ศูนย์จีโนมฯ เตือน! เชื้อโควิด XBB ยึดครองไทยแทน BA.5

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คาดสายพันธุ์โอมิครอนอุบัติใหม่อย่างน้อย 4 สายพันธุ์ ย่อย BQ.1.1, BA.2.3.20, BA.2.75.2 และ XBB ที่กลายพันธุ์จากบรรพบุรุษโอมิครอนจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ระบาดระลอกใหม่ในไทย ย้ำ อสม.มีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ประชาชนและ เฝ้าระวังโรค

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เซฟบุ๊กว่า ฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” ล่าสุดพบว่าโอมิครอนอุบัติใหม่อย่างน้อย 4 สายพันธุ์ย่อย BQ.1.1, BA.2.3.20, BA.2.75.2 และ XBB ที่กลายพันธุ์จากบรรพบุรุษโอมิครอนที่ต่างกลุ่มกัน มีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ถึงกว่า 100 ตำแหน่ง คาดว่าจะระบาดแทนที่ BA.5 สิ้นปีนี้หรือต้นปี 2566 ประเทศใดจะเกิดการระบาดจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยใด คาดคะเนได้ล่วงหน้าจากความได้เปรียบของสายพันธุ์ย่อยนั้นในการเติบโต-แพร่ระบาด ปัจจัยหลักน่าจะมาจากการติดเชื้อตามธรรมชาติที่แพร่ระบาดในเขตหรือท้องถิ่นนั้น ประเภทและจำนวนวัคซีนที่ประชากรทวีปนั้นๆได้รับ

"ศูนย์จีโนมทางการแพทย์" เตือน เชื้อโควิดXBB ยึดครองไทยแทนBA.5

โดยทวีปอเมริกาเหนือ พบเป็นโอมิครอน BQ.1.1 และ BA.2.3.20, ทวีปยุโรป พบโอมิครอน BQ.1.1 และ BQ.1, ทวีปเอเชีย พบโอมิครอน XBB และ BQ.1, ทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย พบโอมิครอน BQ.1.1 และ XBB ประเทศไทยคาดหากระบาดจากโอมิครอนระลอกใหม่ในอนาคต จะมาจากสายพันธุ์ย่อย XBB ขณะที่อังกฤษแนวโน้มระบาด BQ.1.1 ช่วงฤดูหนาวที่กำลังมาเยือนมากที่สุด โอมิครอน XBB เป็นสายพันธุ์ลูกผสมโอมิครอน BJ.1 และ BA.2.75 มีต้นตระกูลร่วมกันคือ BA.2 กลายพันธุ์หลบเลี่ยงภูมิคุ้มได้ดีที่สุด ดื้อต่อยาประเภทแอนติบอดีสังเคราะห์สำเร็จรูปทุกชนิด พบแพร่ระบาดมากที่สุดในสิงคโปร์และอินเดีย ยังไม่พบในไทย

"ศูนย์จีโนมทางการแพทย์" เตือน เชื้อโควิดXBB ยึดครองไทยแทนBA.5

วันเดียวกัน ที่กรมควบคุมโรค นายชาติชาย สุวรรณนิตย์ รอง ผอ.กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เมื่อโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า อสม.มีบทบาทเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ในชุมชน ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ติดตาม ค้นหา ผู้ที่ยังรับวัคซีนไม่ครบ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 4 เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงในชุมชน เมื่อพบผู้มีอาการเข้าข่ายสงสัย จะให้คำแนะนำในการป้องกันตนเอง อาการไม่รุนแรงให้แยกกักตัวที่บ้าน 5 วัน กินยาตามอาการ อาการรุนแรงโดยเฉพาะกลุ่ม 608 จะแนะนำให้พบแพทย์ใกล้บ้าน รายงานให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทราบ เพื่อสอบสวนโรค ป้องกันและเฝ้าระวังต่อไป รวมถึงบทบาทการสร้างชุมชนปลอดภัย