มท.1 สั่ง ผวจ.ทุกจังหวัดพร้อมรับมือพายุ “ไลออนร็อก” ขึ้นฝั่งเวียดนามตอนบน เพิ่มฝนภาคอีสาน เตรียมระดมพร้อม 24 ชม.

สารคามอ่วมหนัก พนังแตกน้ำทะลักท่วมหมู่บ้านจมมิด 2 เมตร ทีมกู้ภัยเร่งอพยพชาวบ้านออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย จังหวัดต่อไปร้อยเอ็ด 8 อำเภอรอรับมวลน้ำ ที่พิมายเกิดเหตุสลดยายหลานจมน้ำดับ 2 ศพ ส่วนที่ลพบุรีแม่เฒ่าเสี่ยงโควิดถูกกักตัวตายโดดเดี่ยวคาบ้านที่ถูกน้ำท่วม ลุ่มเจ้าพระยาระดับน้ำลดต่อเนื่อง นครสวรรค์สั่งเฝ้าระวัง 4 อำเภอเหนือเขื่อนเจ้าพระยาระดับน้ำสูงขึ้นหลังเขื่อนลดระบายน้ำ ภาคใต้ฝนถล่มหนักหลายจังหวัดเผชิญคลื่นลมแรง น้ำป่าดินสไลด์ปิดถนน มท.1 สั่ง ผวจ.ทุกจังหวัดพร้อมรับมือพายุ “ไลออนร็อก” ขึ้นฝั่งเวียดนามตอนบน เพิ่มฝนภาคอีสาน

ถึงแม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่จะคลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่ยังคงมีฝนตกหนักลงมาอีก ระลอก จากอิทธิพลของพายุ “ไลออนร็อก” ในทะเล จีนใต้ที่จะขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม

สารคามพนังแตกจม 2 เมตร

สถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานยังอ่วมหนักที่ จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 9 ต.ค. น้ำในแม่น้ำชีที่ไหลจากชัยภูมิและขอนแก่น เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านปลาปัด หมู่ 3 ต.ยางท่าแจ้ง อ.โกสุมพิสัย บ้านเรือนกว่า 120 หลังคาเรือนจมน้ำลึกประมาณ 2 เมตร ถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาด ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน กว่า 300 ราย นอกจากนี้ กระแสน้ำไหลแรงกัดเซาะตลิ่งพนังกั้นน้ำขาดเป็นทางยาวกว่า 20 เมตร
ริมแม่น้ำชี บ้านสำโรง ต.ยางท่าแจ้ง มวลน้ำไหลทะลักเข้าพื้นที่ทุ่งนาเป็นบริเวณกว้าง เจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรหนักลงพื้นที่นำหินก้อนใหญ่พร้อมเร่งบรรจุกระสอบทรายไปทำแนวกั้นชะลอน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน

ส่งกู้ภัยเร่งอพยพชาวบ้าน

นายนันทวิทย์ นาคแสง นอภ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ประสานหน่วยกู้ภัยนำเรือท้องแบนเข้าไปช่วยอพยพชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ติดเตียง และเด็กๆออกมาจากหมู่บ้าน ท่ามกลางกระแสน้ำไหลเชี่ยวและสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อบต.ยางท่าแจ้งนำเต็นท์กว่า 10 หลังมากางให้ชาวบ้าน ใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณริมถนนทางหลวงสาย 2391 ทำห้องสุขาและเชื่อมต่อไฟฟ้าไว้ให้ชาวบ้านใช้ พร้อมทั้งจัดเรือรับส่งคนเข้าออกหมู่บ้าน ขณะที่ นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นำทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ลงพื้นที่ชุมชนหนวงบัวเรียน หมู่ 8 ต.ยางท่าแจ้ง มอบ ถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค และเงินสด ให้ชาวบ้าน นายประธาน แสนเห็มทอง ผญบ.เผยว่า ระดับน้ำในหมู่บ้านท่วมสูงและน้ำมาเร็ว คาดว่าจะท่วมขังนานนับเดือน ชาวบ้าน 128 ครัวเรือน 498 คนได้รับความเดือดร้อนสาหัส

