วัคซีนแบบพ่นจมูก ตัวเปลี่ยนเกมการระบาดของโควิด-19?

  • วัคซีนแบบพ่นจมูกที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งเดินหน้าพัฒนา อาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมทำให้การระบาดของโควิด-19 จบได้เร็วขึ้น
  • ภารัต ไบโอเทค ของอินเดีย หนึ่งในผู้พัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูกเปิดเผยว่าวัคซีนแบบพ่นจมูก สามารถสกัดไวรัสร้ายโควิด-19 ได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการแพร่กระจายผ่านทางอากาศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย
  • ออสเตรเลียก็อัดฉีดงบวิจัยถึง 100 ล้านบาท เพื่อเร่งทดลองยาพ่นจมูก ยืนยันป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ อีกทั้งค่าใช้จ่ายยังถูกอีกด้วย

ผลการศึกษาจากทั่วโลกต่างยืนยันตรงกันว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงลงได้ แต่การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และรวมทั้งประสิทธิภาพอาจจะลดลงไปอีกเมื่อเกิดการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การผลักดันให้ต้องฉีดวัคซีนบูสเตอร์ หรือวัคซีนเข็มกระตุ้นกันเป็นวงกว้าง

ขณะที่วัคซีนแบบพ่นจมูกที่หลายๆ ประเทศกำลังพัฒนา ก็ถูกยกขึ้นมาพูดถึงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาว่าอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในระยะยาว เนื่องจากมีคุณสมบัติในการป้องกันและสกัดเชื้อไวรัสที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ต้น

ภารัต ไบโอเทค บริษัทผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติอินเดีย หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตวัคซีนชั้นนำของโลก ก็เป็นที่พูดถึงอย่างมากจากการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด โควาซิน ที่ได้รับอนุมัติฉีดให้กับชาวอินเดียและอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในเวลานี้ก็คือการทดลองวัคซีนแบบพ่นจมูกที่เชื่อว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมครั้งสำคัญนี้ได้

กฤษณา เอลลา ประธานและผู้อำนวยการการจัดการของภารัต ไบโอเทค ระบุว่า การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชากรด้วยวิธีการฉีดพ่นวัคซีนทางจมูกหรือปากจะสามารถทำได้เร็วกว่าการฉีดวัคซีนด้วยเข็ม หากอยู่ในช่วงของการระบาดหนัก เพราะการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะความรู้เฉพาะทางมาเป็นผู้ฉีดยาให้ ขณะที่วัคซีนแบบพ่นจะใช้งานได้ง่ายกว่าในบุคคลทั่วไป และไม่ทำให้เด็กๆ หวาดกลัว รวมทั้งยังตัดปัญหาเรื่องการขาดแคลนเข็มฉีดยา และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้เร็วขึ้น

สำหรับความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูกทั่วโลก ตอนนี้มีอย่างน้อย 10 กว่าบริษัทที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา โดยบางบริษัททดลองไปถึงเฟส 3 หรือกำลังเริ่มทดลองในคนแล้ว แต่คาดว่าวัคซีนจากบริษัทภารัต ไบโอเทค น่าจะเป็นเจ้าแรกที่ได้นำออกมาใช้งาน หลังจากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางบริษัทได้รับอนุมัติให้เริ่มทดลองวัคซีนพ่นจมูกในเฟส 3 ที่อินเดียแล้ว โดยทดลองใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นให้แก่ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ก่อนที่จะมีการสรุปผลการทดลองเพื่อขออนุมัติใช้งานจริงต่อไป

ทั้งนี้ จากการกลายพันธุ์ที่ผ่านมา จนมาถึงเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ทำให้หลายฝ่ายตระหนักว่า แม้จะได้รับวัคซีนต้านโควิดแล้วถึง 3 โดส ก็ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แค่ป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงมากเท่านั้น เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในเลือด เปรียบเทียบกับวัคซีนที่พ่นเข้าจมูก ซึ่งจะสกัดโดยตรงไปที่ทางเข้าของไวรัส โดยจะไปสร้างชั้นเมือกเคลือบที่ผิวของโพรงจมูก ปากและลำคอ เป็นภูมิคุ้มกันระยะยาว ดักจับไม่ให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งการแพร่เชื้อได้ดีกว่ามาก เพราะถ้าเปรียบเทียบกับการป้องกันข้าศึกบุกเมือง การตั้งป้อมปราการที่ประตูเพื่อป้องกันผู้บุกรุก ย่อมดีกว่าการพยายามจะขับไล่ผู้บุกรุกให้ออกไปจากเมืองของเราเมื่อเขาบุกเข้ามาแล้ว

แพทย์หญิงเจนนิเฟอร์ กอมเมอร์แมน นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตระบุว่า วัคซีนแบบพ่นจมูก เป็นทางเดียวที่จะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ เพราะพวกเราคงไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยการพยายามปกป้องคนที่มีความเสี่ยงและฉีดวัคซีนกระตุ้นให้พวกเขามีภูมิคุ้มกันในระดับสูงได้ตลอดไป

ก่อนหน้านี้ผลการทดลองวัคซีนแบบพ่นจมูกพบว่า วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ ทั้งกับหนู เฟอร์เร็ต แฮมสเตอร์ และลิง และยิ่งมีผลของการทดลองในการศึกษาครั้งล่าสุดนี้ออกมา ก็ยิ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า วัคซีนพ่นจมูกเหมาะกับการนำไปใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นให้แก่ประชาชน

