“มวลน้ำมหาศาล” ไหลเชี่ยวกรากท่วมทะลัก “ชัยนาท” ซัดบ้านทรุด!

ทีมแพทย์ช่วยชาวอุบลฯพบภาพ สลดใจผู้อยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวมานานกว่า 3 สัปดาห์จนเกิดความ เครียดล้มป่วย ปศุสัตว์ส่งอาหารช่วยน้องหมา-แมวตัวผอมแห้งหิวโซ จ.กาฬสินธุ์ อพยพชาวบ้านหนีน้ำกลางดึก ชาวร้อยเอ็ดเริ่มขาดอาหารประทังชีวิต ส่วนน้ำเจ้าพระยาทะลักเข้าวัดและชุมชนอ่วม ขณะที่ “เฉลิมชัย” สั่งปศุสัตว์ช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ กรมอุตุฯแจ้ง พายุ “เซินกา” กำลังอ่อนตัวลง

ชาวบ้านยังวิตกพายุ “เซินกา” ที่จะพัดผ่าน เข้าประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักซ้ำเติมชาวบ้าน ที่ประสบภัยน้ำท่วม ประกอบกับอากาศที่เย็นลง ชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวเริ่มป่วย ทีมแพทย์เร่งเข้าไปดูแล

แพทย์ทหารช่วยชาวบ้าน

โดยเมื่อเช้าวันที่ 15 ต.ค. ทีมแพทย์จากสำนักงาน แพทย์ทหาร กรมยุทธบริการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เข้าดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่อพยพหนีน้ำท่วม ในพื้นที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี อพยพมาอยู่ตามศูนย์พักพิงรอบตัวเมือง แต่ละคน ออกจากบ้านมาอยู่ในศูนย์พักพิงไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ จนเกิดความเครียดและล้มป่วย และช่วงนี้อากาศหนาวเย็น ทีมแพทย์แนะนำให้สวมเสื้อผ้าทับกันหลายชั้น เพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นในช่วงกลางคืน พร้อมแจกยาแก้น้ำกัดเท้า ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยากันยุง และยานวดแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย เนื่องจากผู้สูงอายุต้องนั่งอยู่แต่ในเต็นท์ใช้เป็นที่พักชั่วคราวเกือบตลอด ทั้งวัน ไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมเหมือนอยู่ในบ้าน ทำให้เกิดความเครียดและกังวลใจ

ทะลักชัยนาท ซัดบ้านทรุด นครชัยศรี สวนจมน้ำ

อุบลฯยังอ่วม 19 อำเภอ

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 19 อำเภอ จาก 25 อำเภอ และมีคนอพยพไป พักอาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิงชั่วคราวแล้ว 32,973 คน ผู้อพยพบางชุมชนออกจากบ้านมาอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. จนถึงปัจจุบันรวม 2 เดือน ส่วนสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย ความสูงอยู่ที่ 11.50 เมตร และเริ่มปรับตัวลดลง แนวโน้มหากพายุลูกใหม่มี ปริมาณฝนไม่มาก ระดับน้ำจะเริ่มปรับตัวลดลงเข้าสู่ ภาวะปกติในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้

ปศุสัตว์ช่วยน้องหมา-แมว

ด้านนายกิตติ กุบแก้ว ปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ น.สพ.สุพจน์ รสจันทร์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนา สุขภาพสัตว์ นายวิชชุกร ชุมแสง ปศุสัตว์อำเภอวารินชำราบ ประสานเรือกู้ภัยของเทศบาลวารินชำราบ เข้าพื้นที่ 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านเกตุแก้ว ชุมชน ท่าบ่งมั่ง ชุมชนหาดสวนยา ชุมชนบ้านสวนคูณ ชุมชนคูยาง และชุมชนท่ากอไผ่ เพื่อนำอาหารสัตว์ไปช่วยเหลือสุนัข แมว ที่หนีภัยนํ้าไปอาศัยบนหลังคาบ้านและสัตว์ปีกที่ติดอยู่ในพื้นที่สภาพหิวโซ และวางแผนการเข้าช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

น้ำหนุนสูงเร่งอพยพชาวบ้าน

ช่วงตีหนึ่งวันที่ 15 ต.ค. อาสาชุดตอบโต้ภัยพิบัติ กู้ภัยเมตตาธรรม รับแจ้งจากชาวบ้านในชุมชนบ้านวังยาง หมู่ 5 ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ร้องขอความช่วยเหลือ เพราะระดับน้ำขึ้นสูง จากนั้นหน่วยกู้ชีพ นำเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์พร้อมอาสาสมัครกู้ภัย เสื้อชูชีพ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล เดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านดังกล่าว เนื่องจากถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาดมีน้ำท่วมสูงมิดหัว ชาวบ้านติดอยู่ในบ้านจำนวน 10 ครัวเรือน เจ้าหน้าที่อพยพชาวบ้านไปส่งที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวอย่างปลอดภัย