8 อำเภอร้อยเอ็ดรอรับ

นายภูสิต สมจิตต์ ผวจ.ร้อยเอ็ด กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่บ้านดินดำ หมู่ 9 ต.ดินดำ อ.จังหาร และบ้านคุยขนวน หมู่ 3 อ.เชียงขวัญ ถือเป็นด่านแรกที่จะรับมวลน้ำที่มาจาก จ.มหาสารคาม ว่า จังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่เสี่ยง 8 อำเภอ ที่ลำน้ำชีไหลผ่าน ประกอบด้วย จังหาร เชียงขวัญ ธวัชบุรี โพธิ์ชัย เสลภูมิ ทุ่งเขาหลวง พนมไพร และอาจสามารถ ได้มอบนโยบายให้นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวังเตรียมความพร้อมรับมือมวลน้ำ ที่ไหลผ่านลำน้ำชีเข้ามาในพื้นที่ ทุกหน่วยงานจะต้อง สนับสนุนช่วยเหลือ ระดมสรรพกำลังต่างๆ และติดต่อ สื่อสารกันตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชน ในพื้นที่เสี่ยง เก็บสิ่งของขึ้นที่สูง เคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ออกไปอยู่ในที่ ปลอดภัย และจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวให้ประชาชน

เขื่อนอุบลรัตน์ลดระบายอีก

นายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผอ.โรงไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อน อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ว่า ได้ปรับลดการระบายน้ำลงเหลือวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. เพื่อลดผลกระทบต่อ ประชาชนพื้นที่ท้ายเขื่อนและพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง ตั้งแต่ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำ 90% ของความจุ เหลือ พื้นที่รองรับน้ำได้อีก 250 ล้าน ลบ.ม. จากการจำลอง สถานการณ์น้ำ หากพื้นที่เหนือเขื่อนไม่ได้รับอิทธิพลจากพายุและการระบายน้ำตามแผนปรับลดดังกล่าว จะทำให้เขื่อนมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นและจะเต็มความจุ ประมาณวันที่ 20 ต.ค. แต่หากมีฝนตกหนักและมี ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นจะพิจารณาปรับเพิ่ม การระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำเกินความจุและกระทบต่อ ความมั่นคงปลอดภัยของตัวเขื่อน

ยาย–หลานสังเวย 2 ศพ

เกิดเหตุสลดใจยายหลานจมน้ำดับ 2 ศพ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 8 ต.ค. พ.ต.ท.ปัญญา ประตังเวสา สว. (สอบสวน) สภ.พิมาย จ.นครราชสีมา พร้อมหน่วย กู้ภัยฮุก 31 พิมาย และกู้ภัยสว่างเมตตาพิมาย ไปตรวจสอบ เหตุคนจมน้ำหลายรายที่คลองหัวตลาดบ้านโนนสูง หมู่ 6 ต.ธารละหลอด ชาวบ้านช่วยขึ้นมาได้ 2 คน เป็นเด็กชายวัย 8 ขวบ กับเด็กหญิงวัย 10 ขวบ และ จมน้ำหายไป 2 คน คือ ด.ญ.รัชนก โก้พิมาย อายุ 10 ขวบ และนางประนอม แพงพิมาย อายุ 40 ปี มีศักดิ์เป็นยาย ที่เกิดเหตุเป็นคลองที่มีน้ำเอ่อท่วมขึ้นมาบนถนนกระแสน้ำไหลเชี่ยว หน่วยกู้ภัยลงงมค้นหา กระทั่งพบศพสองยายหลานถูกน้ำซัดห่างจากจุด ที่จมลงไปราว 20 เมตร สอบสวนทราบว่า นางประนอม ขี่รถ จยย.พ่วงข้างพาลูกหลาน 8 คน มาเล่นน้ำบริเวณ ดังกล่าวเป็นจุดที่มีน้ำท่วมสูงอยู่ห่างจากบ้านราว 5 กม. ระหว่างนั้นหลาน 3 คน ถูกกระแสน้ำพัดร่างไป นางประนอมรีบกระโดดลงไปช่วย มีชาวบ้านช่วยหลาน ขึ้นมาได้ 2 คน ส่วนนางประนอมกับ ด.ญ.รัชนก หมดแรงจมน้ำเสียชีวิต

