“รัสเซีย” ปลุกกระแสการรุกราน “ยูเครน” เพื่อช่วยจีนให้หลุดพ้นจากการคุกคามของสหรัฐและชาติตะวันตก

มีการเทียบเคียงว่าการที่รัสเซียปลุกกระแสการรุกรานยูเครน ก็เพื่อช่วยจีนให้หลุดพ้นจากการคุกคามของสหรัฐและชาติตะวันตก

“36 กลยุทธ์” เป็น “พิชัยสงคราม” ที่มีชื่อเสียงลือลั่นของจีน คำๆ นี้มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หนานฉี (ค.ศ. 479 – 502) ตอนแรกมันไม่ได้หมายความว่ามีกลยุทธ์อยู่ 36 กล เพราะคำว่า “36” เป็นโวหารหมายถึง “มีมากมาย” เหมือนคำว่า “ร้อยแปดพันเก้า” ในภาษาไทย ในภายหลังจึงค่อยๆ มีคนค้นคว้าเรื่องพิชัยสงครามในประวัติศาสตร์ แล้วมาเรียบเรียงให้ครบ 36 กล พร้อมกับเขียนชื่อกลยุทธ์อย่างเพริดแพร้วแสดงถึงภูมิปัญญาการสัประยุทธ์ของจีนโบราณ

หนึ่ง 36 กลศึกเรียกว่า “ล้อมเว่ยช่วยจ้าว” อ้างอิงจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในสมัย “จ้านกั๋ว” หรือยุคที่จีนแบ่งแยกเป็นรัฐต่างๆ มากมายและรบราแย่งชิงอำนาจกันเอง ยุคนี้เรียกอีกอย่างว่า “เลียดก๊ก” ที่แปลว่านานารัฐ คนไทยสมัยก่อนรู้จักกันเพราะเรื่องราวของยุคสมัยนี้บันทึกไว้ในวรรณกรรมพงศาวดารจีนที่แปลไว้ตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นเรื่องวังวนอำนาจและกลศึกเหมือนกับวรรณกรรมเรื่อง “สามก๊ก” (คือสามรัฐ) ที่แปลไว้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

กลับมาที่เลียดก๊ก ยุคนั้นรัฐสำคัญๆ ที่ชิงอำนาจกันคือรัฐฉิน รัฐหาน รัฐฉู่ รัฐเอียน รัฐจ้าว รัฐเว่ย รัฐฉี ในปี 354 ก่อนคริสตกาล รัฐจ้าวและรัฐเว่ยมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน กองทัพจากรัฐเว่ยยกไปบุกเมืองหานตานเมืองหลวงของรัฐจ้าว สถานการณ์ของรัฐจ้าวจึงคับขันมาก รัฐฉีจึงไปขอความช่วยเหลือจากแคว้นฉีที่อยู่ใกล้ๆ กัน

นี่เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งในยุคเลียดก๊ก นั่นคือนอกจากจะชิงความเป็นใหญ่กันเองแล้ว ยังมีการฟอร์มพันธมิตรและสลายพันธมิตรครั้งแล้วเล่า ทำให้รัฐใหญ่ไม่สามารถกลืนรัฐเล็กได้ง่ายๆ และรัฐเล็กก็ยังสามารถโค่นรัฐใหญ่ได้ด้วยวิธีการนี้

ดังนั้น บุคลากรที่เป็นที่ต้องการในยุคเลียดก๊ก นอกจากจะเป็นขุนศึกและกุนซือนักวางแผนแล้ว พวกนักเจรจาหว่านล้อมที่มีโวหารคมกริบก็เป็นที่ต้องการมากเช่นกัน

เมื่อรัฐจ้าวไปขอความช่วยเหลือจากรัฐฉีก็ถือว่าขอถูกคน เพราะรัฐจ้าว รัฐเว่ย รัฐฉีมีพรมแดนติดกัน หากนึกไม่ออกให้ลองเทียบกับบริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งแผ่นดินไทย ลาว และเมียนมามาบรรจบกัน สภาพภูมิศาสตร์ของรัฐจ้าว รัฐเว่ย รัฐฉีก็เป็นแบบเดียวกัน

