ลอยกระทงปีนี้คึกคักสุดในรอบ 5 ปี เงินสะพัดเฉียด 9.7 พันล้าน เอกชนลุ้นมาตรการรัฐหนุนใช้จ่ายปีใหม่อู้ฟู่

ม.หอการค้าไทย เผย ลอยกระทงปีนี้คึกคักสุดรอบ 5 ปี เงินสะพัดเฉียด 9.7 พันล้านบาท โตเกือบ 6% จากปีก่อน คาดการใช้จ่ายส่งสัญญาณฟื้นตัวจนถึงช่วงปีใหม่ แม้ประชาชนบางส่วนยังกังวลค่าครองชีพสูง ขณะที่ภาคเอกชน หวังรัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีใหม่ ช่วยเพิ่มจ้างงาน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วงวันลอยกระทงปี 65 ผลสำรวจพบว่า ลอยกระทงปีนี้ จะมีมูลค่าการใช้จ่าย หรือเงินสะพัด 9,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับปี 64 และเป็นมูลค่าใช้จ่ายสูงสุดในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับอัตราการขยายตัวที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 5 ปี หลังปี 61-64 ที่ติดลบมาตลอด

“มูลค่าใช้จ่ายดังกล่าวคิดเป็นเฉลี่ยคนละ 1,920.39 บาท โดยหมดไปกับการเดินทาง รับประทานอาหารนอกบ้าน สังสรรค์ ทำบุญ ช็อปปิ้ง ซื้อกระทง เครื่องดื่ม สุรา ชุดไปเที่ยวงาน ท่องเที่ยว ฯลฯ

ผู้ตอบส่วนใหญ่ 43.3% ระบุว่า ปีนี้ใช้จ่ายมากขึ้นกว่าปีก่อน เพราะสินค้าแพงขึ้น รัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น หนี้สินน้อยลง มั่นใจรายได้ในอนาคต 33.4% ตอบใช้จ่ายเท่าเดิม และอีก 23.3% ตอบใช้จ่ายน้อยลง เพราะสินค้าแพงขึ้น รายได้ลดลง หนี้สินมากขึ้น ต้องการประหยัด ไม่มั่นใจรายได้อนาคต เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ตกงาน ฯลฯ

ส่วนแหล่งที่มาของรายได้ที่นำมาใช้จ่ายช่วงลอยกระทง ส่วนใหญ่ 67.0% เป็นเงินเดือน/รายได้ปกติ อีก 21.3% เป็นเงินออม 7.1% โบนัส/รายได้พิเศษ, 4.5% เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล และอีก 0.1% อื่นๆ เช่น กู้ยืม ถูกลอตเตอรี่ ทั้งนี้ ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับการจี้ ปล้น ล้วงกระเป๋า, ไฟไหม้, จราจรติดขัด, ล่วงละเมิดทางเพศ ล่อลวง ข่มขืน, อุบัติเหตุความปลอดภัยการเดินทาง, ผู้ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า, เรือล่ม เป็นต้น ส่วนคำอธิษฐานสำหรับตนเอง คือ การงาน การเงิน การค้าเจริญรุ่งเรือง, สุขภาพแข็งแรง, พบเจอแต่สิ่งที่ดีมีความสุข และคำขอสำหรับประเทศ คือ ขอให้เศรษฐกิจดี, คนในชาติสามัคคี, ค่าครองชีพลดลง, ประเทศเจริญรุ่งเรือง และยาเสพติดหมดไป

“ผลสำรวจสะท้อนได้ว่า ลอยกระทงปีนี้จะกลับมาคึกคักในรอบ 5 ปี แต่ประชาชนยังอยู่ในโหมดของการระมัดระวังการใช้จ่าย เชื่อว่าสัญญาณการใช้จ่ายตามเทศกาลจากนี้จะดีขึ้นต่อเนื่อง และกลับมาฟื้นตัวถึงปีใหม่”

นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนมีมุมมองต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น จากเดิมมองว่าเศรษฐกิจฟื้นครึ่งหลังปี 66 แต่การสำรวจรอบนี้ส่วนใหญ่มองฟื้นตัวไตรมาส 2/66 อย่างไรก็ดี ประชาชนยังกังวลค่าครองชีพสูง ธุรกิจยังกลับมาไม่เต็มที่ จึงอยากให้รัฐช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ สร้างความเท่าเทียมกันของคนในสังคม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในประเทศ และช่วยเหลือเงินทุนสำหรับธุรกิจที่มีเงินทุนน้อย

วันเดียวกัน นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือน ต.ค.65 พบว่าขยับขึ้นเพียง 1.3 จุด เมื่อเทียบกับ ก.ย.65 โดยได้รับปัจจัยหนุนชั่วคราวจากวันหยุดยาวสองช่วงมาช่วยชดเชยกำลังซื้อที่อ่อนแอ แต่อุทกภัยหลายพื้นที่ ต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่สูง ค่าสาธารณูปโภค และการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก แต่คาดว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับดีขึ้นตามการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบอีกว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (63-2564) ธุรกิจ 61% ต้องลดระดับการจ้างงานลง ในขณะที่หลังการผ่อนคลายความเข้มงวดแล้ว ธุรกิจกว่า 48.8% ยังไม่ฟื้นตัว ยังมีการจ้างงานในระดับต่ำกว่าเดิม 10-20% ภาครัฐควรต้องใส่มาตรการต่างๆ ทั้งการกระตุ้นการจับจ่ายและส่งเสริมธุรกิจให้ฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อเร่งกลไกเศรษฐกิจทั้งระบบให้พลิกฟื้นโดยเร็วอย่างตรงเป้าและต่อเนื่อง

“ภาพรวมผู้ประกอบการยังคงกังวลต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัว จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาให้กับผู้บริโภคทั้งระดับบนและระดับฐานราก อาทิ การนำมาตรการคนละครึ่ง หรือช็อปดีมีคืนกลับมาใช้อีกครั้ง รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการจ้างงานได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เช่น การจ้างงานรายชั่วโมง เป็นต้น”