ทหารช่วยซ่อมบ้านหลังน้ำลด

จ.ชัยภูมิ น้ำที่ท่วมขังนานกว่าสัปดาห์ลดลง จนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแทบทุกพื้นที่ คงเหลือสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือนประชาชน สถานที่ราชการ วัด โรงเรียน และสถานที่สาธารณะต่างๆ น.อ.คงฉัตร เกษสุวรรณ ผบ.หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 55 จัดกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน 904 พร้อมชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว 25 นาย นำรถ บรรทุกน้ำ 6,000 ลิตร และชุดเครื่องมือช่าง ลงพื้นที่ ฟื้นฟูซ่อมแซม บ้านเรือน และมอบถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค น้ำดื่ม ผ้าห่มกันหนาวให้ผู้ป่วยติดเตียง และประชาชนที่ประสบอุทกภัยในหมู่บ้านไร่ หมู่ 7 ต.บ้านยาง อ.เกษตรสมบูรณ์ หลังจากพื้นที่ถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน บ้านเรือนได้รับ ความเสียหายกว่า 10 หลังคาเรือน

“วิษณุ” ลุยช่วยชาวอุทัยธานี

ที่ศาลาประชาคมเทศบาลตำบลหาดทะนง อ.เมืองอุทัยธานี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ไปติดตามสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยาล้นฝั่งเข้า ท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรใน 3 อำเภอ คือ อ.เมืองอุทัยธานี อ.สว่างอารมณ์ และ อ.ทัพทัน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนนับพันครอบครัว พื้นที่การเกษตรและ
นาข้าวเสียหายหลายพันไร่ มอบถุงยังชีพ 1,000 ชุดให้ผู้ประสบภัย จากนั้นลงพื้นที่หมู่ 7 ต.สะแกกรัง อ.เมืองอุทัยธานี มอบถุงยังชีพให้ชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้ลงพื้นที่ จ.อุทัยธานี และนครสวรรค์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นลำดับแรก เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะเร่งปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค เยียวยาประชาชนและภาคการเกษตรต่อไป

เฝ้าระวัง 4 อำเภอเหนือเขื่อน

จากนั้นนายวิษณุและคณะเดินทางต่อไปยัง จ.นครสวรรค์ มอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน พื้นที่ อ.พยุหะคีรี และ อ.โกรกพระ สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม จ.นครสวรรค์ มีพื้นที่ประสบภัยครอบคลุม 15 อำเภอ 115 ตำบล 1,128 หมู่บ้าน 54,134 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหาย 16,967 หลัง เส้นทางคมนาคม 202 แห่ง พื้นที่การเกษตรด้านพืช 836,217.50 ไร่ ด้านการประมง 330 บ่อ ด้านปศุสัตว์ 47,040 ตัว ตอนนี้ยังมีสถานการณ์ต้องเฝ้าระวัง 4 อำเภอ คือ อ.เมืองนครสวรรค์ อ.โกรกพระ อ.พยุหะคีรี และ อ.ชุมแสง เนื่องจากกรมชลประทานมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ชะลอน้ำไว้ไม่ให้ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเกิดภาวะน้ำท่วมขัง จะส่งผล ให้ชุมชนริมตลิ่งนอกคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อนอาจเพิ่มขึ้นอีก 0.20 เมตร

