วิกฤติน้ำท่วมหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ภาคอีสานมหาสารคามยังหนัก

วิกฤติน้ำท่วมหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ภาคอีสานยังหนักที่มหาสารคาม ลำน้ำชี ล้นตลิ่งเอ่อท่วมโกสุมพิสัย 8 ตำบลจมบาดาล ถนนระหว่างหมู่บ้านถูกตัดขาด ส่วนน้ำจากเขื่อนลำเชียงไกรยังอยู่พิมาย ระดับทรงตัว เริ่มลดลง รมว.เกษตรฯเปิดศูนย์บริหารจัดการลุ่มน้ำชี-มูล มั่นใจควบคุมสถานการณ์ได้ สั่งสำรวจความเสียหายเร่งเยียวยาเกษตรกรภายใน 2 เดือน ด้านลุ่ม เจ้าพระยา-ป่าสัก น้ำลดต่อเนื่อง น่าห่วง 10 โบราณสถานเมืองกรุงเก่าจมน้ำนานเสียหายหนัก “บิ๊กป้อม” ขนรัฐมนตรีไปสระแก้ว สั่งผันน้ำเลี่ยงเมืองพร้อมประสานเขมรจัดการน้ำร่วมกัน เฝ้าจับตาพายุ “ไลออนร็อก” จ่อขึ้นฝั่งเวียดนามตอนบน อุตุฯเตือนฝนตกหนักภาคใต้

สถานการณ์น้ำท่วมหนักหลายพื้นที่มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าจับตาพายุ 2 ลูกที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดฝนตกหนักอีกระลอก

ฟื้นฟูเมืองชัยภูมิหลังน้ำลด

หลังเผชิญวิกฤติน้ำท่วมใหญ่มานานกว่าสัปดาห์ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. จ.ชัยภูมิ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ชาวบ้านช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนของตัวเอง นายธีวรา วิตนากร นายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ นำถุงยังชีพพระราชทานเข้าไปมอบให้ชาวบ้านผู้ประสบภัย ทั้งนี้ จ.ชัยภูมิ ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติน้ำท่วมทั้ง 16 อำเภอ มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมกว่า 200,000 ไร่ เฉพาะนาข้าวกว่า 140,000 ไร่ ใน 108 ตำบล 1,169 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ บ้านเรือน 25 ชุมชน กว่า 71,379 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วมเสียหายหนักกว่า 20,000 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 15 ศพ ขณะนี้น้ำในแม่น้ำชีที่สถานีวัดน้ำบ้านค่าย อ.เมืองชัยภูมิ น้ำไหลผ่านต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร น้ำที่ท่วมตามพื้นที่การเกษตรลดลงตามลำดับ ทิ้งร่องรอยความเสียหายเป็นบริเวณกว้างโดยเฉพาะนาข้าวมีต้นข้าวแช่น้ำเน่าตายจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ยังคงระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เร่งสูบน้ำออกจากตัวเมืองชัยภูมิอย่างต่อเนื่อง หวั่นเกรงจะได้รับผลกระทบจากพายุ 2 ลูกที่จะจ่อเข้าไทย 11-13 ต.ค.นี้

มท.1 สั่งสำรวจความเสียหาย

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นำคณะลงพื้นที่วัดสว่างศรีวิชัย บ้านโนนตุ่น ต.เมืองเก่า อ.เมืองขอนแก่น มอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย พร้อมตรวจเยี่ยมโรงครัวพระราชทานและรถผลิตน้ำดื่ม พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า สั่งการให้จังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เพื่อเยียวยาฟื้นฟูตามระเบียบของราชการ ส่วนพายุลูกใหม่ “ไลออนร็อก” ทาง จ.ขอนแก่น เตรียมรับมือในเบื้องต้นแล้วคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเสนอปรับการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ลดลงเหลือวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. ไม่ให้มวลน้ำจากลำน้ำพองไหลไปบรรจบกับลำน้ำชีในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดมั่นใจว่าหากการบริหารจัดการน้ำยังคงเป็นไปในลักษณะนี้ ไม่เกิน 10 วันระดับน้ำในแม่น้ำชีจะลดลงและคงเหลือน้ำค้างทุ่งบางจุดเท่านั้น