นอกจากฉีจะใกล้กับจ้าวแล้ว รัฐฉียังมียอดคนอยู่ด้วยในเวลานั้น คือ “ซุนปิน” ซึ่งเป็นลูกหลานของซุนจื่อหรือซุนวู ยอดนักพิชัยสงครามผู้มีชื่อเสียงลือลั่นไปทั่วโลก ซุนปินก็เหมือนกับบรรพชนของเขา คือคร่ำหวอดเรื่องพิชัยสงครามอย่างมาก

แต่ก่อนจะมาถึงวันนี้ ซุนปินต้องประสบเคราะห์กรรมมาก่อน ด้วยน้ำมือของศิษย์ร่วมสำนักที่ชื่อ “ผังจวน” ทั้งสองคนนี้เมื่อจบการศึกษาด้านพิชัยสงครามแล้วก็ไปรับใช้รัฐเว่ย ในเวลานั้นใครไปทำงานกับแคว้นเว่ยมีโอกาสจะมีอนาคตไกล เพราะเจ้าแคว้นต้องการปฏิรูปและยกระดับแคว้นให้แข็งแกร่ง จนทำให้เว่ยกลายเป็น “ป้าจู่” หรือผู้ทรงอำนาจหนึ่งเดียวในบรรดารัฐทั้งหลาย

แต่เพราะผังจวนริษยาความเก่งกาจของซุนปิน จึงใส่ไคล้เขาต่อเจ้าแคว้นเว่ย จึงเจ้าแคว้นคิดจะประหารซุนปินเสีย มาถึงตอนนี้ผังจวนแสร้งทำทีเป็นว่าสงสารเพื่อร่วมสำนัก วอนเจ้าแคว้นให้ละโทษตาย เจ้าแคว้นเว่ยจึงเพียงสั่งให้สักใบหน้าประจานและแซะเอากระดูกหัวเข่าของซุนปินออกไปเสีย ทำให้เป็นคนพิการเดินเหินไม่ได้

ผังจวนยังไม่สิ้นความร้าย ทำทีเป็นเอาใจใส่ดูแลซุนปินเพื่อคิดเกลี้ยกล่อมให้ยอมมอบตำราพิชัยสงครามให้กับเขาแล้วจะฆ่าทิ้งเสีย แต่ซุนปินเริ่มตระหนักว่าผังจวนคิดร้ายต่อตนจึงแกล้งทำเป็นบ้า ลงทุนถึงกับไปนอนเกลือกกลิ้งในคอกหมู ทำเป็นกินอุจจาระสัตว์อย่างเอร็ดอร่อยเพื่อให้ผังจวนคลายความสงสัย พอผังจวนคิดว่าซุนปินบ้าจริงก็คลายความระแวงลง ถึงตอนนี้ซุนปินจึงได้รับความช่วยเหลือทูตรัฐฉีให้หนีไปที่นั่น

ไปถึงรัฐฉีแล้ว ซุนปินไปเข้าสังกัดอยู่กับเถียนจี้ขุนศึกของฉี ตอนนี้เองที่ซุนปินแสดงมันสมองของกุนซืออัจฉริยะให้ประจักษ์ ครั้งหนึ่ง เจ้าแคว้นฉีเชิญขุนพลเถียนจี้ไปร่วมการแข่งม้า ม้านั้นมี 3 ม้าแต่ละม้าก็มีศักยภาพต่างกันไป ซุนปินจึงแนะกับเถียนจี้ว่า ท่านจงเอาม้าเลวที่สุดของท่านแข่งกับม้าฝีเท้าดีที่สุดของเจ้าแคว้น แล้วใช้ม้าปานกลางของท่านแข่งกับม้าชั้นเลวของเจ้าแคว้น ส่วนม้าดีที่สุดของท่านแข่งกันม้าฝีเท้าปานกลางของเจ้าแคว้น