กักตัวตายคาบ้านน้ำท่วม

หน่วยกู้ภัยสว่างอริโยบ้านหมี่ จ.ลพบุรี ไป ตรวจสอบเหตุผู้เสียชีวิตในบ้านเลขที่ 185 หมู่ 5 ต.บ้านกล้วย อ.บ้านหมี่ เป็นบ้าน 2 ชั้น ชั้นล่างมีน้ำท่วมสูง 50-60 ซม. ส่วนชั้นบนพบศพนางลำดวน ประทุมเคน อายุ 74 ปี เจ้าของบ้าน นอนตะแคงอยู่บนพื้น สวมเสื้อคอกระเช้าสีน้ำเงิน นุ่งผ้าถุง เสียชีวิตมาแล้ว 1 วัน ตามร่างกายไม่มีบาดแผล ใกล้ศพมีกล่องอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ยารักษาโรค วางเกลื่อนพื้น สอบถามนางอารีย์ ทานสัมฤทธิ์ อายุ 59 ปี เจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านกล้วย เล่าว่า ผู้ตายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกักตัวอยู่ที่บ้านเพียงลำพัง เนื่องจากสามีติดเชื้อโควิด-19 รักษาตัวอยู่ รพ.บ้านหมี่ ส่วนลูกสาวถูกกักตัวที่ศูนย์ Ci ของตำบลบ้านกล้วย ก่อนหน้านี้ส่งตรวจที่ รพ.บ้านหมี่ ไม่พบเชื้อ มากักตัวที่บ้านได้ 7-8 วัน มีหลานชายอายุ 13 ปี คอยส่งข้าวส่งน้ำ กระทั่งพบศพผู้เป็นยายอยู่บนบ้าน เบื้องต้นคาดสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคประจำตัว กู้ภัยต้องนำศพลงเรือลุยน้ำออกมาทุลักทุเล นำส่งชันสูตรอย่างละเอียดอีกครั้ง

อนุทินลงพื้นที่อ่างทอง—อยุธยา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพ ชุดยาตำราหลวงให้ผู้ประสบอุทกภัย 2 จังหวัด ได้แก่ จ.อ่างทอง ที่เทศบาลซอย 8 ต.จรเข้ร้อง อ.ไชโย กับที่วัดพิจารณ์โสภณ อ.โผงเผง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่วัดกษัตราธิราช มัสยิดฟารุกอุมาร็อบนุลคอบต๊อต อัลกอดีรียะ และวัดไชยวัฒนาราม

จัดทีมแพทย์ดูแลสุขภาพ ปชช.

นายอนุทินกล่าวว่า จ.อ่างทอง และ จ.พระนคร ศรีอยุธยา หลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่บางพื้นที่ยังท่วมสูงอยู่ สัปดาห์หน้าจะหารือกับ รมว.คมนาคม ถึงแนวทางระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมถาวร โดยเฉพาะการปรับปรุงถนนสายเอเชียให้มีระบบระบายน้ำและรองรับน้ำได้ ช่วยลดความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชน ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ออกหน่วยบริการดูแลสุขภาพประชาชนให้ได้รับการตรวจรักษาไม่เกิดการขาดยา นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นหมอคนแรกในการลงพื้นที่ดูแลประชาชนเมื่อประสบภัยพิบัติต่างๆ ถึงบ้าน ทั้งช่วงโควิด-19 และน้ำท่วม ทั้งนี้ ได้รับข้อเสนอจาก อสม.ให้รัฐบาลช่วยดูแลสุขภาพของ อสม.ด้วย ขอให้จัดตรวจสุขภาพตามช่วงอายุ จะผลักดันให้สำเร็จในปี 2565 และกำชับให้ อสม.ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม รีบไปรับวัคซีนเข็ม 3 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้มากเพียงพอ

ระดับน้ำเจ้าพระยาลดต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำท่วม จ.อ่างทอง เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่หน้าศาลากลาง ปริมาณน้ำเจ้าพระยาสูง 09.01 เมตร จากระดับตลิ่ง 10 เมตร กระแสน้ำไหลผ่าน 2,460 ลบ.ม.ต่อวินาที มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ บ้านเรือน 5,054 หลัง รพ.สต. 2 แห่ง แต่ยังเปิดบริการได้ ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา มี 10 อำเภอ 35,180 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย รพ.สต. 12 แห่ง เปิดบริการได้บางส่วน 11 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านป้อม ภาพรวมทั่วประเทศมีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบ 124 แห่ง เปิดบริการได้ตามปกติ 99 แห่ง เปิดบางส่วน 14 แห่ง และปิดให้บริการ 11 แห่ง จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ 221 ทีม ดูแลประชาชนรวม 307,455 ราย

