ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายกฯ ใช้ข้อกำหนดออกตาม พรก.ฉุกเฉิน มาตรา 9

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 6 ส.ค.64 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราวคดีหมายเลขดำ พ.3618/2564 ที่ภาคีนักกฎหมาย และตัวแทนสื่อมวลชนออนไลน์ 12 รายยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ถอนคำสั่งการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อกำหนดที่ 29 ให้อำนาจ กสทช.ตัดอินเตอร์เน็ต ดำเนินคดีกับสื่อออนไลน์ กรณีเฟกนิวส์

โดย น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ The Reporters ในฐานะผู้ร้อง พร้อมด้วยตัวแทนสื่อสำนักต่างๆ กล่าวว่า หลังจากส่งคำร้องเมื่อวันที่ 2 ส.ค. และศาลไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และคู่กรณี ก่อนนัดหมายให้มาฟังคำสั่งวันนี้ ตนมองว่าประกาศที่ออกมาเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชน และสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีโรคระบาด ซึ่งประชาชนควรได้รับเรื่องราว การรายงานข้อมูลข่าวสารตามความเป็นจริงในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชนและสื่อต่างๆ ยังเป็นสื่อกลางเผยแพร่ข้อมูล การขอความช่วยเหลือ และความเดือดร้อนของประชาชน

น.ส.ฐปณีย์ กล่าวว่า ตนคาดหวังว่าพยานหลักฐานต่างๆ ที่ผู้ร้องเสนอให้ศาลพิจารณา จะทำให้ศาลระงับคำสั่งดังกล่าวจนกว่าจะมีการแก้ไข หรือระบุรายละเอียดให้ชัดเจน แต่หากศาลพิจารณาออกมาในทางกลับกัน ก็พร้อมยอมรับ ทั้งนี้ คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้นำ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหน่วยงานของรัฐบาล ระมัดระวังการใช้คำสั่งหรืออำนาจต่างๆ ที่อาจจะละเมิดสิทธิหน้าที่ของสื่อมวลชนและประชาชน ที่เกินกว่าเหตุจนอาจได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ได้มีตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตจากต่างประเทศ มาสังเกตการณ์ฟังคำสั่งขอคุ้มครองในครั้งนี้ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างรออ่านคำสั่ง

ต่อมาเวลา 14.20 น. ศาลอกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่ง สรุปใจความได้ว่า ข้อกำหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวมิได้ จำกัด เฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าวย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชน ที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้

ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกำหนดฯ ที่ระบุว่าจำเป็นต้องมีมาตรการกำหนดให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผลถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกำหนดข้อดังกล่าวนั้น มีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทำให้โจทก์ทั้งสิบสอง ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็น และสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้

นอกจากนี้ยังเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องด้วยมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งข้อกำหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสิบสอง หรือประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ตามความในมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558

ส่วนข้อกำหนดฯ ข้อ 2 ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้ดำเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease: COVID-19) และรัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล็อกดาวน์ จำกัด

การเดินทางหรือการพบปะระหว่างบุคคล ทั้งข้อกำหนดข้อดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับการกระทำครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคลและเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว ไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญฯ การให้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้

กรณีมีเหตุจำเป็นเห็นเป็นการยุติธรรมและสมควรในการนำวิธีชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ เพื่อเป็นการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254(2) มาตรา 255(2) (ง) ประกอบมาตรา267วรรคหนึ่ง และการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่น่าเป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐหรือแก่ประโยชน์สาธารณะ

เพราะยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ อีกทั้งรัฐสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการกำกับเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ เพื่อการรู้เท่าทันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้ด้วย

จึงมีคำสั่ง ห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558(ฉบับที่29) เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น