“วัดราชบูรณะ” บวงสรวง-อัญเชิญประดิษฐาน “พระนางพญาองค์ใหญ่” จุดแลนด์มาร์กใหม่เมืองสองแคว

เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะพร้อมพุทธศาสนิกชนร่วมกันบวงสรวง ก่อนอัญเชิญ พระนางพญาองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 8 เมตร สูง 12 เมตร หนา 4 เมตร น้ำหนัก 8 ตัน ประดิษฐานไว้บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมริมถนนมิตรภาพเชิงสะพานนเรศวรฝั่งตะวันออก เชื่อม 3 วัดสำคัญของเมืองสองแคว ให้เป็นจุดแลนด์มาร์กใหม่อีกแห่งของจังหวัด

วันที่ 3 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ เปิดเผยว่า ทางวัดราชบูรณะร่วมกับพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาและคณะกรรมการวัด ได้ประกอบพิธีบวงสรวงบอกกล่าวเทพเทวดาฟ้าดินเจ้าที่เจ้าทางเพื่อขออัญเชิญ พระนางพญาองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 8 เมตร สูง 12 เมตร หนา 4 เมตร หล่อด้วยทอง, เงิน, เงินยวง หรือเป็นการเททองหล่อด้วยปัญจะโลหะอะลูมินัมบรอนซ์ น้ำหนัก 8 ตัน ที่สร้างแล้วเสร็จแล้วไปประดิษฐานอยู่ที่บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมของวัดราชบูรณะ เนื้อที่กว่า 1 ไร่

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปทรงของพระนางพญาที่เป็นสามเหลี่ยม และพื้นที่จุดนี้เชื่อมโยง 3 วัดสำคัญของจังหวัดพิษณุโลก ประกอบด้วย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ วัดนางพญา และวัดราชบูรณะ มีถนนตัดผ่าน 3 สายที่บรรจบเชื่อมโยงกัน ที่สำคัญการอัญเชิญมาอยู่ใกล้วัดใหญ่ก็เพื่ออาศัยพระบารมีองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชด้วย ทำให้ประชาชนที่เดินทางมา จ.พิษณุโลก หลังจากกราบไหว้ขอพรพระพุทธชินราช พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกแล้ว ก็สามารถเดินมากราบไหว้พระนางพญาองค์ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่อยู่ใกล้กันได้

สำหรับการอัญเชิญพระนางพญาองค์ใหญ่ และมีน้ำหนักมากถึง 8 ตัน ต้องใช้รถเครนยกองค์พระและใช้รถเทรลเลอร์ ฮีโน่ หมายเลขทะเบียน 81 – 8444 พิจิตร ตัวพ่วง 8565 พิจิตร ในการเคลื่อนย้ายองค์พระ ออกจากวัดราชบูรณะ ไปยังพื้นที่สามเหลี่ยม ซึ่งการอัญเชิญไปในครั้งนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบ เพราะต้องปิดการจราจรบนถนนมิตรภาพ เชิงสะพานนเรศวรทั้งสองฝั่ง ชั่วขณะ และใช้เวลาในการเคลื่อนผ่านถนนเพียง 10 นาทีเท่านั้น จึงไม่กระทบต่อการสัญจรไปมาของผู้ใช้รถใช้ถนน จากนั้นรถเครนจึงยกพระนางพญาองค์ใหญ่ไปประดิษฐานบริเวณจุดที่กำหนดไว้ในพื้นที่สามเหลี่ยมของวัดราชบูรณะเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการสร้างแท่นฐานอีกคราหนึ่ง โดยไม่มีอุปสรรค์แต่อย่างใด ซึ่งการอัญเชิญพระนางพญาองค์ใหญ่ใช้ช่วงเวลาข้ามวันคือ ออกจากวัดราชบูรณะเวลา 23.09 น. วันที่ 2 เม.ย. และนำลงประดิษฐานแล้วเสร็จในเวลา 00.03 น. วันที่ 3 เม.ย.2565

ส่วนการสร้างนางพญาองค์ใหญ่ ของวัดราชบูรณะ เริ่มจากการปั้นหุ่นพระพิมพ์นางพญาด้วยดิน ก่อนใช้ปูนปั้นเป็นแม่พิมพ์ โดยใช้ต้นแบบจากพระพิมพ์นางพญาพิมพ์เข่าโค้ง เมื่อครั้งวันวิสาขบูชาที่ 18 พฤษภาคม 2562 ได้มีการทำพิธีวาระแรก โดยเททองเฉพาะส่วนของเกศก่อน จากนั้นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 ในงานทอดกฐินสามัคคี ได้ทำพิธีในวาระที่ 2 เพื่อเททองนำฤกษ์และเผาหุ่น ก่อนที่จะหล่อองค์พระทั้งองค์ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการในวาระที่ 3 จากนั้นช่างได้ทำการเสริมแต่งเพื่อให้องค์พระสมบูรณ์ที่สุด จนถึงวันนี้ พระครูสิทธิธรรมวิภัช และญาติโยมจึงได้ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงเพื่ออัญเชิญนำไปประดิษฐานในพื้นที่สามเหลี่ยมของทางวัดดังกล่าว โดยมีประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาจอดรถลงมายกมือกราบไหว้สาธุที่ได้เห็นองค์พระที่เด่นสง่าสวยงาม และดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการอัญเชิญครั้งนี้ด้วย ต่างถ่ายรูปทะเบียนรถเทรลเลอร์หวังนำไปเสี่ยงโชคตามความเชื่อของแต่ละคน