พรรคเล็กร่วมวงมื้อค่ำคึกคัก! บรรยากาศสุดชื่นมื่น ปชป.กระอักเลือดไหล “ไพร” โบกมือลา – “อภิชัย” ตีจากซบอก “ลุง”

งานเลี้ยงมื้อค่ำนัดปลอบใจพรรคเล็กชื่นมื่น แห่ร่วมวงคึกคัก “เสี่ยเฮ้ง” รับเป็นแม่งาน จัดที่นั่งให้ใกล้ชิด 3 ป. “ตู่-ป้อม-ป๊อก” มากันพร้อมหน้า “สุรทิน” ไม่ร่วมวงดินเนอร์ ขอไปแจกข้าวชาวบ้านดีกว่า ปชป.เลือดไหลออกอีกรอบ “อภิชัย” ควงลูกชายโผซบอก พปชร. อวยแหลกเป็นพรรคมีคุณภาพ ผู้นำเสียสละ รับบทแม่ทัพคุมเลือกตั้ง ส.ก. โวพาลูกทีมกวาดเก้าอี้ “ไพร พัฒโน” ก็ไปอีกคน “ภูมิสรรค์” แซะใครจะไปให้รีบๆไป เจอ “ราเมศ” ตีปากเคารพการตัดสินใจของ เพื่อน กมธ.กฎหมายลูกปิดประตูตายห้าม ส.ว.-องค์กรอิสระ-ศาล รธน.ตั้งพรรค “โรม” โวย ตร.จงใจเร่งรัดคดี จ่อฟ้องกลับปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ถึงคิวงานเลี้ยงมื้อค่ำปลอบใจพรรคเล็ก ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รับเป็นเจ้าภาพจัดดินเนอร์เป็นไปอย่างชื่นมื่น ท่ามกลางสถานการณ์พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ต้องเจอกับสภาวะเลือดเก่าไหลออกเป็นน้ำ นายอภิชัย เตชะอุบล พาลูกชายซบอกพลังประชารัฐ รับบทแม่ทัพคุมสนามเลือกตั้ง ส.ก.

“สุรทิน” ย้ำไม่ร่วมวงดินเนอร์

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 มี.ค. นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นัดพรรคเล็กร่วมรับประทานอาหารค่ำ ที่สโมสรราชพฤกษ์ว่า ยืนยันตั้งแต่แรกว่าไม่เข้าร่วมรับประทานอาหารด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างลงพื้นที่ จ.เลย เพื่อนำข้าวที่ได้รับมอบจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มามอบให้ประชาชน เอาข้าวมาแจกประชาชนมีประโยชน์กว่าไปร่วมรับประทานอาหาร ส่วนพรรคอื่นจะไปร่วมหรือไม่นั้นไม่ทราบ ไม่ได้พูดคุยกัน เป็นสิทธิแต่ละพรรคจะตัดสินใจว่าไปหรือไม่ไป

“หนู” ขอไปร่วมรับฟังพรรคเล็ก

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จะไปร่วมงานเลี้ยงมื้อค่ำกับพรรคเล็กด้วย จะเป็นผู้ฟังและให้กำลังใจให้รัฐบาลทำงานได้ ส่วนที่ พล.อ.ประวิตรระบุว่า ช่วงยุบสภาที่เหมาะสมคือหลังจบประชุมเอเปกนั้น คนยุบสภาได้คือนายกฯ และเห็นว่าการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก ควรเป็นรัฐบาลเต็มรูปแบบไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ ถือเป็นหน้าตาของประเทศ และความเชื่อมั่นของประชาคมโลกที่มีต่อไทย หากเราทำได้ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความขัดแย้งมีสงคราม หากทำให้ผู้นำประเทศเหล่านั้นมาประชุมได้ ก็ไม่มีอะไรเสียหาย เป็นเรื่องที่ดี คิดว่านายกฯตั้งใจทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น และถ้าเราทำสำเร็จจะเป็นผลดีของทั้งโลก เมื่อถามว่าทางลงของรัฐบาลควรอยู่ครบวาระหรือยุบสภา นายอนุทินตอบว่า อยู่ครบวาระก็ดี แสดงถึงความมั่นคงของระบบการเมือง ความมั่นคงของพรรคร่วมรัฐบาล

พรรคเล็กร่วมวงมื้อค่ำคึกคัก

ต่อมาเวลา 17.45 น. ที่สโมสรราชพฤกษ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผอ.พรรคพลังประชารัฐ และผู้ประสานงานพรรคเล็ก รับประทานอาหารมื้อค่ำกับพรรคร่วมรัฐบาล ตามคำเชิญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้เดินทางมาถึงเป็นคนแรก เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย จากนั้นนายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ทยอยตามมา สำหรับพรรคเล็กที่มาร่วม อาทิ พรรคพลังท้องถิ่นไท รวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชนพรรคไทรักธรรม พรรคพลังธรรมใหม่ มีการจัดที่นั่งเป็นโต๊ะยาวให้บรรดาพรรคเล็กได้นั่งใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

