ราชกิจจาฯ ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน! จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่ออีก 3 เดือน เหตุคนร้ายยังก่อความไม่สงบ

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่ออีก 3 เดือน เหตุยังมีการก่อความไม่สงบ ซ้ำพบแหล่งซ่องสุมกำลัง กระทบความมั่นคงและความปลอดภัยประชาชน

วันที่ 14 กันยายน 2565 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และอำเภอกาบัง ลงนามท้ายประกาศโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565 มีเนื้อหาว่า

ตามที่ได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และอำเภอกาบัง ตามประกาศลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถขยายผลการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสามารถจับกุมตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งสามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น แต่ปรากฏว่ายังคงมีการก่อเหตุการณ์ร้ายแรงเพื่อสร้างสถานการณ์ อีกทั้งยังพบแหล่งหลบซ่อนและซ่องสุมกำลังพลเพื่อเตรียมก่อเหตุ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีศักยภาพในการปฏิบัติการและยังมีความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงด้วยการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่เพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยมุ่งหวังให้เกิดการเกรงกลัวอันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยของประชาชนจนไม่อาจดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข

จึงสมควรขยายระยะเวลาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของรัฐและของบุคคล ซึ่งจำเป็นต้องใช้มาตรการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาให้ยุติลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ดังกล่าวออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

(อ่านฉบับเต็ม)

ขณะเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ยังเผยแพร่ประกาศที่เกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป เช่นกัน คือ ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ

ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และอำเภอกาบัง ลงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565 แล้วนั้น

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข หรือระงับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติให้บรรดาประกาศที่ ครม. กำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 และตามประกาศ เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2550 ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่า ครม. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น

(อ่านฉบับเต็ม)

อีกฉบับคือ ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ

ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และอำเภอกาบัง ลงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565 แล้วนั้น

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข หรือระงับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีจึงให้บรรดาประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 1/2550 เรื่อง การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2550 และตามประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ดังกล่าวเท่าที่ยังคงมีผลใช้ บังคับอยู่ในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่านายกรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น.

(อ่านฉบับเต็ม)