ม็อบบราซิลไม่รอด! โดนจับกุมมากกว่า 1,500 คน อดีตผู้นำฝ่ายขวา “โบลโซนารู” เข้าโรงพยาบาลสหรัฐ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของบราซิลจับกุมผู้ร่วมก่อจลาจล ตามสถานที่ราชการหลายแห่งในเมืองหลวง มากกว่า 1,500 คน ขณะที่อดีตผู้นำฝ่ายขวา “ฌาอีร์ โบลโซนารู” เข้าโรงพยาบาลที่สหรัฐ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ว่าจากกรณีมวลชนหลายพันคนซึ่งสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู อดีตผู้นำฝ่ายขวา บุกรุกอาคารรัฐสภา ทำเนียบประธานาธิบดี และที่ทำการศาลฎีกา ในกรุงบราซิเลีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงประธานาธิบดีลูอิซ อิกนาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ผู้นำฝ่ายซ้ายคนปัจจุบัน แล้วทำลายทรัพย์สินจนเสียหายอย่างหนัก เรียกเสียงประณามเป็นวงกว้างจากทั้งในและต่างประเทศนั้น

ทหารและตำรวจบราซิลสนธิกำลังกัน รื้อถอนค่ายที่พักของกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ที่ปักหลักอยู่ด้านนอกสำนักงานบัญชาการกองทัพบราซิล ตลอดระยะเวลานานกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่โบลโซนารูพ่ายแพ้การเลือกตั้งรอบชิงดำให้แก่ลูลา นอกจากนี้ นับตั้งแต่เกิดเหตุจลาจลที่สถานที่ราชการทั้งสามแห่งในเมืองหลวง เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมผู้ร่วมก่อความไม่สงบได้แล้วมากกว่า 1,500 คน

ขณะที่ศาลฎีกาของบราซิลมีคำพิพากษา พักงานนายไอบาเนส โรชา ผู้ว่าการกรุงบราซิเลีย เป็นเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ พร้อมทั้งสั่งให้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทุกแห่งซึ่งให้บริการในบราซิล ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และติ๊กต็อก ปิดกั้นบัญชีของ “ผู้ใช้งานคนใดก็ตาม” ซึ่งเผยแพร่เนื้อหา “ที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย”

ด้านลูลายกระดับมาตรการด้านความมั่นคงและความปลอดภัยส่วนกลาง ซึ่งหมายถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในกรุงบราซิเลีย จนถึงวันที่ 31 ม.ค. นี้ และประณามเป็นฝีมือของ “พวกคลั่งไคล้และนิยมฟาสซิสต์” ซึ่งได้รับการปลุกระดม “จากคนแดนไกลที่ไมอามี” สื่อถึงโบลโซนารู ที่เดินทางไป “พักผ่อน” ในสหรัฐ ล่วงหน้าเพียงไม่กี่วันก่อนการสาบานตนของลูลา เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา และยืนยันจะดำเนินการตามกฎหมายกับ “ทุกคนที่เกี่ยวข้อง”

ในอีกด้านหนึ่ง นางมิเชล โบลโซนารู ภริยาของอดีตผู้นำบราซิล กล่าวถึงสามี ว่าเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในเมืองไมอามี เพื่อตรวจบาดแผลที่ลำไส้ ซึ่งเป็นผลจากการถูกแทง ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อปี 2561 โดยก่อนเข้าโรงพยาบาล โบลโซนารูกล่าวถึงความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศว่า การประท้วงอย่างสันติถือเป็น “กิจกรรมประชาธิปไตย” แต่การบุกรุกสถานที่ราชการเช่นนี้ “เป็นการล้ำเส้น” .

เครดิตภาพ : REUTERS