ศบค. อนุมัติการฉีดวัคซีน Sinopharm แบบสูตรไขว้ ระบุสิ้นปีไทยมีวัคซีน 178.2 ล้านโดส

ที่ประชุม ศบค.วงใหญ่ อนุมัติการฉีดวัคซีน Sinopharm แบบสูตรไขว้ อาจใช้หลักการเดียวกับ Sinovac เตรียมซื้อวัคซีนจากประเทศสหภาพยุโรปต่อ ระบุสิ้นปีไทยมีวัคซีน 178.2 ล้านโดส

วันที่ 27 ก.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวว่าที่ประชุมชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ถึงเรื่องการฉีดวัคซีน Sinopharm แบบสูตรไขว้

จากมติที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค วันที่ 25 ส.ค. 2564 แนะนำว่า การฉีดวัคซีน Sinopharm แบบสูตรไขว้ อาจใช้หลักการเดียวกับวัคซีน Sinovac

เนื่องจากยังต้องรอข้อมูลจากผลวิจัยเพิ่มเติม ตามสูตรดังนี้

  • Sinopharm + Pfizer ระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์
  • Sinopharm + AstraZeneca ระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์
  • Sinopharm – Sinopharm กระตุ้นด้วย AstraZeneca ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป หลังเข็มที่ 2
  • Sinopharm – Sinopharm กระตุ้นด้วย Pfizer ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป หลังเข็มที่ 2

ดังนั้นการฉีดวัคซีน Sinopharm แบบสูตรไขว้ จึงยังไม่ได้กำหนดเป็นสูตรหลักของประเทศ อีกทั้งการใช้สูตรนี้จึงเป็นไปตามเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนอนุญาตการใช้วัคซีนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามความสมัครใจของผู้รับวัคซีน และดุลยพินิจของผู้ให้บริการ

นพ.ทวีศิลป์ ยังระบุถึงแผนการจัดวัคซีนโควิด-19 ของไทย ในปี 2564 ว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ. -ธ.ค. ประเทศจะมีวัคซีนหลัก ประกอบด้วย Sinovac AstraZeneca Pfizer และวัคซีนทางเลือก ประกอบด้วย Sinopharm Moderna เข้าประเทศทั้งสิ้น 178.2 ล้านโดส

ทั้งนี้ รวมยอดรับบริจาคจากประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษแล้ว แต่ไม่รวมยอดแลกเปลี่ยนวัคซีนจากภูฏานและสิงคโปร์ แต่จำนวนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับการส่งมอบวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตด้วย

ขณะเดียวกัน ให้ที่ประชุมยังเห็นชอบ ให้จัดซื้อวัคซีนจากประเทศในสหภาพยุโรปที่พร้อมขายต่อตามที่กระทรวงการต่างประเทศแจ้ง ประกอบด้วย

  • ประเทศสเปนมีวัคซีน AstraZeneca (Vaxazevria) จำนวน 165,000 โดส ราคาโดสละ 2.9 ยูโรและ Pfizer จำนวน 2,788,110 ล้านโดส ราคาโดสละ 15.5 ยูโร
  • ประเทศฮังการีมีวัคซีน AstraZeneca (Vaxazevria) จำนวน 400,000 โดส ราคาโดสละ 1.78 ยูโร

โดยจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าบรรจุภัณฑ์ และที่ควบคุมอุณหภูมิ, ค่าขนส่งจาก delivery point, ค่าขนส่งระหว่างประเทศ, ค่าขนส่งภายในประเทศไทย, ค่าภาษีศุลกากรขาออก – ขาเข้า, ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม, ค่าประกันความเสียหาย ซึ่งจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อต่อไป