แพทย์หญิงอะกิโกะ อิวาซากิ นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาวิจัยระบุว่า แนวทางของทีมวิจัยไม่ได้ต้องการใช้วัคซีนพ่นจมูก เป็นวัคซีนตั้งต้น แต่ให้ใช้งานเป็นวัคซีนกระตุ้น เพราะมันจะช่วยยกระดับภูมิคุ้มกันที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเธอและทีมวิจัยได้ใช้โปรตีนหลายตัวจากเชื้อโควิด-19 และไวรัสซาร์ส ซึ่งก็พบว่า วัคซีนพ่นจมูกดูเหมือนจะสามารถป้องกันเชื้อต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างหลากหลาย

ทั้งนี้ วัคซีนต้านโควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบันจะถูกฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อ และจะเริ่มกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันต่อสู้กับไวรัสหลังจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว แต่มีภูมิคุ้มกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จะไปอยู่บริเวณจมูกและลำคอ และถดถอยลงอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากวัคซีนพ่นจมูก ที่สร้างภูมิคุ้มกันพิเศษที่เรียกว่า Iga ที่จะเกาะอยู่บริเวณเยื่อเมือกของจมูกและลำคอ และภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะเสื่อมถอยประสิทธิภาพลงช้ากว่า ซึ่งแพทย์หญิงอิวาซากิระบุว่า วัคซีนแบบพ่นจมูก จะช่วยเคลือบทางเดินหายใจยาวไปจนถึงปอด ไม่ได้ป้องกันแค่ส่วนปลายจมูกเท่านั้น

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของแพทย์หญิงกอมเมอร์แมนและทีม พบว่าคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว มีเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะพบภูมิคุ้มกัน Iga อย่างที่พบในการใช้วัคซีนแบบพ่น ดังนั้นคนที่มีระดับภูมิคุ้มกัน Iga ต่ำ มีโอกาสและความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ภายในเวลาเพียง 1 เดือนหลังจากรับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว

ด้านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยโมนาช ของออสเตรเลีย เปิดเผยความคืบหน้าการวิจัยยาพ่นจมูกป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยโมนาช มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และ “Northern Health” หน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่น โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐวิกตอเรียจำนวน 4.2 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 100 ล้านบาท

ศาสตราจารย์แกรี แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสาธารณสุขเกี่ยวกับปอด มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นอธิบายว่า กลไกการทำงานนี้คือการไปดักจับไวรัสโควิด-19 ที่อาจเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ไม่ให้ไวรัสไปจับตัวกับเซลล์ของมนุษย์ ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์โอมิครอนด้วย โดยข้อดีของยาพ่นจมูกป้องกันโควิด-19 คือราคาถูกและใช้งานง่าย ผ่านการพ่นจมูกวันละ 3 ครั้ง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะเดียวกันผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วแต่มีความเสี่ยงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อก็สามารถใช้งานได้ ซึ่งการทดสอบประสิทธิภาพกับมนุษย์จะเริ่มในเดือน ก.พ. 2565 และใช้เวลาราว 6 เดือน ก็น่าจะสรุปผลการทดลองและประสิทธิภาพของยาตัวดังกล่าวได้

แม้จากข้อมูลปัจจุบันจะเห็นจุดเด่นของวัคซีนแบบพ่นจมูกว่ามีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคโควิดมากเพียงใด แต่คนทั่วโลกก็ยังคงต้องอดใจรอกันต่อไปอีกสักหน่อย เพราะการพัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูก มีความซับซ้อนกว่าการพัฒนาวัคซีนแบบฉีดเข้าร่างกายเพื่อไปสร้างภูมิในกระแสเลือด เพื่อจะได้กระตุ้นปริมาณภูมิคุ้มกันเยื่อเมือกให้เหมาะสมไม่น้อยจนเกินไป เพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือกถูกเจือจางด้วยน้ำลาย แต่คาดว่าไม่เกินไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ น่าจะได้เห็นการใช้งานจริงของวัคซีนชนิดนี้กันมากขึ้น

โดยจนถึงขณะนี้ วัคซีนแบบพ่นเพียงตัวเดียวที่ได้รับการอนุมัติใช้งานในสหรัฐฯ เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ มีเพียง “FluMist” เท่านั้น โดยวัคซีนพ่นจมูกตัวนี้จะใช้ได้กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ไม่รุนแรงมาก และใช้งานได้ดีในกลุ่มเด็กที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน แต่สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่แล้ว ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่จะทำหน้าที่กำจัดไวรัสไปเอง โดยที่วัคซีนไม่มีผลอะไร อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวัคซีนพ่นจมูกเพื่อป้องกันโควิด-19 จะมีความแตกต่าง และไม่น่าจะประสบปัญหาแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้น โดยแพทย์หญิงกอมเมอร์แมนย้ำว่า จนถึงขณะนักวิจัยรอเพียงผลการทดลองเพื่อให้มีความชัดเจนว่า วัคซีนโควิดแบบพ่นจมูกจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากน้อยเพียงใด และจะมีผลในการป้องกันได้ยาวนานแค่ไหน แต่ไม่น่าจะเสียหายอะไรหากจะมีการทดลองใช้วัคซีนแบบนี้โดยเร็ว.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : นิวยอร์กไทมส์ , ไทมส์ออฟอินเดีย , มหาวิทยาลัยโมนาช