“ศรีลังกา” วางแผนจ่ายหนี้น้ำมัน “อิหร่าน” ด้วยใบชา หลังวิกฤติหนี้-เงินสำรองระหว่างประเทศ เลวร้ายลงเพราะโควิด

ศรีลังกากำลังวางแผนจ่ายหนี้ค่าน้ำมันที่นำเข้าจากอิหร่านด้วยใบชา หลังวิกฤติหนี้และเงินสำรองระหว่างประเทศเลวร้ายลงเพราะโควิด

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า นายราเมช ปาถิรานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของศรีลังกา กล่าวในวันพุธที่ 22 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ว่า ศรีลังกาหวังว่า จะสามารถส่งใบชามูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับอิหร่านทุกเดือน เพื่อล้างหนี้ค่าน้ำมันที่นำเข้ามา ซึ่งมีทั้งสิ้น 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8.4 พันล้านบาท)

นายปาถิรานายืนยันว่า การใช้หนี้ด้วยวิธีนี้ไม่ละเมิดการคว่ำบาตรอิหร่านของสหประชาชาติหรือสหรัฐฯ เพราะชาจัดอยู่ในประเภท อาหารบนพื้นฐานมนุษยธรรม และจะไม่มีธนาคารอิหร่านที่ถูกขึ้นบัญชีดำมาเกี่ยวข้องด้วย “เราหวังว่าจะส่งชามูฃลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุกเดือน เพื่อจ่ายค่าน้ำมันอิหร่านซึ่งค้างคามาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา”

“แผนการนี้จะช่วยเหลือรักษาเงินสำรองระหว่างประเทศที่ศรีลังกาต้องการใช้อย่างมาก เพราะการชำระหนี้อิหร่านจะทำโดยเงินรูปีศรีลังกาผ่านการขายชาซีลอน” นายปาถิรานากล่าว

อย่างไรก็ตาม โฆษกของสมาคมผู้เพาะปลูกชาซีลอน ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตชารายใหญ่ทั้งหมดในศรีลังกา ระบุว่า การทำธุรกรรมแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาแบบผักชีโรยหน้าของรัฐบาล เพราะผู้ส่งออกอาจไม่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากพวกเขาจะได้รับค่าชาเป็นเงินรูปี นอกจากนั้นยังเป็นการเลี่ยงตลาดเสรี และไม่มีค่าตอบแทนที่แท้จริงต่อพวกเขา

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดขึ้นในขณะที่ศรีลังกาจำเป็นต้องใช้หนี้ต่างๆ จำนวนประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 2565 เริ่มจากหนีพันธบัตรรัฐบาลระหว่างประเทศ (international sovereign bond) มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ต้องจ่ายในเดือนมกราคมนี้

แต่ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกาลดลงเหลือเพียง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้นเมื่อช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ประธานธนาคารกลางศรีลังกายังมั่นใจว่า พวกเขาจะสามารถจ่ายหนี้พันธบัตรฯ ในปี 2565 ได้อย่างไร้รอยต่อ

อนึ่ง ประชากรราว 5% ของศรีลังกาอยู่ในอุตสาหกรรมการปลูกชา โดยพวกเขาผลิตชาได้ปีละประมาณ 340 ล้านกิโลกรัม ซึ่งในปีก่อน พวกเขาส่งออกชาถึง 265.5 ล้านกิโลกรัม สร้างรายได้ 1.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