16 พรรคมากันพร้อมหน้า

กระทั่งเวลา 20.28 น. พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมาถึงพร้อม พล.อ.อนุพงษ์ และเดินเข้าไปที่ห้องจัดเลี้ยงทันที ขณะที่ พล.อ.ประวิตรมารอก่อนล่วงหน้าแล้ว สำหรับเมนูอาหารประกอบด้วย กระเพาะปลาสด ปลาหิมะ เกี๊ยวกุ้ง ติ่มซำ ตบท้ายของหวานด้วยบัวลอยน้ำขิง ทั้งนี้ มีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคใหญ่ พรรคเล็ก เข้าร่วมทั้งสิ้น 16 พรรค อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา นายอนุชา นาคาศัย กรรมการบริหารพรรค พปชร. ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ติดภารกิจต่างจังหวัด ขาดเพียงนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ เพียงคนเดียว

“อภิชัย” ตีจาก ปชป.ซบอก “ลุง”

ช่วงเช้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ มอบให้ตัวแทนถือหนังสือแสดงความประสงค์ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นต่อเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. ฝ่ายกิจกรรมพรรคการเมือง โดยไม่ได้ยื่นที่นายทะเบียนพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มีผลขาดจากการเป็นสมาชิกพรรค และขาดจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อตามกฎหมาย

พปชร.มีคุณภาพ-ผู้นำเสียสละ

ต่อมาเวลา 16.10 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค พปชร. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง รักษาการเลขาธิการพรรค ร่วมแถลงเปิดตัวนายอภิชัย เตชะอุบล นายอรรถวุฒิ เตชะอุบล บุตรชาย ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค นายอภิชัยกล่าวว่า ด้วยสภาพสถานการณ์บ้านเมืองที่มีการแข่งขันสูงของพรรคต่างๆ และสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ย่ำแย่ ส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบมากพอสมควร การพัฒนาประเทศต้องปรับท่าทีและวิธีการทำการเมืองแบบใหม่ พรรคการเมืองจึงมีกลไกสำคัญต้องตัดสินใจที่แม่นยำ รวดเร็ว และเด็ดขาด ผู้นำที่แสดงออกถึงความมีน้ำใจเดียวกัน เล็งเห็นความสำคัญการทำพรรคการเมืองที่มีคุณภาพ มีผู้นำพรรคแสดงให้เห็นถึงการอุทิศและเสียสละให้ประชาชน เป็นเหตุผลตัดสินใจมาสังกัดพลังประชารัฐ

ฟุ้งพาลูกทีมกวาดเก้าอี้ ส.ก.

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวย้ายไปพรรคเศรษฐกิจไทยแต่ทำไมเปลี่ยนใจมาอยู่พลังประชารัฐ นายอภิชัยตอบว่า ยังไม่เคยพูดจะไปที่นั่นมีแต่ข่าวออกไป แล้วแต่ผู้ใหญ่มอบหมายงาน แต่เบื้องต้นที่คุยไว้ให้มาดูท้องถิ่น โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ก.ที่จะมีขึ้น พรรคจะส่งครบทั้ง 50 เขต คาดว่าจะทำให้พลังประชารัฐได้ ส.ก.มากที่สุด แม้ไม่มีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ กทม. แต่ในฐานะบริหารธุรกิจมาค่อนข้างเยอะมาก จึงเชื่อว่าตรงนี้คงไม่ลำบากถ้าเราตั้งใจจริง เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวเข้ามาเป็นนายทุนคนใหม่ นายอภิชัยถึงกับร้อง “โอ๊ยอย่าไปพูดนายทงนายทุนอะไร” จากนั้นนายสันติได้สวมเสื้อพรรคให้นายอภิชัยและนายอรรถวุฒิ พร้อมจับมือเป็นการต้อนรับ

“นราพัฒน์” จ่อขึ้นปาร์ตี้ลิสต์

ด้านนายวิรัช ร่มเย็น กรรมการบริหารและนายทะเบียนพรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสือสอบถามถึงนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ในลิสต์รายชื่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไป มีความประสงค์ขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนนายอภิชัยหรือไม่ เพราะหากจะเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแทนนายอภิชัย ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจของนายนราพัฒน์ และมีแนวโน้มว่าจะรับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ นายนราพัฒน์ยังเป็นรองหัวหน้าพรรค ดูแลพื้นที่ภาคเหนือด้วย