โกสุมพิสัยอ่วมหนักจม 8 ตำบล

จ.มหาสารคาม มวลน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลจากชัยภูมิและขอนแก่น เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านม่วงใหญ่ หมู่ 4 และบ้านหนองขนวน หมู่ 9 ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย ถนนระหว่างหมู่บ้านถูกตัดขาด ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ต้องใช้เรือสัญจร ส่วนพื้นที่นามีน้ำท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร ปริมาณน้ำในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายนันทวิทย์ นาคแสง นอภ.โกสุมพิสัย กล่าวว่า ประกาศให้ชาวบ้านเตรียมความพร้อมล่วงหน้า 3 วัน ได้ขนย้ายสิ่งของมีค่าทั้งสัตว์เลี้ยงและรถยนต์ออกไปไว้ที่สูงแล้ว พร้อมทั้งประสานกู้ภัยนำเรือมาช่วยเหลือชาวบ้าน สำหรับ อ.โกสุมพิสัย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 8 ตําบล 44 หมู่บ้าน ที่นา 15,216 ไร่ พืชไร่ 9 ไร่ บ้านเรือนประชาชน 1,396 ครัวเรือน ถนนเชิงลาดสะพานลดาวัลย์ข้ามลำน้ำชี ต.โพนงาม และสะพานบ้านคุยเชือกข้ามลำน้ำชี ต.หนองบัว น้ำท่วมสูง 60-70 ซม.รถผ่านไม่ได้ ติดตั้งป้ายเตือนเพื่อแจ้งเตือนประชาชนในการสัญจรอย่างระมัดระวัง

ร้อยเอ็ดวางมาตรการรับมือ

นายภูสิต สมจิตต์ ผวจ.ร้อยเอ็ด นำเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนไปติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำชี ที่บ้านคุ้งสะอาด หมู่ 5 ต.นาเลิง อ.เสลภูมิ มีพื้นที่เสี่ยง 3 ตำบลคือ ต.เขวา ต.นาเลิง และ ต.นางาม เป็นจุดบรรจบของลำน้ำชีกับลำน้ำยัง สถานการณ์ลำน้ำชีมีระดับสูงขึ้นต่อเนื่องและไหลเชี่ยว หลายจุดเสี่ยงต่ำกว่าขอบตลิ่งไม่ถึง 1 เมตร นำรถแบ็กโฮเร่งขุดลอกวัชพืชในลำชีหลง ระยะทาง 25 กม.เพื่อเปิดทางน้ำจากลำน้ำชีออกสู่นาปรังหลายหมื่นไร่ที่ยังขาดน้ำ ผวจ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง ประเมินว่าระดับน้ำในแม่น้ำชีจะเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำสองฝั่งแม่น้ำใน จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด พื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ต.ผักแว่น ต.ม่วงลาด ต.ดงสิงห์ ต.แสนชาติ ต.ดินดำ อ.จังหาร ต.เชียงขวัญ ต.พระธาตุ อ.เชียงขวัญ และ ต.สะอาด อ.โพธิ์ชัย ขณะนี้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยในพื้นที่ อ.เชียงขวัญ 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรนาข้าวเสียหายไปแล้ว 1,158 ไร่ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 154 ราย

เขื่อนวังยางวิกฤติติดธงแดง

เขื่อนระบายน้ำวังยาง ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เปิดบานระบายน้ำทุกบาน หลังมวลน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณน้ำไหลผ่าน 750 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำเท่าระดับตลิ่งอยู่ที่ 138.70 ม.รทก. เพิ่มสูงขึ้นราว 1 ซม.ต่อชั่วโมง จะล้นตลิ่งต่อเนื่อง นายอนันต์ศักดิ์ แย้มชื่น ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง แจ้งเตือนประชาชนเขตลุ่มแม่น้ำชีให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันจากน้ำเหนือที่มาจาก จ.ขอนแก่น โดยพื้นที่ ต.ท่าตูม ต.มะค่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ และ ต.ม่วงลาด อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ให้เตรียมเฝ้าระวังน้ำหนุนสูงในช่วงนี้ พื้นที่เสี่ยงพื้นที่ลุ่มควรเก็บข้าวของไว้บนที่สูง ส่วนพื้นที่การเกษตรควรเร่งเก็บเกี่ยว ในช่วงนี้ได้ติดธงแดงเตือนภัยพร้อมแจ้งประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับมวลน้ำที่กำลังเข้ามาในพื้นที่

น้ำท่วมพิมายทรงตัวเริ่มลดลง

จ.นครราชสีมา ยังมีน้ำท่วมสูงที่ อ.พิมาย กำลังทหารช่างจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์ นำเรือท้องแบนเข้าไปช่วยขนย้ายหมูกว่า 30 ตัวที่ฟาร์มเลี้ยงในพื้นที่บ้านตูมเมือง หมู่ 8 ต.กระชอน มีน้ำจากลำสะแทดเอ่อล้นเข้าท่วมสูง 70-80 ซม. ออกไปขึ้นรถยกสูงไปเลี้ยงยังคอกหมูชั่วคราวบนพื้นที่สูง สำหรับ อ.พิมาย เป็นจุดรับน้ำสุดท้ายของจังหวัด จากการระบายน้ำเขื่อนลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ลงสู่แม่น้ำมูล สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดระดับน้ำทรงตัวมีแนวโน้มลดลง ประชาชนได้รับผลกระทบ 11 ตำบล 123 หมู่บ้าน 2,823 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 42 แห่ง สถานศึกษาถูกน้ำท่วม 11 แห่ง และพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย 24,288 ไร่

เปิดศูนย์จัดการน้ำลุ่มน้ำชี-มูล

ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายติดตามสถานการณ์น้ำและเปิดการทำงานของศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 6 และสำนักงานชลประทานที่ 8 โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี-มูลหลายพื้นที่ จึงจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) เป็นศูนย์บัญชาการ ประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ แก้ไขและบรรเทาอุทกภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์ รวมทั้งเตือนภัยให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที

เร่งเยียวยาเกษตรกรใน 2 เดือน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่ฟังรายงานประชาชนน่าจะคลายใจลงบ้าง ว่า จะไม่เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่แม่น้ำชี-มูล สามารถบริหารจัดการควบคุมสถานการณ์ได้ ขอให้หน่วยงาน ต่างๆเร่งสำรวจความเสียหายในพื้นที่และช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องเกษตรกรให้เสร็จภายใน 2 เดือน ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำนอกจากระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมแล้ว ต้องหาทางเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง
ให้ได้มากที่สุด เช่น พื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ บ้านนาดี ต.ยางสักกระโพหลุ่ม อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ถือเป็นโมเดลระดับประเทศที่ตนดำเนินโครงการแก้ท่วมแก้แล้ง เป็นแหล่งสร้างเสริม สุขภาพ ขุดลอกอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มปริมาณกักเก็บ พัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิงของชาวอุบลราชธานี ดำเนินการแล้ว 53% จะแล้วเสร็จในปี 2565 ช่วยให้ เก็บน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 23 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานได้รับประโยชน์ 12,309 ไร่ รวมถึง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชุมชนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของชุมชนต่อไป จากนั้น รมว.เกษตรฯ พร้อมคณะลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ บ้านนาดี และมอบพันธุ์ปลาตะเพียน 1 แสนตัว และพันธุ์พืชถั่วพร้าให้พี่น้องเกษตรกรด้วย

อ่างทองน้ำเซาะคอสะพานยุบ

จ.อ่างทอง สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง 09.08 เมตร จากระดับตลิ่ง 10 เมตร กระแสน้ำไหลผ่าน 2,484 ลบ.ม./วินาที พื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ 37 ตำบล 167 หมู่บ้าน 5,054 หลังคาเรือน และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 20,973 ไร่ ที่ริมคลองถนนสายอ่างทอง-ไชโย ต.จรเข้ร้อง อ.ไชโย เจ้าหน้าที่ทางหลวงชนบท นำเครื่องจักรกลขนาดใหญ่วางกล่องเกเบี้ยนใส่หินลงตรงจุดที่มีน้ำกัดเซาะพนังกั้นพัง บางจุดที่น้ำไหลแรง ต้องใช้แท่งแบริเออร์คอนกรีตมาวางชะลอน้ำ นอกจากนี้ ยังพบความเสียหายของถนนใกล้คอสะพานยุบไปครึ่งช่องจราจร และป้ายจราจรบางส่วนถูกกระแสน้ำพัดจนชำรุด ต้องแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะเพิ่มความระมัดระวัง

ห่วง 10 โบราณสถานจมน้ำนาน

น.ส.สุกัญญา เบาเนิด ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ติดตามเฝ้าระวังสถาน การณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด น้ำบริเวณวัดไชยวัฒนารามยังมีระดับสูง แต่ยังอยู่ในแนว ป้องกันที่เสริมขึ้นอีก 50 ซม. จากเดิมรองรับได้ที่ 2.50 เมตร ส่วนพื้นที่บางจุดที่มีน้ำซึมเข้ามาสูบออกหมดแล้ว ที่น่าห่วงขณะนี้คือพื้นที่โบราณสถานฝั่งทิศตะวันออกที่อยู่รอบเมือง ที่ไม่มีแนวกั้นน้ำและอยู่ใกล้ทุ่งรับน้ำบางบาล พบว่าโบราณสถานกว่า 10 แห่ง ถูกน้ำไหลเข้าท่วม เช่น โบราณสถานย่าน ต.คลองสระบัว วัดเจ้าย่า วัดตะไกร ที่น่าห่วงคือวัดจุฬามณี ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1.20 เมตร หากน้ำยังท่วมสูงเป็นเวลานาน ผนังและบานประตูที่ลงรักปิดทองจะได้รับความเสียหายหนัก ขณะเดียวกันมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาอื่นๆ ที่อยู่ติดกับแม่น้ำและทุ่งรับน้ำ ได้แก่ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.นครนายก และ จ.สระบุรี หลังจากที่น้ำลดแล้วจะตรวจสอบความเสียหายอีกครั้ง เพื่อนำมาจัดทำโครงการเสนอของบประมาณในการบูรณะซ่อมแซมโดยเร็วที่สุด

ชาวบ้านระทมน้ำเริ่มเน่าเหม็น

จ.สระบุรี ที่รับน้ำจากการระบายของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 11 อำเภอ น้ำจากแม่น้ำป่าสักและคลองชลประทานชัยนาท-ป่าสัก เอ่อล้นเข้าท่วม 11 หมู่บ้านใน ต.บ้านครัว อ.บ้านหมอ นานนับสัปดาห์น้ำเริ่มเน่าเหม็น ชาวบ้าน กว่า 800 ครัวเรือน เดือดร้อนสาหัส ต่างทยอยขนของ ออกจากบ้านมาพักอาศัยอยู่ในเต็นท์ริมถนน ล่าสุดระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก ลดลงราว 5 ซม.แต่ระดับน้ำยังท่วมสูงร่วม 2 เมตร ถนนสายบ้านครัว- หน้าพระลาน น้ำท่วมสูง 1 เมตร ไม่สามารถสัญจรได้ ส่วน จ.ลพบุรี น้ำยังท่วมหนักใน อ.บ้านหมี่ และ อ.เมืองลพบุรี ถึงแม้คลองชลประทานชัยนาท-ป่าสักระดับน้ำจะเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่พื้นที่หลายตำบลใน อ.บ้านหมี่ ยังมีระดับน้ำสูง 1-2 เมตร และเริ่มส่ง กลิ่นเน่าเหม็น การสัญจรเข้าออกหมู่บ้านยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก

“บิ๊กป้อม”ขน รมต.ไปสระแก้ว

จ.สระแก้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค นางนฤมล ภิญโญ สินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค และ ส.ส.พลังประชารัฐประมาณ 20 คน รอต้อนรับ ลงพื้นที่ติดตามขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รับฟังบรรยายสรุป ที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ และการแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบพื้นที่ภาคตะวันออก ความคืบหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สระแก้ว พร้อมทั้งรับฟังความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารด่านศุลกากรอรัญ
ประเทศ บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน เพื่อช่วยลดความแออัดบริเวณด่านพรมแดนคลองลึก รวมทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ จ.สระแก้ว การแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยทับซ้อนกับพื้นที่ป่าไม้ถาวร อ.วังสมบูรณ์ ร่วมกับแนวทางการฟื้นฟูการพัฒนาทรัพยากรดินหลังน้ำท่วมน้ำหลาก

สั่งพยายามผันน้ำเลี่ยงเมือง

พล.อ.ประวิตรกล่าวย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อมตลอดช่วงฤดูฝนที่เหลือ ให้พยายามผันน้ำเลี่ยงเมือง ขณะเดียวกัน ต้องเปิดพื้นที่เก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงในคราวเดียวกัน และกำชับให้เลขาธิการสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งบูรณาการแผนงานร่วมกับกรมชลประทาน และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญกับโครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ทั้งพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสระแก้วให้เสร็จโดยเร็ว เน้นการมีส่วนร่วมของราษฎร พร้อมขอให้อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ประสานความร่วมมือกับประเทศกัมพูชาบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยเฉพาะการระบายน้ำหลากผ่านระหว่างกัน

“ไลออนร็อก” ขึ้นเวียดนามเหนือ

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่องพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” ว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 8 ต.ค. พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 90 กม. ทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 กม.ต่อ ชม. พายุนี้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 8-9 ต.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคใต้ ส่วนช่วงวันที่ 10-14 ต.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวรวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง