รู้จัก!! “มดบากจีนใจ” มดชนิดใหม่ของโลก ที่อุทยานธรณีสตูล

รู้จัก “มดบากจีนใจ” มดชนิดใหม่ของโลกที่อุทยานธรณีสตูล โดยถูกพบบนกิ่งไม้แห้งในป่าละเมาะด้านนอกถ้ำอุไรทอง และบริเวณป่าข้างถนนใกล้คลองห้วยบ้า จ.สตูล

วันที่ 26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า “อุทยานธรณีสตูล” (Satun Geopark) ได้รับการประกาศให้เป็น “อุทยานธรณีโลก” (UNESCO Global Geopark) ในปี พ.ศ. 2561 เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุทยานธรณีสตูลมีพื้นที่ 2,597 ตร.กม. ครอบคลุม 4 อำเภอในจังหวัดสตูล ได้แก่ อำเภอเมือง ทุ่งหว้า มะนัง และละงู

พื้นที่อุทยานธรณีสตูล ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยามากกว่า 70 แห่ง ทั้งบนบกและในทะเล เช่น ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต น้ำตกธารปลิว หินเขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย เกาะไข่-หาดหินงามแห่งหมู่เกาะตะรุเตา ทะเลแหวกเกาะหว้าหิน-เกาะลิดีเล็ก และด้วยความโดดเด่นด้านธรณีวิทยานี้เองจึงส่งผลให้พื้นที่อุทยานธรณีมีความหลากหลายสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจมากมายตามไปด้วย

ทีมวิจัยทางธรรมชาติวิทยาองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้ให้ความสนใจพื้นที่อุทยานธรณีสตูลและได้ดำเนินโครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงภายใต้โครงการศึกษาความหลากหลายของพืชและสัตว์ในอุทยานธรณีสตูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึง พ.ศ. 2567 โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป้าหมายของการศึกษานั้นอยู่ในบริเวณอุทยานธรณีสตูลและพื้นที่ติดต่อกันในบริเวณจังหวัดสตูลและตรัง กระทั่งในปี พ.ศ. 2565 นักวิจัยอพวช. ได้ค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่ศึกษา

“มดบากจีนใจ” มดชนิดใหม่ของโลกถูกค้นพบโดย นายทัศนัย จีนทอง และ ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการกองวิชาการสัตววิทยา สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.

โดยพบมดชนิดใหม่นี้อาศัยอยู่ในกิ่งไม้แห้งที่ติดค้างอยู่กับลำต้นของไม้พุ่มในป่าละเมาะด้านนอกถ้ำอุไรทอง และบริเวณป่าข้างถนนใกล้คลองห้วยบ้า อำเภอละงู จังหวัดสตูล ในวันที่ 21 เมษายน 2565 และได้ถูกตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vombisidris satunensis Jeenthong, Jaitrong & Tasen, 2023 ได้ถูกบรรยายลักษณะและตีพิมพ์ลงในวารสาร Tropical Natural History ฉบับที่ 23 (ปี พ.ศ. 2566)

และมดชนิดใหม่ได้ถูกตั้งชื่อไทยว่า “มดบากจีนใจ” ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเป็นที่ระลึกในพิธีเปิดนิทรรศการสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ New Species of Life เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566

การค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกในอุทยานธรณีสตูลแสดงให้เห็นถึงความคงอยู่ของความหลากหลายและความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานธรณี ซึ่งนอกจากความสมบูรณ์ของการเป็นแหล่งทรัพยากรธรณีที่สำคัญของประเทศไทยและของโลกแล้วยังมีความสำคัญของการเป็นแหล่งทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญด้วยเช่นกัน

และการค้นพบนี้ช่วยเติมเต็มข้อมูลการศึกษาวิจัยและการจัดทำฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของอุทยานธรณีสตูล นำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานธรณีสตูลอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ข้อมูลจาก สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.