ร้อยเอ็ดท่วม 14 อำเภอ

จ.ร้อยเอ็ด ประกาศให้เป็นพื้นที่อุทกภัยรวม 14 อำเภอ 90 ตําบล 732 หมู่บ้าน 14,615 ครัวเรือน ถนน 7 สาย วัด 30 แห่ง โรงเรียน 13 แห่ง รพ.สต. 4 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 27,691 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 292,843 ไร่ ปศุสัตว์ 9,594 ตัว ประมง 505 ไร่ และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย สถานการณ์แม่น้ำชี ล่าสุด ที่สถานีบ้านม่วงลาด อ.จังหาร ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.32 เมตร สถานีบ้านวังยาว-หนองแก่ง อ.เชียงขวัญ สูงกว่าตลิ่ง 1.92 เมตร และสถานีบ้านท่าสะแบง อ.ทุ่งเขาหลวง สูงกว่าตลิ่ง 1 เมตร มวลน้ำไหลเข้าพื้นที่ อ.จังหาร ส่งผลให้น้ำท่วมใน พื้นที่ 5 ตำบล 47 หมู่บ้าน ได้แก่ ต.ผักแว่น ต.ม่วงลาด ต.ดงสิงห์ ต.แสนชาติ และ ต.ดินดํา

ประทังชีวิตแบบวันต่อวัน

ที่บ้านเปลือยตาล ต.ดงสิงห์ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด มวลน้ำชีล้นตลิ่งท่วมหมู่บ้าน ระดับสูงท่วมชั้น 1 ชาวบ้าน 115 ครัวเรือนต้องอพยพมาอาศัยในเพิงพักชั่วคราว บางรายยังพักอยู่ที่ชั้น 2 เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนนำเรือเข้าไปมอบถุงยังชีพ บางจุดเรือเข้าไปถึงชาวบ้านต้องลอยคอออกมารับถุงยังชีพกันอย่างทุลักทุเล สอบถามชาวบ้านทราบว่า น้ำท่วมมาตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ข้าวสารและอาหารแห้งที่ตุนไว้เริ่มหมด ต้องอาศัยถุงยังชีพหุงหาอาหารประทังชีวิตไปแบบวันต่อวัน คาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ต้องคอยสอดส่องดูแลข้าวของที่อาจจะเกิดความเสียหาย

บ้านทรุดเสาเอนเอียง 2 หลัง

จากเหตุน้ำเซาะถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 3018 คันคลองมหาราช พื้นที่หมู่ 12 ต.ตะหลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท จนขาดระยะทางยาว 50 เมตร มวลน้ำมหาศาลที่ไหลเชี่ยวกรากผ่านจุดที่ถนนขาด เซาะเสาบ้านที่ขวางทางน้ำจนเอนเอียงจำนวน 2 หลัง ตัวบ้านเริ่มทรุดตัวลงจนเอียงแทบจะพังไปกับน้ำ เจ้าหน้าที่ห้ามเข้าไปใช้พื้นที่ ส่วนการซ่อมถนน เจ้าหน้าที่ปักเสาเข็มคันดินฝั่งตรงข้ามรอยขาดเพื่อรับแรงดันน้ำ และเตรียมปักเสาเข็มปรับพื้นที่จุดถนนขาด เพื่อรองรับเครื่องจักรหนักที่จะลงพื้นที่ปักแนวเสาเข็มชะลอน้ำและวางบิ๊กแบ็กกั้นน้ำ เตรียมถมถนนให้กลับมาใช้งานได้ คาดจะแล้วเสร็จภายใน 2 วัน

ทะลักชัยนาท ซัดบ้านทรุด นครชัยศรี สวนจมน้ำ

รพ.อุทัยธานีเริ่มคลี่คลาย

เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองอุทัยธานีและ อส.ร่วมกันนำหินคลุกและแผ่นเหล็กสร้างทางชั่วคราว เพื่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินแล่นผ่านเข้า-ออกโรงพยาบาลอุทัยธานีเพื่อรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน หลังจากต้องประสบปัญหาน้ำเอ่อเข้าท่วมจนเป็นอุปสรรคการนำส่งผู้ป่วย สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมโดยรวมของ จ.อุทัยธานี พบว่าระดับน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมืองอุทัยธานี น้ำลดลงหลายจุด ถนนหลายสายในตัวเมืองเริ่มใช้การได้ดีขึ้น

