ย้อนแย้ง!! ชวนพินิจ “ปัญญาประดิษฐ์” มี “มุมดี+มุมร้าย”

“ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ (Artificial Intelligence : AI) …เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานข่าวจากต่างประเทศที่ “น่าคิด” โดยเป็นกรณี “มุมร้าย” ที่สวนทาง ที่ “ย้อนแย้ง” กับที่เคยรับรู้กันใน “มุมดี”

ทั้งนี้ กรณี “มุมร้ายของเอไอ” ที่มีรายงานข่าวออกมานั้น มีการอ้างอิง 2 บุคคลที่มิใช่ธรรมดา ๆ ของประเทศมหาอำนาจ 2 ประเทศ รวมถึงอีก 350 ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ

ประเด็นคือ “ความเสี่ยงจากเอไอ??”

“เอไอก็เป็นภัยทางด้านความมั่นคง??”

“มนุษย์อาจจะสูญพันธุ์เพราะเอไอ??”

ทั้งนี้ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ระบุข้างต้นว่ารายงานข่าวเรื่องนี้ “ย้อนแย้ง” กับที่เคยรับรู้กัน…ก็เพราะที่ผ่าน ๆ มาเรื่องเกี่ยวกับ“เอไอ” มักมีการสะท้อนออกมาใน “มุมดี” เป็นหลัก ซึ่งสำหรับในประเทศไทย…กับข้อมูลชุดหนึ่งที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/ เป็นชุดข้อมูลที่อ้างอิงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรณีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) ฉบับที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 นี่ก็สะท้อน “มุมดีที่ย้อนแย้งมุมร้าย” ชัดเจนเช่นกัน

และก็มิใช่แค่กับไทย แต่หมายรวมทั่วโลก อย่างเช่นเนื้อความในชุดข้อมูลดังกล่าวที่ระบุถึง “เอไอ-ปัญญาประดิษฐ์” ไว้ว่า… หมายถึง เทคโนโลยีการสร้างความสามารถให้แก่เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ ด้วยอัลกอริทึมและกลุ่มเครื่องมือทางสถิติ เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ทรงปัญญา ที่สามารถเรียนรู้ เลียนแบบความสามารถของมนุษย์ที่ซับซ้อนได้ ในบางกรณีอาจไปถึงขั้นเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในปัจจุบัน มีบทบาทร่วมขับเคลื่อนในแต่ละภาคส่วน

กับ “เอไอ-ปัญญาประดิษฐ์” นี้ คาดว่า จะสามารถช่วยยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ตอบโจทย์มิติของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ที่ถูกตั้งไว้เป็นเป้าหมายของผลการดำเนินงานและมาตรฐานของทั้งภาคอุตสาหกรรมและการดำเนินธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก

คือ “เทรนด์โลก” กรณี “ยั่งยืน” นั้น…

ก็เชื่อว่า “เอไอ” จะเป็น “มุมดีที่เอื้อได้”

นอกจากนี้ ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยยังมีส่วนที่ระบุไว้อีกว่า… การพัฒนาแผนฯ นี้มีการรวบรวมการศึกษานโยบาย และยุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ของประเทศต่าง ๆ ทั้งในสหภาพยุโรปและอีก 27 ประเทศที่ได้มีการตีพิมพ์ AI Strategies แล้ว ในขณะที่อีก 21 ประเทศ (ไม่รวมไทย) อยู่ระหว่างการพัฒนา โดยภาพรวมแล้วยุทธศาสตร์ และ/หรือแนวนโยบายและมาตรการด้าน “เอไอ-ปัญญาประดิษฐ์” ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ แต่ถึงแม้จะมีเป้าหมายและการสนับสนุนพัฒนาที่ต่างกัน การกำหนดนโยบาย/มาตรการของแต่ละประเทศที่ได้จัดทำก็จะมีความคล้ายคลึงกันในการกำหนดนโยบายและมาตรการบางด้านของการพัฒนา

ได้แก่ด้าน… วิจัยทางวิทยาศาสตร์ (scientific research), พัฒนาผู้ที่มีศักยภาพด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI talent development), ทักษะและอนาคตของการทำงาน (skills and the future of work), พัฒนาอุตสาหกรรมของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (industrialization of AI technologies/ industrial strategies), จริยธรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI ethical standards), โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและดิจิทัล (data & digital infrastructure), ปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐ (AI in the government) และรวมถึง ความครอบคลุมและความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม (inclusion and social well-being)

“เอไอ” ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจ

รวมถึงไทยที่ก็สนใจ “มุมดีของเอไอ”

แต่แล้ว…ระยะหลัง ๆ มานี้กลับมีกระแส “มุมร้ายเอไอที่ย้อนแย้งมุมดี!!” ทยอยปรากฏออกมา และ ดูจะมิใช่เรื่องเลื่อนลอยเสียด้วย?? โดยมีรายงานข่าวจากต่างประเทศหลายข่าว ที่เนื้อความโดยสังเขปนั้น เช่น… สี จิ้นผิง ประธานาธิบดี จีน ได้มีการระบุประมาณว่า… เทคโนโลยี “เอไอ-ปัญญาประดิษฐ์” ก็ถือเป็น “อันตรายต่อความมั่นคง” โดย “ต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์เลวร้ายที่สุด” …ซึ่งหากจะมองว่าจีนกังวลเอไอก็เพราะกังวล สหรัฐอเมริกา ก็มีรายงานข่าวว่า… สหรัฐเองก็กังวลเอไอเช่นกัน โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็มีนโยบายให้ “ต้องศึกษาความเสี่ยงจากเอไอ”

ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ…มีรายงานข่าวว่า… ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้สันทัดกรณีราว 350 คนได้ลงนามแถลงการณ์ที่หลักใหญ่ใจความมุ่ง เตือนให้มีการกำหนด “ความเสี่ยงจากเอไอ” เป็น “เรื่องสำคัญระดับโลก” สำคัญ “เช่นเดียวกับกรณีโรคระบาด-สงครามนิวเคลียร์” เพื่อเป็นการ “ลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของมนุษย์จากเอไอ” …ซึ่งนี่ก็ฉายภาพ “มุมร้ายสุด ๆ”

ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำกรณี “เอไอ-ปัญญาประดิษฐ์” แง่มุมดังกล่าวนี้มาสะท้อนต่อ ก็มิใช่จะเห็นว่าไทยไม่ควรใช้เอไอ เพียงหวังว่า “ไทยจะมีการสำเนียกมุมร้ายเอไอด้วย??” โดย “มีนโยบายและมาตรการด้านเอไอที่รอบคอบ??”

“บิ๊กโลกกังวล” ดังนั้น “ไทยก็ต้องสนใจ”

“ใช้เอไอ” โดย “ได้ประโยชน์-ไร้ปัญหา”

“รัดกุมเอไอ” ให้ “ได้มุมดี-ไม่มีมุมร้าย”.