เลือดไหลโจ๊ก “ไพร” ไปอีกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และอดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ลงเฟซบุ๊ก แถลงลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า “ใช้เวลาตัดสินใจอยู่นานมาก ด้วยความรัก ความผูกพันที่มีต่อพรรค รวมถึงผู้ใหญ่ในพรรคหลายๆท่านที่ทั้งรัก ทั้งเคารพ และแสนเกรงใจ ครอบครัวอยู่กับประชาธิปัตย์มากว่า 53 ปี ตั้งแต่สมัยคุณพ่อคือนายไสว พัฒโน และผมเองเป็น ส.ส.มาแล้ว 2 สมัย จึงเป็นเรื่องยากและยิ่งใหญ่มากในชีวิตต่อการตัดสินใจครั้งนี้ ผมได้โทรศัพท์แจ้งให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ทราบเป็นคนแรก แต่ไม่กล้าหาญเพียงพอที่จะโทรศัพท์ไปหานายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรค ที่ผมรักและเกรงใจแบบสุดๆ ผมเกิดมาในครอบครัวนักการเมือง เกิดมาเพื่อรับใช้ประชาชนในฐานะตัวแทนของประชาชนเท่านั้น ขอให้สัญญาต่อพี่น้องทุกท่านว่า จะทำหน้าที่ตัวแทนของปวงชนชาวไทยให้ดีที่สุด”

“ภูมิสรรค์” แซะใครจะไปให้รีบไป

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.คณะกรรมการประสานงานองค์กรเครือข่ายภายนอกพรรค กล่าวว่า ประชาธิปัตย์ในยุคนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค เป็นยุคเลือดแท้ผสมกับเลือดใหม่ และเลือดเก่าที่ไหลกลับ เป็นยุคความมั่นคงยั่งยืนในการสร้างรากฐานสถาบันทางการเมือง หลังจากนี้พรรคจะวางตัวเลือดแท้ เลือดใหม่ที่มีอุดมการณ์ทันสมัย พร้อมเลือดเก่า ได้อย่างราบรื่นและมั่นคง ทีมยุทธศาสตร์พรรคจะได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการตั้งเป้าหมาย ส.ส. 80-100 กว่าที่นั่งในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ฝากถึงอีกหลายคนที่กำลังจะออกไป ให้เร่งตัดสินใจเพื่อเห็นแก่ส่วนรวม เพื่อให้เตรียมการวางตัวเลือดแท้และเลือดใหม่ นำไปสู่เป้าหมายของการเป็นสถาบันการเมือง

“ราเมศ” ตีปากให้เคารพคนอื่น

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเคารพในการตัดสินใจของสมาชิกที่ลาออกไป กรณีนายอภิชัย เตชะอุบล เราทราบดีว่าไปทำกิจกรรมการเมืองกับพรรคอื่นมานานแล้ว อาจมีเหตุผลพิเศษที่ไม่ลาออกจากสมาชิกพรรคในตอนนั้น เพราะหากลาออกจะหลุดจาก ส.ส.ทันที แต่ขณะนี้คงเห็นว่าอายุสภาฯเหลือไม่มาก เลยตัดสินใจลาออกไปร่วมงานกับพรรคอื่น ส่วนกรณีนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เร่งให้สมาชิกอีก หลายคนรีบตัดสินใจลาออกเพื่อเห็นแก่พรรคนั้นไม่ทราบว่าพูดในนามพรรคหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจกระทบความรู้สึกหลายๆคนได้ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรหาวิธีพูดคุยทำความเข้าใจกันให้ถึงที่สุดก่อน

ห้าม ส.ว.-องค์กรอิสระตั้งพรรค

ที่รัฐสภา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์กรณีการแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองบางฉบับ มีเนื้อหาปลดล็อกให้ ส.ว. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ เป็นผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองได้ว่า ไม่เป็นความจริง กมธ.วิสามัญฯพิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมือง ให้มีความสะดวกและจัดตั้งได้ง่ายขึ้น และคงไม่เหมาะสมที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ส.ว. จะมีบทบาทมาจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่ง ส.ว.ก็เห็นด้วยว่า ส.ว.ต้องเป็นกลาง ไม่เหมาะสมที่จะมาจัดตั้งพรรคการเมือง ประเด็นนี้คงปิดตาย กมธ.ฯไม่ยอมเด็ดขาด แต่จะตัดเฉพาะลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.บางข้อที่ไม่สำคัญทิ้งไป เช่น การถือครองหุ้นสื่อ นักการเมืองท้องถิ่นให้จัดตั้งพรรคได้

