ผู้ติดเชื้อ “โควิด-19” เสียชีวิตกลับมาทำ “นิวไฮ” ที่ 88 ศพ ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย กว่าครึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน

ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เสียชีวิตกลับมาทำนิวไฮที่ 88 ศพ ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยและกว่าครึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะเดียวกันพบผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 275 คน ในช่วงสองสัปดาห์ สธ.เร่งฉีดวัคซีนอย่างด่วน พร้อมให้ อสม.ผนึก รพ.สต.หิ้วกระเป๋าเข้าฉีดในพื้นที่ห่างไกล โดยเตรียมไว้ 3 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีดเข็มกระตุ้นให้คนสูงวัยร้อยละ 70 ก่อนสงกรานต์ หลังผลการศึกษายืนยันฉีดเข็ม 3 ขึ้นไปเอาอยู่ ทั้งป้องกันติดและการตายได้ พร้อมเตือนถึงวงรอบการระบาดของไข้เลือดออก ให้เฝ้าระวังเข้มงวด ห่วงติดเชื้อร่วมแล้วแยกอาการยาก

ไทยยังต้องลุ้นยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เสียชีวิตรายวัน ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยทะลุกว่า 80 ศพเป็นวันที่สี่ ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มกระเตื้องขึ้น

ติดเชื้อเริ่มลดเล็กน้อย

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23,441 คน (ยอดตรวจ ATK 15,177 คน) เป็นการติดเชื้อในประเทศ 23,357 คน มาจากเรือนจำ 46 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 38 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 23,153 คน อยู่ระหว่างรักษา 240,339 คน อาการหนัก 1,464 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 514 คน เสียชีวิตเพิ่ม 88 คน ถือว่าสูงสุดในรอบสัปดาห์อีกครั้ง มีผู้เสียชีวิตที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 66 คน มีโรคเรื้อรัง 17 คน มียอดติดเชื้อ สะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,377,410 คน ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,112,737 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 24,334 คน ขณะที่เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ฉีดวัคซีนได้เพิ่ม 93,021 โดส รวมฉีดวัคซีนสะสม 127,383,667 โดส

3 จว.ติดเชื้อเกินพัน

สำหรับ 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ประกอบด้วย กทม. 2,870 คน นครศรีธรรมราช 1,625 คน ชลบุรี 1,128 คน สมุทรสาคร 908 คน สมุทรปราการ 865 คน ระยอง 737 คน พัทลุง 547 คน สงขลา 533 คน ฉะเชิงเทรา 524 คน และราชบุรี 519 คน ขณะเดียวกันพบ จ.น่าน เพียงจังหวัดเดียว ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

โควิดคร่าผู้สูงวัยต่อเนื่อง

ต่อมา นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ยอดผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 14 วันอยู่ที่ 23,540 คน จุดสำคัญที่เน้นติดตามในขณะนี้คือ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมีปอดอักเสบ โดยวันที่ 21 มี.ค. อยู่ที่ 1,464 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 514 คน เสียชีวิต 88 คน โดยผู้ป่วยปอดอักเสบ มีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ จาก 1,189 คน เป็น 1,464 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ จาก 400 คน เป็น 514 คน และผู้เสียชีวิต ยกระดับจาก 70 คน ผ่านมา 2 สัปดาห์ สูงขึ้นเป็น 88 คน เป็นที่ทราบกันดีว่าจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต จะตามหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ เป็นที่คาดการณ์จากแบบจำลองการระบาดที่วางไว้ โดยจำนวนนี้ยังอยู่ในระดับที่เรารับมือได้ค่อนข้างดี เป็นระดับเส้นสีเขียว

กว่าครึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า สำหรับข้อมูลการเสียชีวิต 88 คน แบ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่มีรายงานปอดอักเสบรุนแรง 74 คน ไม่ระบุหรือไม่มีรายงานปอดอักเสบ 14 คน และเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง คิดเป็นร้อยละ 94 ของผู้เสียชีวิตในวันนี้ ในจำนวนนี้ไม่ได้รับวัคซีน 44 คน คิดเป็นร้อยละ 52 ทั้งที่ในประเทศไทย ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วถึงร้อยละ 80 ซึ่งหมายความว่า คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยมีอยู่ร้อยละ 20 แต่ปรากฏว่า ในคนที่เสียชีวิตและไม่ได้รับวัคซีนมีสูงถึงร้อยละ 52 ซึ่งน่าเสียดายที่บุคคลเหล่านี้ขาดโอกาสได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิต

ไม่ถึง 3 เดือนตายแล้ว 2.4 พัน

นพ.เฉวตสรรกล่าวอีกว่า ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 มี.ค.65 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2,464 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ย 73 ปี อายุน้อยที่สุด 3 เดือน มากที่สุด 107 ปี เสียชีวิตจากโรคประจำตัว 2,135 คน พบมากที่สุดคือโรคความดันโลหิตสูง 1,157 คน รองลงมาคือ เบาหวาน 748 คน ไตเรื้อรัง 440 คน อ้วน 188 คน ไขมันในเลือดสูง 158 คน เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงของผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ สัมผัสผู้ติดเชื้อ 1,358 คน ไม่สามารถระบุได้ 735 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง 219 คน สำหรับผู้เสียชีวิตที่มีข้อมูลว่าฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มนั้น อาจพบได้ บางคนอาจมีโรคประจำตัวและเหตุอื่นประกอบ และวัคซีนไม่ได้ป้องกันเต็มร้อย เวลาประเมินคนทั้งประเทศจำนวนมากๆ อาจพบได้ว่าเสียชีวิตแม้ว่าจะฉีดวัคซีน แต่ภาพรวมของประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มาก

ปอดอักเสบ กทม.ทะลุร้อย

นพ.เฉวตสรรกล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบจนถึงวันที่ 20 มี.ค. มีจำนวน 1,464 คน เฉลี่ยจังหวัดละ 19 คน มีอัตราการครองเตียงทั่วประเทศ ร้อยละ 25.80 เป็นผู้ป่วยในกรุงเทพฯสูงสุดเกินร้อย มีเพียงจังหวัดเดียวคือ 193 คน อัตราครองเตียง
ร้อยละ 31.40 นอกนั้นมีจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบน้อยกว่า 100 คน เช่น สมุทรปราการ 87 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 44.00 นครราชสีมา 61 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 27.20 นครศรีธรรมราช 57 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 16.30 ขณะนี้ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 มีการนำเสนอจำนวนผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มเติม จะทำให้เราเห็นภาพสถานการณ์ดีขึ้น หากเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่ เราจะไม่ดูตัวเลขผู้ป่วยรายวัน จะรายงานเฉพาะผู้ป่วยปอดอักเสบและรักษาตัวในโรงพยาบาล

3 เข็มขึ้นไปกันตายได้

สำหรับประสิทธิผลของวัคซีนนั้น นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานผลการติดตามการระบาดและการฉีดวัคซีนของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุใน จ.เชียงใหม่ ในแต่ละเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเดือน ต.ค.64 คิดเป็นร้อยละ 60 เดือน พ.ย. คิดเป็นร้อยละ 71 เดือน ธ.ค.ร้อยละ 79 เดือน ม.ค.65 ร้อยละ 76.5 และเดือน ก.พ.ร้อยละ 89.5 ผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องเร่งป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน ผลการศึกษาวัคซีนใน จ.เชียงใหม่ เดือน ก.พ.65 ด้านการป้องกันการติดเชื้อ 2 เข็มไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้ ส่วน 3 เข็มป้องกันได้ร้อยละ 45 ส่วน 4 เข็มป้องกันได้ร้อยละ 82 และประสิทธิภาพการป้องกันการเสียชีวิต พบว่าในเดือน ก.พ.ผู้ที่ฉีด 2 เข็ม ป้องกันการเสียชีวิตได้ร้อยละ 85 ส่วน 3 เข็มป้องกันได้ร้อยละ 98 และ 4 เข็ม ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากผู้ที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม เมื่อเทียบประสิทธิผลระดับประเทศ พบว่าวัคซีน 2 เข็มป้องกันการเสียชีวิตได้ร้อยละ 79.2 ส่วน 3 เข็มป้องกันได้ร้อยละ 87 เป็นการย้ำให้เห็นว่าการฉีด 2 เข็มป้องกันการป่วยและเสียชีวิต และเข็มที่ 3 ยังจำเป็นเพราะป้องกันการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 87 ดังกล่าว

วัคซีนดั่งเรือพาหนีน้ำท่วม

“การระบาดระลอกนี้ ร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตคือผู้สูงอายุ และกว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย และอีกร้อยละ 29 ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น ขอยืนยันว่าการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัยแน่นอน ประเทศไทยฉีดไปแล้วมากกว่า 127 ล้านโดส หากมีอาการไม่พึงประสงค์ มี สปสช.ดูแลเยียวยา ทั้งนี้การฉีดวัคซีนเหมือนเรือที่พาหนีน้ำท่วมไปอยู่ที่ปลอดภัย ถ้าไม่ฉีดก็เหมือนรอน้ำท่วม เสี่ยงที่จะจมน้ำเสียชีวิตได้ ตอนนี้คลื่นน้ำของการระบาดของโอมิครอนเห็นชัดมาก เพื่อนร่วมงาน ญาติ และ ครอบครัวติดโควิด ถ้าเราไม่กระตุ้นเตือนผู้สูงอายุว่า มีเรือที่ปลอดภัยที่พาหลบจากน้ำท่วมได้ ก็เท่ากับเราปล่อยให้เขาอยู่ในความเสี่ยง” นพ.เฉวตสรรกล่าว

เตรียม 3 ล้านโดสให้ผู้สูงวัย

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติและคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ดังนี้ 1.การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น สำหรับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ในทุกสูตร ส่วนเข็ม 4 ให้ฉีดห่างจากเข็ม 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครึ่งโดส ทำได้ตามดุลพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน 2.การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม เข้ารับวัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 3 โดยใช้ขนาดโดสมาตรฐาน มีระยะห่างจากเข็ม 2 ตั้งแต่ 4-6 เดือนขึ้นไป 3.การฉีดวัคซีนสำหรับผู้มีประวัติติดเชื้อโควิดมาก่อน ให้ฉีดหลังจากการติดเชื้อแล้ว 3 เดือน สำหรับแผนการฉีดวัคซีนนั้น กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมรับเทศกาลสงกรานต์ โดยตั้งเป้าฉีดเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุให้ได้ร้อยละ 70 ก่อนสงกรานต์ โดยเตรียมวัคซีนไว้ 3 ล้านโดส

ไม่ชัวร์อาการพ่วงไข้เลือดออก

นพ.วิชาญกล่าวต่อว่า กรณีโรคไข้เลือดออกกับโรคโควิด-19 นั้น โรคไข้เลือดออกปกติจะมีฤดูกาลระบาด โดยเฉพาะฤดูฝน ลักษณะการระบาดคือปีเว้นปี และ 1 ปีเว้น 2 ปี ซึ่งในปีนี้กรมควบคุมโรคพยากรณ์ว่าจะพบไข้เลือดออกมากขึ้น เพราะ 2 ปี ที่ผ่านมามีการระบาดลดลง ปีนี้จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น การป้องกันควบคุมโรคทั้งไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 มีความแตกต่างกัน โดยไข้เลือดออก จะมีลักษณะไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดถึงกระดูก เบื่ออาหาร บางรายมีจุดเลือดออก หรือเลือดออกง่าย ส่วนอาการโควิด ส่วนใหญ่มีไข้ อาการทางระบบทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ส่วนความเสี่ยงของสองโรคก็มีความแตกต่างกัน โดยไข้เลือดออกเกิดจากยุงลาย ขณะที่โควิด-19 เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ไอจามรดกัน หากป่วย 2 โรคพร้อมกันจะอาการรุนแรงขึ้นหรือไม่นั้น ข้อมูลขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ ยังต้องเก็บข้อมูลต่อไป แต่มีความเป็นไปได้ว่าหากติดเชื้อทั้ง 2 โรค มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ผู้สูงอายุ จึงต้องระมัดระวัง

ไข้เลือดออกปีนี้จ่อมาแรง

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไข้เลือดออกปกติเริ่มระบาดหลังสงกรานต์มาก ปีนี้จับสัญญาณน่าจะระบาดเพราะไม่ระบาดมา 2 ปี ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ พอติดสายพันธุ์หนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันไปปีหนึ่ง ดังนั้นภูมิคุ้มกันคนไทยปีนี้ถือว่าน้อยมาก หากรับเชื้อเข้าไปโอกาสที่จะระบาดรุนแรงจึงมีสูง ปีนี้สายพันธุ์ที่น่ากังวลคาดว่าจะเป็นเดงกี่ 2 เพราะหากติดเชื้อร่วมกับสายพันธุ์อื่นจะทำให้โรคมีความรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง ไข้เลือดออกไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ จุดวิกฤติคือเมื่อไข้สูงแล้วจากนั้นจะลดลง ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจมีอาการเลือดออก เกิดภาวะช็อกได้ หากเลือดออกมากจะเกิดน้ำท่วมปอดเสียชีวิตได้

อาการเริ่มแรกแยกยาก

นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า อาการช่วงต้นๆ จะใกล้เคียงโควิด มีไข้ แยกไม่ออก ยกเว้นมีอาการทางเดินหายใจชัด เช่น มีน้ำมูก เจ็บคอ คล้ายโควิด หากมีไข้เฉยๆ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัวมาก คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ จะคล้ายไข้เลือดออก อาการ 2 โรคนี้จึงซ้อนกัน นอกจากตรวจโควิดแล้ว หากสงสัยขอให้หมอตรวจเลือดดูด้วย การวินิจฉัยไข้เลือดออกการตรวจเลือดเป็นเรื่องสำคัญ คนที่มีอาการแปลกๆ ไม่แน่ใจขอให้พบแพทย์และแจ้งอาการให้ละเอียด อย่าคิดว่าเป็นแค่เฉพาะโควิด เพราะโรคไข้เลือดออกสามารถเป็นพร้อมกับโควิดได้ และพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วย 2 โรคดังกล่าวแล้ว สำหรับกลุ่มที่ต้องระวัง เดิมจะเกิดในเด็ก แต่หลังๆพบในผู้ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่เริ่มป้องกันลูกมากขึ้น แต่ผู้ใหญ่อาจไม่ได้ระวังตัว แม้แต่อายุ 60 ปีก็เป็นได้ เป็นได้ทุกกลุ่มอายุ คิดว่าเป็นไข้หวัดทั่วไป หรือโควิด ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระวัง

เร่งฉีดวัคซีนก่อนสงกรานต์

ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวหลังรับมอบอุปกรณ์เพื่อใช้จัดเก็บและขนส่งวัคซีน มูลค่า 25 ล้านบาท จากรัฐบาลญี่ปุ่นและองค์การยูนิเซฟ ว่า สธ.กำลังรณรงค์ฉีดให้ผู้สูงอายุพื้นที่ต่างๆ ที่ยังไม่ฉีดถึง 2.1 ล้านคน รวมทั้งผู้อยู่พื้นที่ห่างไกล ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่ไม่อยากรับด้วยความเชื่อต่างๆ ซึ่งคงบังคับไม่ได้แต่ขอให้ญาติพี่น้อง อสม. เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่างๆ หิ้ววัคซีนออกไป และช่วยขอร้องให้ฉีด เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเราต้องการที่จะผ่านสงกรานต์นี้ไปได้ด้วยดี ไม่เกิดความสูญเสียใดๆ ถ้ามีลูกหลานกลับไปเยี่ยมช่วงสงกรานต์ หากมีเชื้อจะทำให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อน สธ.จึงต้องเร่งขอให้รีบนำผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังมาฉีดโดยเร็ว ฉีดแล้วต้องรอให้ภูมิคุ้มกันสร้างตัวใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เดินทางกลับบ้าน อย่าไปปาร์ตี้ ขอเพียงแค่รดน้ำผู้ใหญ่ คนที่เคารพนับถือตามประเพณี ไม่ใช่สาดน้ำเป็นงานรื่นเริงบันเทิง ขอความกรุณารอสักปีหน้า ปีนี้ขอให้ดูแลตนเอง สร้างภูมิคุ้มกันเต็มที่ก่อน

“โป๊ป-ภณ-บอย-ขวัญ” ไม่รอด

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวงการบันเทิงยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เริ่มที่ โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ หรือพี่หมื่น พระเอกสุดฮอตจากละครดังเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ทางช่อง 3 โพสต์ข้อความลงอินสตาแกรมสตอรีว่า “เนื่องจากผมได้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ covid-19 จึงได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ผลตรวจออกมาว่าพบเชื้อ COVID-19 ผมได้แจ้งให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้วและต้องขอโทษทุกท่านที่ได้รับผลกระทบด้วยนะครับ” รวมถึง ภณ-ณวัสน์ ภู่พันธัชสีห์ พระเอกหนุ่มฮอต ได้แจ้งข่าวว่า เนื่องจากตนรู้สึกเจ็บคอ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. จึงตรวจ ATK พบว่าขึ้น 2 ขีดจางๆ จึงเข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ผลออกมาว่าพบเชื้อ COVID-19 ตอนนี้ตนได้เข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว ขณะที่ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล นักแสดง-พิธีกรหนุ่ม แจ้งข่าวผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า ตนติดเชื้อโควิด-19 ตามภรรยา พร้อมขอโทษงานที่รับไว้ล่วงหน้า ทั้งรายการตั้งเตาเมาท์บันเทิง ละครที่สุดของหัวใจ, Hollywood game night, ลูกค้า Bradboy ตอนนี้ Home isolation มีอาการไอนิดหน่อยเจ็บคอเฉยๆ ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง เป็นเดี๋ยวก็หาย และอีกราย ขวัญ-อุษามณี ไวทยานนท์ ที่แจ้งว่าติดโควิดเช่นกัน

