“สถาบันประสาทวิทยา” เผย! “การฝังเข็ม” ช่วยปรับสมดุล บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย “โรคระบบประสาท”

“สถาบันประสาทวิทยา” เผย “การฝังเข็ม” บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย “โรคทางระบบประสาท” ช่วยปรับการทำงานของร่างกายและอวัยวะต่างๆ ให้กลับสู่สภาพสมดุลปกติ

วันที่ 20 มิ.ย. 2565 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า การฝังเข็มคือศาสตร์หนึ่งในแพทย์แผนจีน ซึ่งมีใช้กันมานาน โดยการใช้เข็มที่มีขนาดเล็กมากฝังตามจุดฝังเข็มบนร่างกายตามทฤษฎีการแพทย์แผนจีน กลไกการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม ตามทฤษฎีวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันพบว่า การฝังเข็มเป็นการกระตุ้นตัวรับสัญญาณระบบประสาทของปลายประสาทหลายชนิด ที่กระจายอยู่ในแต่ละชั้นของเนื้อเยื่อ ตั้งแต่ชั้นผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อ เส้นประสาท และหลอดเลือด

ทำให้เกิดสัญญาณประสาทผ่านเข้ามาในไขสันหลัง ซึ่งสัญญาณประสาทส่วนหนึ่งจะย้อนออกไปจากไขสันหลังเกิดเป็นวงจรสะท้อนกลับ (reflex) ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่ออวัยวะบริเวณใกล้เคียงที่ถูกเข็มปัก เช่น มีการขยายตัวของหลอดเลือด มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง เป็นต้น

สำหรับสัญญาณประสาทอีกส่วนหนึ่ง จะเคลื่อนที่ไปตามไขสันหลังเข้าสู่สมองเพื่อไปกระตุ้นศูนย์ควบคุมต่างๆ ในสมองให้มีการหลั่ง “สารสื่อสัญญาณประสาท” ออกมาหลายชนิดพร้อมกับการกระตุ้นสัญญาณประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทอัตโนมัติ

ทางด้าน นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เผยว่า การฝังเข็มบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย ช่วยยับยั้งความรู้สึกเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อ ปรับการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆ ให้กลับสู่สภาพสมดุลตามปกติ ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทั้งบริเวณเฉพาะที่และทั่วร่างกาย ช่วยปรับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติ เพื่อกำจัดเชื้อโรค ยับยั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ไวเกินไป ปฏิกิริยาการอักเสบ เป็นต้น ซึ่งการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มมีอยู่กว้างขวางมากมาย

ทั้งนี้ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การรับรองและระบุโรคและกลุ่มโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็มกว่า 100 โรค และมีรายงานวิจัยหลายรายงานพบว่า โรคบางโรครักษาโดยการฝังเข็มให้ผลการรักษาดีเทียบเท่าหรือมากกว่าการใช้ยา มีความปลอดภัยและลดโอกาสเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของการใช้ยาด้วย

อย่างไรก็ตาม สถาบันประสาทวิทยา เปิดให้บริการการรักษาด้วยการฝังเข็มควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาโดยวิธีฝังเข็มนั้น จะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนว่าสามารถเข้ารับการรักษาได้หรือไม่ ซึ่งมีโรคด้านระบบประสาทและไขสันหลังหลากหลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ปวดศีรษะ ปวดเส้นประสาทบนใบหน้า ปวดคอ ปวดหลัง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท บาดเจ็บไขสันหลัง อัมพาตใบหน้า เส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น การฝังเข็มจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบำบัดฟื้นฟูระบบต่างๆ ของร่างกายสู่สภาพสมดุลปกติ.