นาข้าวสิงห์บุรีจมนับพันไร่

จ.สิงห์บุรี น้ำท่วมทุ่งนานับพันไร่พื้นที่หมู่ 1 ถึงหมู่ 4 ต.คอทราย อ.ค่ายบางระจัน กลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นน้ำจากฝนที่ตกหนักมาหลายวัน และระดับน้ำในคลองระบายใหญ่แม่น้ำน้อย 3 มีระดับสูง ทำให้การระบายน้ำท่วมทุ่งนาเป็นไปอย่างล่าช้า บางทุ่งเป็นนาข้าวที่เพิ่งตั้งต้นได้ประมาณ 1 เดือน ถ้าหากปล่อยไว้นานจะทำให้นาข้าวเสียหาย นายทรงวิทย์ เหลืองอ่อน ผอ.โครงการชลประทานสิงห์บุรี กล่าวว่า ได้ตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องระบายน้ำที่ท่วมขังนานับพันไร่ไปยังคลองระบายใหญ่แม่น้ำน้อย 3 คาดว่าน้ำจะแห้งในเร็วๆนี้ ขณะที่ชาวบ้านพาลูกหลานมาเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน และมีแม่ค้านำของมาขายกลายเป็นสถานที่พักผ่อนยามเย็นของเด็กๆและชาวบ้าน

ทะเลหนุนสูงเร่งป้องเมืองปทุม

จ.ปทุมธานี น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นกว่าทุกวัน จนเอ่อล้นเข้าท่วมทางเดินตามตรอกซอยชุมชนต่างๆที่อยู่ริมน้ำในพื้นที่ อ.เมืองปทุมธานี และ อ.สามโคก ชาวบ้านหวั่นเกรงว่าน้ำจะไหลเข้าท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ เนื่องจากมีน้ำทะลักออกมาจากท่อระบายน้ำ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองปทุมธานีต้องนำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวกั้นน้ำสูง 3 ชั้นพร้อมกับปิดปากท่อระบายน้ำไม่ให้ล้นออกมา ส่วนที่วัดบางนา ต.บางโพธิ์เหนือ อ.สามโคก น้ำท่วมบริเวณรอบโบสถ์ ชาวบ้านและลูกศิษย์วัดช่วยกันนำกระสอบทรายมาวางกั้นแล้วนำเครื่องสูบน้ำออก เช่นเดียวกับที่วัดไก่เตี้ย ต.กระแชง อ.สามโคก ถูกน้ำท่วมรอบบริเวณวัด เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลกระแชงต้องมาสร้างสะพานให้พระสงฆ์และชาวบ้านใช้เดินเข้าออก

ขอพนังกั้นริมเจ้าพระยา

จ.นนทบุรี ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นเช่นกันจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมชุมชนบ้านเรือนและวัดต่างๆที่อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตกพื้นที่ อ.ปากเกร็ด ทั้งที่ ต.คลองพระอุดม และ ต.บางตะไนย์ ไม่มีแนวพนังป้องกันน้ำท่วม ทั้งพระและประชาชนเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะชุมชนพื้นที่หมู่ 1 ต.บางตะไนย์ ระดับน้ำสูง 80-120 ซม. น้ำท่วมเต็มลานวัดตาลและชุมชนริมน้ำกว่า 100 หลัง ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำและบางจุดที่น้ำลึกต้องใช้เรือสัญจร น.ส.จันทนา เพียรพิทักษ์ อายุ 55 ปี ชาวบ้าน เล่าว่า ในชุมชนถูกน้ำท่วมมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ฝากถึงรัฐบาลช่วยเร่งสร้างเขื่อนกั้นริมน้ำเพื่อลดความเดือดร้อนของชาวบ้าน และฝากถึงเรือที่แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาขอให้ขับช้าๆหน่อยเพราะแรงคลื่นทำให้น้ำซัดบ้านเสียหาย

ชาวสวนทุเรียนนนท์เร่งสูบน้ำ

เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองไทรม้า ต.ไทรม้า อ.เมืองนนทบุรี สร้างสะพานทางเดินให้ประชาชนเข้าออกหน้าวัดไทรม้าเหนือ เชื่อมต่อไปยัง รพ.สต.บ้านไทรม้า พร้อมนำกระสอบทรายไปวางเสริมตามจุดต่างๆที่น้ำเอ่อล้นเข้าท่วม ส่วนที่สวนทุเรียน หมู่ 2 ต.ไทรม้า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมสวนทุเรียน จนเจ้าของสวนต้องใช้เครื่องสูบน้ำเดินเครื่องสูบตลอด 24 ชม. หวั่นท่วมซ้ำปี 54 จนต้นทุเรียนตายเรียบ นายอนุชา ท่าทราย อายุ 50 ปี เจ้าของสวน กล่าวว่า ลงปลูกทุเรียนได้ 2-3 เดือน ไม่คิดว่าจะมีน้ำมากจนท่วมสวน ก่อนหน้ายังเปิดปิดประตูระบายน้ำได้ จนมาวันที่ 4 ต.ค. ปริมาณน้ำสูงและน้ำทะเลหนุนจึงต้องใช้วิธีสูบออกเพราะกลัวน้ำจะท่วมสวนทุเรียนเหมือนเมื่อปี 54

ฝนถล่มระนองน้ำป่าดินสไลด์

ภาคใต้หลายพื้นที่มีฝนถล่มหนัก จ.ระนอง ฝนตกทั้งคืน เกิดเหตุดินสไลด์จากภูเขาหลายจุด จุดแรกที่ห้วยค้างคาว หมู่ 1 ต.บางนอน อ.เมืองระนอง ดินเลื่อนไหลจากภูเขาลงมาบนพื้นที่ก่อสร้างขยายถนน 4 เลน มีเสาไฟฟ้าหักโค่นจนรถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ เจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรเข้าเคลียร์พื้นที่และให้ประชาชนเลี่ยงไปใช้เส้นทางบ้านหินช้าง-เมืองระนองแทน เช่นเดียวกับที่ควนแม่ยายหม่อน ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง ดินเลื่อนไหลจากภูเขาลงมาปิดถนน เจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์เส้นทางแล้ว ขณะที่ พื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 3 ต.ละอุ่นใต้ อ.ละอุ่น น้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนและถนนในหมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับผลกระทบ 12 ครัวเรือน นายสุทิน ประเสริฐศักดิ์ นอภ.ละอุ่น นำเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลืออพยพประชาชนและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ขณะที่จังหวัดระนองยังแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังระดับน้ำในลำคลอง ปริมาณน้ำฝน รวมถึงพื้นที่เสี่ยงดินเลื่อนไหลด้วย

ลมทะเลหอบหลังคาร้านทรุด

จ.พังงา ฝนเทกระหน่ำลมกระโชกแรง ซัดต้นไม้ใหญ่โค่นล้มทับบ้านชั้นเดียวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่บ้านลำภี หมู่ 4 ต.ลำภี อ.ท้ายเหมือง ทำให้หลังคาบริเวณหน้าบ้านได้รับความเสียหาย กระเบื้องแตก โชคดีขณะเกิดเหตุไม่มีคนทำงาน ส่วนที่บ้านบางหลาโอน หมู่ 7 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า เกิดพายุฝนลมกระโชกในทะเลบริเวณชายหาดนางทอง คลื่นลมแรงซัดเข้าฝั่ง น้ำทะเลมีสีขุ่นแดง ร้านอาหารที่อยู่บริเวณชายหาดถูกลมหอบหลังคาทรุดได้รับความเสียหาย 1 ร้าน ยังโชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับ บาดเจ็บเช่นกัน

เรือประมง 100 ลำ แห่หลบคลื่น

จ.ตรัง นายมนัส เอ่งฉ้วน ผญบ.หมู่ 1 บ้านนาทะเล ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ ไปตรวจสอบความเสียหายของพื้นถนนเลียบชายทะเลที่ถูกคลื่นกัดเซาะพื้นดินด้านล่างจนผิวถนนคอนกรีตแตกหักเสียหายกว้าง 5 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร ต้องนำเชือกและกรวยจราจรมาวางกั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน อยู่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่กองช่าง อบจ.ตรัง มาซ่อมแซม ส่วนจุดที่คลื่นทะเลซัดคอสะพานขาด เจ้าหน้าที่นำดินและหินเข้าอัดบดเพื่อให้รถได้สัญจรตามปกติแล้ว ทั้งนี้ในทะเลมีคลื่นสูงกว่า 2-3 เมตร น้ำทะเลขุ่นดำพัดพาเศษขยะเข้ามาที่ชายหาดอย่างต่อเนื่อง มีเรือประมงถูกคลื่นซัดเสียหายไปแล้ว 5 ลำ และอีกกว่า 100 ลำ ต้องนำไปจอดหลบคลื่นในลำคลองพื้นที่หมู่ 4 ต.ตะเสะ ชาวประมงไม่ได้ออกทะเลนานนับเดือนแล้ว

เร่งผลักดันน้ำชี–มูลลงน้ำโขง

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 ต.ค. บริเวณภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนลดลง ขณะที่แม่น้ำสายหลักทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยกเว้นภาคเหนือมีแนวโน้มลดลง ส่วนสถานการณ์ลุ่มน้ำชี-มูล คาดว่ามวลน้ำสูงสุดจะไหลผ่าน จ.อุบลราชธานี วันที่ 23 ต.ค. อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล น้ำจะขึ้นสูงสุดในวันเดียวกัน และจะกลับมาต่ำกว่าตลิ่งอีกประมาณ 1 สัปดาห์ หรือวันที่ 31 ต.ค. ปริมาณน้ำในลำน้ำชีมีอยู่ประมาณ 3,300 ล้าน ลบ.ม.และลำน้ำมูลประมาณ 1,400 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้ว 100 เครื่อง เพื่อเร่งระบายลงแม่น้ำโขงได้เร็วขึ้น

นายกฯเดินหน้าโครงการแก้มลิง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯให้ความสำคัญและรัฐบาลได้เร่งดำเนินการโครงการแก้มลิงทั่วประเทศในพื้นที่ 65 จังหวัด รวม 914 รายการ วงเงินกว่า 23,060 ล้านบาท ด้วยการน้อมนำพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดย “โครงการแก้มลิง” หนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริไว้ในการแก้ปัญหาอุทกภัย รัฐบาลนำมาเป็นนโยบายการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ได้แก่ พื้นที่ 12 ทุ่งในภาคกลางตอนล่าง และทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ใช้เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมและชะลอน้ำหลากได้ถึง 1.41 ล้านไร่ และรองรับน้ำได้ถึง 1,704 ล้าน ลบ.ม.

มท.1 สั่งทุก จว.รับมือพายุ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า สั่งการไปยัง ผวจ.ทุกจังหวัด เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยจากพายุ “ไลออนร็อก” ให้ ปภ.จังหวัด ปฏิบัติดังนี้ 1.ให้ติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่ม บูรณาการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ 2.ปรับแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ หากกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัยไม่เพียงพอ ให้ประสานกับหน่วยทหาร เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชม. 3.ให้จัดชุดปฏิบัติการเร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมดูแลประชาชนในจุดที่อยู่ห่างไกล 4.หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ให้สั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้ทันที 5.จังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ตลอดจนพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ให้มอบหมายหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล เช่น บริเวณน้ำตก ถ้ำ กำหนดมาตรการแจ้งเตือน การปิดกั้น หรือห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ สำหรับพื้นที่ติดทะเล ชายหาดต่างๆให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ เพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในการนำเรือเข้าที่กำบัง และห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัดตลอดจนกำชับสถานประกอบการโรงแรมพื้นที่ชายทะเล ให้สื่อสารนักท่องเที่ยวระมัด ระวัง และห้ามลงเล่นน้ำช่วงที่มีคลื่นลมแรงเด็ดขาด

“ไลออนร็อก” เพิ่มฝนภาคอีสาน

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 9 ต.ค. พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กม.ต่อ ชม. เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างช้าๆ คาดว่าเคลื่อนลงสู่อ่าวตังเกี๋ยและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับต่อไป จะทำให้ภาคตะวันออก เฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนมากทางตอนบนของภาค อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ส่วนช่วงวันที่ 10-15 ต.ค. ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้