ไม่เข้าเงื่อนไขประกันไม่จ่าย

ขณะที่เมื่อช่วงสายวันที่ 21 มี.ค. ที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ย่านพระราม 3 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. กลุ่มคนที่ซื้อประกันโควิดกว่า 100 คน มารวมตัวเรียกร้องให้ทางบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินตามที่กรมธรรม์กำหนดไว้ เนื่องจากไม่สามารถเคลมประกันได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินไหมตัวแทนบริษัทชี้แจงกับผู้เอาประกันภัยถึงสาเหตุที่บางรายไม่เข้าเกณฑ์ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งกลุ่มที่เคลมไม่ได้ คือกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียว ที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน หลายคนติดเชื้อแล้วรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ไม่มีอาการ หรือกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเท่านั้น แต่ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในหรือแอดมิตในโรงพยาบาล ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขการคุ้มครอง เจ้าหน้าที่กล่าวว่าหากเข้าเกณฑ์การรับประกันที่กำหนดทางบริษัทยินดีจ่ายทุกกรณี และไม่เคยมีการประวิงเวลาอย่างแน่นอน ดังนั้น ขอให้ผู้เอาประกันที่เข้าเกณฑ์เงื่อนไข เตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ทั้งใบรับรองแพทย์ ประวัติการรักษาพยาบาล ผลการตรวจ ใบเสร็จรับเงิน เพื่อยืนยันการเคลมประกันให้ถูกต้อง

กะเหรี่ยงบ้านอูมฮวมติดโควิด

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ใน จ.ตาก พบการแพร่ระบาดในบ้านอูมฮวม ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านอูมวาบ หมู่ที่ 1 ต.บ้านนา อ.สามเงา ที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง โดยพบผู้ป่วยรายแรกเป็นผู้สูงอายุมีอาการป่วย ต่อมาสาธารณสุขอำเภอสามเงา ระดมเจ้าหน้าที่จาก รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่เหนือเขื่อน ทั้ง 5 หมู่บ้าน เข้ามาเพื่อควบคุมโรค และตรวจเชิงรุกชาวบ้านจำนวน 160 คน พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม รวมทั้งหมด 24 คน โดยผู้ป่วยที่อาการหนักได้ไปรักษาที่ รพ.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จำนวน 2 คน ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกัน และ รพ.แม่ระมาด อ.แม่ระมาด จ.ตาก จำนวน 2 คน ทั้งนี้ สาธารณสุขอำเภอสามเงาและ อบต.บ้านนา ได้ตั้งศูนย์ CI ในศาลากลางหมู่บ้าน เพื่อเป็นสถานที่กักตัว และรักษาผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรืออาการเล็กน้อย จำนวน 20 คน

อ.ชุมแพเผาศพโควิดรายที่ 4

ขณะที่เมื่อเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมโรค รพ.ชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ร่วมกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยเต็กก่าจีแชเกาะ ได้นำร่างผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จาก รพ.ชุมแพ มาทำพิธีฌาปนกิจทันที โดยไม่มีพิธีสวดศพ ที่เมรุวัดบุญบาลประดิษฐ์ ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นชาย อายุ 88 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียงชาวบ้านพรสวรรค์ ต.หนองไผ่ อ.ชุมแพ ญาตินำเข้ารักษาตัวที่ รพ.ชุมแพ เมื่อค่ำวันที่ 20 มี.ค.จากอาการหายใจหอบ รุ่งเช้าได้เสียชีวิตลง เจ้าหน้าที่ รพ.ตรวจ RT-PCR ยืนยันผลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด นับเป็นผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รายที่ 4 ในรอบ 1 สัปดาห์ สำหรับท้องที่ อ.ชุมแพ