กลยุทธ์นี้เรียกว่า “เถียนจี้แข่งม้า” มันกลายเป็นกลเม็ดในการจับคู่การแข่งขันเพื่อเล็งผลเลิศที่ยังใช้การได้จนทุกวันนี้ ปรากฏว่าเถียนจี้เอาชนะเจ้าแคว้นได้ เจ้าแคว้นฉีประทับใจมากแสดงความชื่นชมกับเถียนจี้ แต่เถียนจี้กลับเผยว่ากลนี้มาจากสมองของซุนปิน เจ้าแคว้นก็ยิ่งประทับใจ แต่งตั้งซุนปินให้เป็นกุนซือกองทัพและที่ปรึกษาเจ้าแคว้น

เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าเถียนจี้ไม่เก็บความดีความชอบไว้กับตัวเอง เมื่อคนข้างกายฉายประกายความเก่งออกมาก็สนับสนุนเต็มที่แม้ว่าจะได้ดีกว่าตนก็ตาม ในกรณีของซุนปินนั้นเมื่อได้ดิบได้ดี ในภายหลังยังจะเป็นคุณต่อเถียนจี้ด้วยซ้ำ และทำให้ชื่อของ “ซุนปิน-เถียนจี้” เป็นที่ครั่นคร้ามไปทั่วแผ่นดิน

กลับมาที่ปี 354 ก่อนคริสตกาล เมื่อรัฐเว่ยบุกแคว้นจ้าว จ้าวจึงมาขอความช่วยเหลือจากฉี นี่ไม่ใช่แค่โอกาสของฉีในการเป็นหนี้บุญคุณต่อแคว้นจ้าวเท่านั้นยังเป็นโอกาสของซุนปินชำระแค้นกับคนที่ทำให้เขาต้องประสบเคราะห์กรรมก่อนหน้านี้ด้วย เพราะแม่ทัพของแคว้นเว่ยคือ “ผังจวน” นั่นเอง

ในการช่วยแคว้นจ้าว ซุนปินคิดแผนอันลึกล้ำขึ้นมา นั่นคือแทนที่จะส่งทหารไปช่วยเสริมทัพรัฐจ้าวแล้วไปปะทะกับกองทัพรัฐเว่ยโดยตรง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อฉีเอง เขาจะแบ่งกองทัพย่อยเพื่อโจมตีจุดที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญ เพื่อทำให้เว่ยตายใจ แล้วทุ่มกำลังเข้าบุกตีหานตานเมืองหลวงของแคว้นจ้าว

แต่การตีหานตานแบบเต็มกำลังไม่ใช่การทิ้งเนื้อให้เสือกิน แต่เป็นคือการล่อเสือให้ติดกับต่างหาก

ศึกนี้ซุนปินร่วมนำทัพกับเถียนจี้ เถียนจี้แม้จะเคยเป็นนายของซุนปิน แต่ก็เชื่อมั่นในแผนการนี้มาก ซุนปินแนะให้เถียนจี้นั้นนำทัพกองเล็กกว่าเดินทางจากรัฐฉีลงไปทางใต้ของรัฐจ้าวที่เมืองผิงหลิง ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญน้อย ทำให้ผังจวนไม่ให้ความสำคัญและทุ่มเทให้กับยึดหานตานมากกว่าพอผังจวนบุกหานตาน ทหารรัฐจ้าวก็ต่อสู้ถวายชีวิต แม้ว่าทหารจ้าวจะแพ้และเสียหานตานไป แต่ผังจวนติดกับแล้วโดยไม่รู้ตัว

เมื่อผังจวนติดพันที่หานตาน ซุนปินจึงส่งกองทัพเข้าโจมตีนครต้าเหลียงเมืองหลวงของรัฐเว่ยแบบสายฟ้าแลบในทันที เมื่อผังจวนทราบข่าวก็ต้องรีบทิ้งเมืองหานตานกลับไปยังเมืองหลวงของตน ทั้งๆ ที่ยังบอบช้ำเพราะถูกทัพรัฐจ้าวต้านทานไม่ระย่นระย่อ เรียกว่า เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ

แต่กระดูกที่แขวนคอคราวนี้กำลังจะเป็นกระดูกของทหารรัฐเว่ยเสียเอง ผังจวนรีบนำทัพเว่ยผละจากรัฐจ้าว เร่งฝีเท้าทั้งกลางวันกลางคืนจนแทบสิ้นกำลัง มาถึงตอนนี้ซุนปินคำนวณแล้วว่าทัพของผังจวนต้องผ่านเมืองกุ้ยหลิง จึงนำทัพหลวงของรัฐฉีไปยังจุดนัดแนะกับทัพของเถียนจี้ที่เดินทางจากเมืองผิงหลิงขึ้นไปทางเหนือเพื่อไปรอดักผังจวน

ผังจวนและพวกทั้งเหนื่อยทั้งเจ็บ ผิดกับทัพของซุนปินกับเถียนจี้ที่นั่งกระดิกเท้ารอที่กุ้ยหลิง เมื่อทัพผังจวนผ่านมากุ้ยหลิงก็ถูกทัพรัฐฉีของซุนปินลอบโจมตีอย่างหนักแบบไม่คาดฝันขณะที่กองทัพของผังจวนกำลังข้ามแม่น้ำเหลือง

ผลก็คือกองทัพรัฐเว่ยที่บุกรัฐจ้าวแบบจะเอาให้ตาย กลับแทบเอาชีวิตไม่รอดเสียเอง ผังจวนนั้นถูกจับตัวเอาไว้ได้ แต่ซุนปินกลับมีเมตตาปล่อยตัวผังจวน ซมซานกลับแคว้นเว่ยไปแบบคนที่สูญสิ้นทั้งกองทัพและเกียรติภูมิ

ในภายหลังรัฐเว่ยกับผังจวนยังไม่สิ้นความฮึกเหิม ทำการโจมตีรัฐหานในปี 342 ก่อนคริสตกาล แล้วรัฐฉีเข้าช่วยรัฐหานเช่นกัน ซุนปินนำทัพเข้าช่วยรัฐหานและบดขยี้ทัพรัฐเว่ยได้อีกครั้งใน “การศึกที่หม่าหลิง” ถึงขนาดจับตัวรัชทายาทรัฐเว่ยเอาไว้ได้ ส่วนผังจวนนั้นจวนตัวถูกล้อมไว้หมดสิ้นหนทางจึงฆ่าตัวตาย ซุนปินได้กำจัดปรปักษ์ได้อย่างเด็ดขาด และนับแต่นั้นรัฐฉีก็กลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยว หรือ “ป้าจู่” แทนที่รัฐเว่ย

การศึกที่หม่าหลิงนั้นถือว่ายิ่งใหญ่กว่า “ล้อมเว่ยช่วยจ้าว” เสียอีก แต่จะขอละไว้ เพราะหัวใจของบทความนี้อยู่ที่กลศึกล้มเว่ยช่วยจ้าว

อันที่จริงแล้วในยุคของซุนปินนั้นคำว่า “ล้อมเว่ยช่วยจ้าว” ยังไม่มี เพราะกลศึกนี้มีชื่อว่า “จู่โจมจุดสำคัญ ก่อกวนจุดว่าง” นั่นคือก่อกวนให้ข้าศึกเข้าใจผิดด้วยการเข้าตีจุดไม่สำคัญ แต่ซ่อนกำลังเอาไว้โจมตีจุดตายของข้าศึกแบบไม่ทันรู้ตัว

ในยุคสมัยต่อๆ มากลศึก “ล้อมเว่ยช่วยจ้าว” หรือ “จู่โจมจุดสำคัญ ก่อกวนจุดว่าง” ถูกนำมาใช้หลายครั้ง กระทั่งในระหว่างที่เกิดความตึงเครียดขึ้นที่ชายแดนรัสเซีย-ยุเครน ผู้เขียนได้ยินว่ามีผู้เทียบกรณีนี้กับ “ล้อมเว่ยช่วยจ้าว” คือรัสเซียลงมือก่อกวนขึ้นที่ยุโรป เพื่อทำให้สหรัฐและพันธมิตรผละจากการก่อนกวนจีน

ทราบกันดีว่าจีนและรัสเซียเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งชาติตะวันตกเล่นงานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จีนและรัสเซียก็จะช่วยเหลือกันเต็มที่ เพราะมี “ศัตรู” ร่วมกันและประเทศที่ทำตัวเป็นศัตรูกับทั้งสองมีมากขึ้นทุกที จึงมีแต่กันและกันเท่านั้นที่ช่วยเหลือกันได้