แจงปลดล็อกให้ตั้งพรรคง่าย

นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรค พปชร. รองประธาน กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า เป็นผู้เสนอให้ยกเลิกคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส.ทุกข้อ ในการเป็นผู้จัดตั้งพรรคการเมือง เนื่องจากเดิมคุณสมบัติผู้จัดตั้งพรรคการเมือง กับคุณสมบัติการเป็น ส.ส.-รัฐมนตรี ใช้คุณสมบัติเดียวกัน ทำให้ประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองมีจำนวนน้อยลง จึงเสนอให้ลดคุณสมบัติลงมาให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ผู้จัดตั้งพรรคไม่ควรมีเงื่อนไขเท่ากับคนเป็น ส.ส.-รัฐมนตรี เหมือนเอาคุณสมบัติเณรไปเทียบกับคุณสมบัติพระหรือเจ้าอาวาส ส่วนการปลดล็อก ส.ว. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ให้เป็นผู้ก่อตั้งพรรค การเมืองได้นั้น ทราบว่า กมธ.ฯจะไม่ปลดล็อกให้คนเหล่านี้ ยังคงห้ามไว้อยู่

“โรม” โวย ตร.จงใจเร่งรัดคดี

อีกเรื่อง นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เพิ่งได้รับหมายจับจาก สน.บางขุนนนท์ กรณีอภิปรายในสภาฯเรื่องการค้ามนุษย์ เห็นว่ามีความพยายามเร่งรัด ยัดเยียดคดีมาให้จากการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยเฉพาะคดีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นปี 2563 เพราะผลที่ฝ่ายรัฐบาลคาดหวังคงหนีไม่พ้นให้ตนถูกศาลสั่งขังโดยไม่ให้ประกันตัว แม้เพียง 1 วันก็พอเพื่อให้หลุดพ้นจากความเป็น ส.ส. ล่าสุดทราบว่า สน.บางขุนนนท์ถึงขั้นออกหมายจับ อ้างว่าไม่ไปพบตามหมายเรียก ขอชี้แจงว่าหมายเรียกแรก ออกเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ยังอยู่ในระหว่างสมัยประชุม จึงโต้แย้งไปว่าเป็นการออกหมายเรียกโดยไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ต่อมาวันที่ 5 มี.ค. สน.บางขุนนนท์ออกหมายเรียกอีกครั้ง แต่แจ้งไปว่าติดภารกิจ ส.ส.อยู่ ขอเลื่อนการเข้าพบออกไป แต่ตำรวจมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อน

จ่อฟ้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

นายโรมกล่าวว่า ทนายความตนจึงไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากศาลแล้ว แต่สุดท้ายศาลอาญาตลิ่งชันก็อนุมัติออกหมายจับ แม้คดีนี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และไม่เคยแสดงพฤติการณ์หลบหนี เมื่ออยากเจอกันจนถึงขนาดต้องทำเช่นนี้ ในวันที่ 18 มี.ค. จะเข้าพบตำรวจ สน.บางขุนนนท์ ในเวลา 08.00 น. ทราบดีว่าเบื้องลึกเบื้องหลังตำรวจชั้นผู้น้อยถูกกดดันจากผู้มีอำนาจให้เร่งใช้คดีดังกล่าวมาเล่นงานตน แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างให้กระทำการเกินเลยขอบเขตกฎหมายได้ หากเจ้าหน้าที่ยังดึงดันจะใช้กระบวนการออกหมายเรียกและหมายจับแบบนี้เพื่อหาเรื่องกลั่นแกล้งต่อ ก็จำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจโดยมิชอบเช่นกัน

“บิ๊กตู่” ปลื้มคนเข้าถึงระบบ สธ.

ช่วงสายที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยี
ดิจิทัล ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เชื่อมสัญญาณไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาลกว่า 100 แห่งที่เข้าร่วม ทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเจ็บป่วยไปรักษาที่ใด แพทย์จะสามารถตรวจสอบประวัติการรักษาและการรักษาจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ขอบคุณคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ที่มีส่วนร่วมผลักดันการปฏิรูปจัดการฐานข้อมูลและการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ หวังว่าระยะต่อไปจะร่วมกันผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพ เพื่อสร้างรากฐานระบบสาธารณสุขของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้ประชาชนทุกภูมิภาคได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเที่ยงธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ

ค้านแหลกทรู-ดีแทคควบรวม

วันเดียวกันที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมา ธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ DTAC และการค้าปลีก-ค้าส่ง มี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เป็นประธานการประชุม โดยเชิญผู้แทนจาก กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ร่วมหารือได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า กมธ.แสดงความกังวลอย่างยิ่ง ไม่อยากให้เกิดการควบรวมกิจการขณะนี้ ด้วยเหตุผล 1.การแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช.ยังไม่เรียบร้อย ไม่มีความชัดเจนว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต 2.การตีความกฎหมายกติกาการควบรวมไม่ชัดเจน 3.ข้อมูลรายงานผลการศึกษาผลกระทบต่างๆ 4.การคัดเลือกที่ปรึกษาอิสระของ กสทช. พบว่าอาจไม่เป็นอิสระจริง 5.มาตรการของหน่วยงานกำกับไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรให้การควบรวมครั้งนี้ไม่เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคและประชาชน