ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี สามารถมารับบริการได้โดยตรงที่โรงพยาบาล

ซึ่งก็พบว่า สามารถลงทะเบียนได้ง่าย และรับยาได้รวดเร็วจริงๆ ในส่วนของยาต้านไวรัสนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจ่ายยาของแพทย์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากการเข้ารับบริการลงทะเบียนรับยา จากโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ยังมีความสับสนในเรื่องของเวลาที่จะให้ญาติผู้ป่วยมารับยาที่โรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมา เราลงทะเบียนรับยา ตั้งแต่ 08.00 น. และทางโรงพยาบาลแจ้งว่า ให้มารับยาได้ก่อน 15.00 น. ห้ามเลท แต่เมื่อมาถึงตอน 13.00 น. กลับได้รับแจ้งว่า ลงทะเบียนตอนเช้า จะได้รับยารอบหลัง 15.00 น. ซึ่งไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ในระบบคิวอาร์โค้ด

ทั้งนี้ หากทางโรงพยาบาล มีการปรับเปลี่ยนเวลา ควรประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ของโรงพยาบาล ให้ได้รับทราบ เพื่อที่จะได้แก้ไขเรื่องความแออัด จากการมารอรับยาที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมากได้อย่างแท้จริง.