แต่กรณียูเครนยังห่างไกลจากกลศึก “ล้อมเว่ยช่วยจ้าว”

แม้จะพร้อมจะช่วยเหลือกัน แต่ไม่มีทางที่รัสเซียจะเปิดศึกใหญ่เพียงแค่ต้องการจะช่วยจีน อันที่จริงจีนไม่ถึงขั้นที่รัสเซียต้องก่อสงครามเพื่อช่วย เพราะจีนก็ไม่ได้พบกับการรุกรานอะไรเลย มันจึงเป็น “ล้อมเว่ยช่วยจ้าว” ที่ผิดฝาผิดตัว หรือถ้าทำแบบนั้นก็ไม่คุ้มเอามากๆ

เอาเข้าจริง มีรายงานข่าวจาก Bloomberg ด้วยซ้ำว่า สีจิ้นผิงขอไม่ให้ปูตินรุกรานยูเครนช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวโดยอ้างแหล่งข่าวนักการทูตในปักกิ่ง แต่ต่อมาโฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียบอกว่านั่นมันเฟคนิวส์ทั้งเพ

จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ข่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า “รัสเซียไม่ได้ล้อมยูเครนช่วยจีน” แต่เป็นสถานการณ์ที่สุกงอมแล้วระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ลากยาวมาหลายปี มาถึงจุดไคลแม็กซ์เมื่อต้นปีที่แล้ว เริ่มงวดมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปลายปีที่แล้วก็พีคที่สุด เมื่อนาโตทำท่ารุกไปยังตะวันออก แสดงอาการจะดึงยูเครนมาเป็นสมาชิกนาโต รัสเซียจึงขู่ว่าถ้าจะดึงยูเครนเป็นสมาชิกนาโตจะได้เห็นดีกัน

เรื่องนี้อ่านเพิ่มเติมได้จากเรื่อง “กรณียูเครน: ยุโรปแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันรบกับรัสเซีย”

สถานการณ์เกี่ยวกับยูเครนมีประเด็นที่เถียงกันไม่จบอยู่เรื่องหนึ่งคือ ใครเป็นฝ่ายยั่วยุใครก่อน ระหว่างยูเครน นาโต หรือรัสเซีย? จนทำให้เรื่องบานปลายขึ้นมา แน่นอนว่าถ้าเอาเรื่องนี้เป็นที่ตั้ง จีนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกตอนนี้คือการแย่งชิงกันเป็น “ป้าจู่” หรือมหาอำนาจเดี่ยวเหมือนกับยุคเลียดก๊ก แต่ละก๊กต่างก็เดินเกมส์สานพันธมิตร สลายพันธมิตร ช่วยกันรบ แยกกันตีชัดขึ้นเรื่อยๆ นี่คือการเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการรบรานานารัฐ ทั้งการรบแบบทางตรงและตัวแทน การรบในระบบบ และการรบด้วยข่าวปลอม

แต่ก็เช่นเดียวกับเลียดก๊ก ยุคสมัยนี้จะเต็มไปด้วยการแทงข้างหลัง การทรยศสหาย และความล่มสลายของแนวร่วม เพราะแต่ละก๊กต่างก็ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่ของใคร

โปรดอย่าลืมว่าจีนกับรัสเซียนั้น เคยเป็นพันธมิตรมาก่อนในยุคต้นสงครามเย็น ครั้นกลางยุคสงครามเย็นก็เป็นศัตรูกัน ครั้นถึงยุคสงครามเย็นใหม่ก็กลับมาปรองดองกันอีก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นหามิตรหรือศัตรูถาวรไม่ได้ มันจะวนเวียนกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ

โลกของเราจึงเหมือนท่อนอารัมภบทของสามก๊กที่ว่า “เดิมแผ่นดินเมืองจีนทั้งปวงนั้น เปนสุขมาช้านานแล้วก็เปนศึก ครั้นศึกสงบแล้วก็เปนสุข”

โดย กรกิจ ดิษฐาน