โควิดอุบลฯคร่าสูงวัยอีก 3 ศพ

ด้านศูนย์ EOC COVID-19 จ.อุบลราชธานี รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 21 มี.ค.ว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,652 คน แยกเป็นตรวจแบบ RT-PCR 217 คน ตรวจ ATK 1,435 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ศพ เป็นผู้สูงอายุทั้งหมด รายแรกเป็นชาย อายุ 69 ปี ชาว ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร ยังไม่ได้รับวัคซีน ติดเชื้อในชุมชน ตามด้วยหญิงอายุ 75 ปี ยังไม่ได้รับวัคซีน ติดเชื้อจากงานศพในชุมชน และชายอายุ 53 ปี ชาว ต.คำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ ได้รับวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา ติดเชื้อจากแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่

สลดไวรัสร้ายคร่าทารก 5 เดือน

วันเดียวกัน นายศักดิ์สิน กุลบุตรดี สสอ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยถึงกรณีทารกวัยแค่ 5 เดือนเสียชีวิตหลังติดโควิดว่า ครอบครัวของหนูน้อยที่เสียชีวิตอยู่หมู่บ้านติดชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านเขาพระวิหาร ในครอบครัวมีทั้งหมด 11 คน คือสองตายาย มีลูกสาว 1 คน ลูกสาวมีลูก 7 คน ลูกของลูกสาวคนเล็กสุด อายุ 5 ปี หลานอีก 1 คน ในบ้านติดโควิดทั้งหมด ต่อมา รพ.สต.โดนเอาว์จัดยามาให้ พร้อมให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน ห้ามออกจากบ้าน แต่ลูกสาวกลับพาลูกทั้ง 7 คนไปอยู่ที่กระท่อมในสวนยางพารา กระทั่งวันที่ 20 มี.ค. เด็กทารกวัย 5 เดือน มีอาการท้องเสีย แม่ได้พามาหาหมอที่ รพ.สต.โดนเอาว์ และจัดยาให้แล้วพาลูกกลับบ้าน ต่อมาโรงพยาบาลติดต่อคนทั้งหมดไม่ได้ เพราะในสวนยางพาราไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ กระทั่งบ่ายวันเดียวกันได้รับแจ้งว่าทารกเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ร่วมกับกู้ภัยไปรับศพทารกนำไปฌาปนกิจทันที โดยบรรจุศพใส่ถุงซิปล็อก 3 ชั้น พ่นยาฆ่าเชื้อก่อนนำเข้าเตาเผา สำหรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ต.รุง อ.กันทรลักษ์ ถึงวันที่ 20 มี.ค.มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมรวม 298 คน ผู้เสียชีวิต 3 ศพ โดยมีทารกวัย 5 เดือน เสียชีวิตเป็นรายล่าสุด ทั้งหมดเป็นคลัสเตอร์จากนักเรียนติดเชื้อแล้วนำมาแพร่ระบาดสู่ครอบครัวแล้วติดในหมู่บ้าน ซึ่งทางอำเภอจะร่วมกันหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปมากกว่านี้

พัทยาผวานักเที่ยวแห่ปาร์ตี้ริมสระ

ส่วนที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พ.ต.อ.กุลชาต กุลชัย ผกก.สภ.เมืองพัทยา ถึงคลิปวิดีโอที่แชร์ในโลกโซเชียล เป็นบรรยากาศในร้านเหล้าชื่อดัง บริเวณซอยบัวขาว ตลาดทรีทาวน์ จ.ชลบุรี ที่เคยพบการติดเชื้อโควิด-19 เป็นคลัสเตอร์ใหญ่เมื่อช่วงต้นปี แต่เมื่อไม่นานนี้กลับเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวโดยไม่มีการเว้นระยะห่าง ยืนเบียดเสียด ดื่ม เต้น พร้อมทั้งกระโดดลงสระว่ายน้ำที่อยู่กลางร้าน เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน จนหวั่นว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นคลัสเตอร์อีกว่า ปัจจุบันเรามีการเข้มงวดทุกร้านในเมืองพัทยาคือ 1.จะต้องมีการตรวจ ATK 2.ตรวจว่าฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ 3.จะต้องมีการเว้นระยะห่าง แต่เมื่อนักท่องเที่ยวตรวจแล้วเมื่อเข้าร้านแล้วก็อยากสนุกแบบเต็มที่ ซึ่งร้านนี้เป็นร้านเปิดตามมาตรการป้องกันโควิด มีใบ SHA+ ถูกต้อง ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่คอยกวดขันตลอดเวลาและจับกุมร้านที่เปิดไม่ถูกต้องกว่า 150 ราย ซึ่งจะกวดขันกำชับร้านต่างๆให้อยู่ตามกฎหมายที่กำหนด