เขื่อนชะลอการระบายน้ำ

ขณะที่ภาพรวมน้ำท่วมที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท พบว่าน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาผ่านจุดวัดน้ำค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ เริ่มลดลงวัดได้อัตรา 2,962 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาล่าสุดวัดได้ +17.68 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่ยังมีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนเหนือเขื่อนใน 3 อำเภอ คือ อ.เมืองชัยนาท อ.วัดสิงห์ และ อ.มโนรมย์ โดยเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 15 ต.ค. เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลดอัตราการระบายน้ำลงไปที่ 3,098 ลบ.ม./วินาที แต่ยังปักธงแดงเพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์วิกฤติต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 การปรับอัตราการระบายน้ำในเกณฑ์นี้ เพื่อรักษาสมดุลของน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนระดับน้ำเริ่มลดลงวัดได้ 17.25 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่ยังคงเอ่อล้นสูงกว่าตลิ่ง 93 ซม. ประชาชนพื้นที่ท้ายเขื่อนใน อ.สรรพยา อพยพไปสร้างเพิงพักและกางเต็นท์นอนริมถนนกว่า 2,500 ครัวเรือน

เจ้าพระยาล้นทะลักเข้าวัด

ที่บริเวณหน้าวัดไชยสงคราม หมู่ 6 ต.บ้านแห อ.เมืองอ่างทอง น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลอดใต้เขื่อนบริเวณหมู่ 5 ต.บ้านแห ขยายวงกว้างไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่หมู่ 5 และหมู่ 6 ต.บ้านแห และวัดไชยสงคราม ระดับน้ำสูงมิดหัว ล้นข้ามถนนอ่างทอง-ป่าโมกระยะทางยาว 1 กม. น้ำเซาะถนนเริ่มพังหลายจุด รวมทั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างหักโค่นลงภายในคลองชลประทาน เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองอ่างทองนำแท่งแบริเออร์วางริมถนนป้องกั้นน้ำทะลักท่วม

แม่น้ำน้อยเอ่อล้นข้ามถนน

ส่วนที่ถนนวิเศษชัยชาญ-โพธิ์ทอง หมู่ 10 หน้าวัดอ้อย ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง น้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำน้อยไหลข้ามถนนลงคลองชลประทานที่ขนานกับถนนเป็นระยะทางยาว 1 กม. ระดับน้ำสูงถึงหัวเข่า เจ้าหน้าที่เทศบาลนำกระสอบทรายและหินคุกมาถมตรงบริเวณทางออกหน้าวัดที่มีปริมาณน้ำท่วมสูงเพื่อให้รถ จยย.วิ่งเข้าออก หมู่บ้านได้อย่างสะดวก ส่วนบ้านเรือนริมแม่น้ำน้อยในพื้นที่ ต.บางระกำ ต.องครักษ์ ต.โพธิ์รังนก และ ต.บางลับ อ.วิเศษชัยชาญ ถูกน้ำท่วมสูง ชาวบ้านบางรายอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว

ทะลักชัยนาท ซัดบ้านทรุด นครชัยศรี สวนจมน้ำ

วางกระสอบทรายป้องวัด

มวลน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไหลล้นตลิ่งเข้าพื้นที่ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ไหลเอ่อล้นข้ามถนนพรหมบุรี-สิงห์บุรี ลงทุ่งพระงาม-พิกุลทอง อ.พรหมบุรี ทำให้น้ำที่เต็มทุ่งไหลเข้าท่วมวัดพิกุลทอง และพื้นที่โดยรอบของวัดด้านฝั่งองค์พระประธานองค์ใหญ่ รถไม่สามารถสัญจรผ่านเข้าออกได้แล้ว เช่นเดียวกับที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ต.จักรสีห์ อ.เมืองสิงห์บุรี น้ำเริ่มล้นเข้าท่วมพื้นที่ พระ เณรและชาวบ้านช่วยขนกระสอบทรายมาวางกั้นน้ำเข้าวัด ส่วนชาวบ้าน ต.ถอนสมอ อ.ท่าช้าง อพยพมาตั้งเต็นท์ทำที่พักอาศัยชั่วคราวริมถนน แล้วนำสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นและรถไปจอดไว้บนถนน เจ้าหน้าที่ตั้งศูนย์ประสานช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน

ท่วมมิดหมู่บ้านกฤษดานคร 26

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีนมีระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนทั้ง 2 ฝั่งตั้งแต่ อ.บางเลน อ.นครชัยศรี และ อ.สามพราน จ.นครปฐม เริ่มอพยพและขนของขึ้นที่สูง ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนเริ่มล้นตลิ่ง ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง การผลักดันน้ำลงสู่ปากอ่าวด้าน จ.สมุทรสาครเป็นไปอย่างช้า ทำให้เกิดน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะ อ.นครชัยศรี น้ำท่วมสวนส้มโอ สวนฝรั่ง สวนกล้วยไม้ และสวนดอกรัก ถูกน้ำท่วมเต็มพื้นที่ รวมทั้งร้านค้า หมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ ถูกมวลน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมเกือบเต็มพื้นที่แล้วที่หนักสุดที่หมู่บ้านกฤษดานคร 26 น้ำท่วมเกือบมิดหัว การจราจรถูกตัดขาดหมด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ภายในหมู่บ้านต้องร้องขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าเรื่องเสบียงอาหาร และรถสำหรับขนย้ายทรัพย์สิน

แนวกั้นน้ำแตกไหลเข้าหมู่บ้าน

นายอารุช เอมโอฐ นายอำเภอนครชัยศรี ร่วมกับ สภ.นครชัยศรี กอ.รมน.จ.นครปฐม ชลประทาน จ.นครปฐม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นครปฐม อบต.ท่าตำหนัก กำนัน ผญบ.ระดมกำลังและเครื่องมือ ลงพื้นที่เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และช่วยขนย้ายผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงไปอยู่ในที่ปลอดภัยจนกว่าน้ำจะลดลง จากการสำรวจพบว่ามีกระสอบทรายที่ตั้งเป็นคันกั้นน้ำสูง 1 เมตร เป็นแนวรอบหมู่บ้าน มีหลายจุดที่มีกระสอบทรายพังจนมวลน้ำไหลเข้ามาท่วมหมู่บ้าน และช่วงน้ำทะเลหนุนสูงร่วม 2 เมตร

ทะลักชัยนาท ซัดบ้านทรุด นครชัยศรี สวนจมน้ำ

“เฉลิมชัย” สั่งช่วยเกษตรกร

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการกรมปศุสัตว์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้งการอพยพสัตว์ ส่งเสบียงอาหารสัตว์ รวมถึงมอบเวชภัณฑ์ในการสร้างเสริมสุขภาพสัตว์ เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง หลังจากปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน เพื่อสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ไปช่วยเหลือเกษตรกร โดยเมื่อวันที่ 14 ต.ค. นำส่งโดยรถบรรทุกหญ้าอาหารสัตว์ไปยัง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ต้องลุยน้ำท่วมสูง จากนั้นนำลงเรือท้องแบนอีกทอดเพื่อไปให้ถึงชุมชน พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเข้าดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ป่วยทั่วประเทศแล้ว

แจกจ่ายอาหารสัตว์

นายเฉลิมชัยกล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำท่วม น้ำไหลหลากและท่วมขังระหว่างวันที่ 28 ก.ย.- 14 ต.ค. มีดังนี้ 1.พื้นที่ได้รับผลกระทบสะสมรวม 19 จังหวัด 139 อำเภอ 651 ตำบล 2,466 หมู่บ้าน จังหวัดที่ได้รับผลกระทบได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก สุโขทัย กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกร 67,762 ราย ส่วนสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม 4,469,563 ตัว ประกอบด้วย โค 193,358 ตัว กระบือ 42,078 ตัว สุกร 35,949 ตัว แพะ/แกะ 14,357 ตัว และสัตว์ปีก 4,183,821 ตัว รวมถึงแปลงหญ้าได้รับผลกระทบ 2,002.75 ไร่ 2.กรมปศุสัตว์ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าสะสมรวม ดังนี้ อพยพสัตว์ 210,920 ตัว รักษาสัตว์ 1,582 ตัว แจกจ่ายถุงยังชีพ 1,570 ถุง แจกจ่ายพืชอาหารสัตว์ 873,710 กิโลกรัม แจกจ่ายเวชภัณฑ์เสริมสร้างสุขภาพสัตว์ 23,606 ชุด ประกอบด้วย แร่ธาตุ วิตามินผง และยาปฏิชีวนะชนิดผง ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยที่ต้องการรับการช่วยเหลือสามารถติดต่อที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ หรือติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4444 ต่อ 3315 หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : [email protected] หรือแจ้งข้อมูลในแอปพลิเคชัน DLD 4.0

อุตุฯแจ้ง “เซินกา” อ่อนกำลังลง

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า พายุดีเปรสชัน “เซินกา” อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณแขวงเซกอง สปป.ลาวแล้ว แต่ยังคงส่งผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง กับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรงขึ้น มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง